ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ไข้หวัดใหญ่ ไร้ปัญหา ถ้าป้องกันให้ถูกวิธี

คุณเองก็สัมผัสได้ถึงสภาพอากาศอันแปรปรวนตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ ที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวหนาว ทำเอาแต่งตัวตามฤดูกาลกันไม่ถูกเลยทีเดียว แต่ที่น่าหนักใจไปมากกว่าการจะเลือกสเวตเตอร์ตัวไหนมาสวมดี ก็คือ อาการเจ็บป่วยที่หลายคนถูกอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเล่นงาน เป็นหวัดธรรมดายังพอรับไหว แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ขึ้นมานี่สิ เรื่องใหญ่แน่ๆ

 
 แค่เอ่ยเบาๆ ว่า ไข้หวัดใหญ่ ฟังยังไงก็น่ากลัวกว่าไข้หวัดธรรมดาแน่นอน ด้วยดีกรีความรุนแรงของโรคที่มากกว่า และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวานและโรคหัวใจ ที่ต้องตั้งรับกันหนักหน่อย
 
  แต่อย่าเพิ่งหวาดกลัวจนถึงขั้นพารานอยด์ เพราะไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงทุกรายควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล1,2 
 
คำถามต่อมาคือ แล้วใครล่ะ คือผู้ที่เข้าข่ายเป็น ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ 
 
ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงนั้นมีตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ไปจนถึงผู้ที่มีโรคเรื้อรัง อย่างปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ธาลัสซีเมีย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ
 
 นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ ยังรวมถึงบุคคลที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป หญิงมีครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัมขึ้นไป ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี1,2
 
 ในบรรดาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดที่ว่ามา ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหัวใจและโรคเบาหวานนั้นต้องป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นพิเศษ เพราะการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการกำเริบของโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยทันทีที่ร่างกายติดเชื้อจะเกิดการกระตุ้น การเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ทำให้เกิดกระบวนการแข็งตัวของเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน นำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด3
 
 
โดยเฉพาะในฤดูกาลที่โรคไข้หวัดใหญ่กำลังระบาด มักพบว่า 4 ใน 10 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute MI) มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นำมาก่อนในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ ยังพบว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี
 
 
 
ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้น ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมากกว่าคนปกติ โดยพบว่าอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่เป็นโรคเบาหวานถึง 6 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อในช่วงระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5-156,7
 
 
 
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จึงช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลของผู้ป่วยเบาหวานได้ถึงร้อยละ 79 รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน8,9,10
 
 สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้น ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ และชนิด 4 สายพันธุ์ โดยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ สามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B ได้มากกว่า กล่าวคือ ครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์ A ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์ B ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata จึงยิ่งเพิ่มความสามารถในป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาด ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้ดีขึ้น11
 
 หากคุณหรือคนในครอบครัวอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อกันไว้ดีกว่าแก้
 
 
 
ด้วยความปรารถนาดีจากศูนย์วัคซีน รพ.วิภาวดี

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด