ดังนั้น การอ่านฉลากยาจึงเป็นสิ่งสำคัญ... “ฉลากยา” ทั้งที่ได้มาจากโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิก ร้านขายยา หรือฉลากยาบนผลิตภัณฑ์นั้น แสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง ถูกคน ถูกโรค และเกิดความปลอดภัยในการใช้ยา
นอกจากนี้ฉลากยาและเอกสารกำกับยา ยังระบุรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับยาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้อีกด้วย เช่น วิธีการใช้ ผลข้างเคียง ข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปฉลากยาจะแสดงข้อมูลพื้นฐาน ดังนี้
- ชื่อยา ชื่อสามัญทางยา และชื่อทางการค้า(ชื่อยี่ห้อ) ซึ่งผู้ใช้ยาควรทราบชื่อสามัญทางยา เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยายาที่ตนเองแพ้ และเพื่อลดการกินยาซ้ำซ้อน ซึ่งอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด
- เลขทะเบียนตำรับยา บนผลิตภัณฑ์จะใช้คำว่า Reg. No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่า ยานั้นได้ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว
- วันผลิตและวันหมดอายุ ช่วยให้หลีกเลี่ยงอันตรายจากการใช้ยาที่หมดอายุหรือยาที่เสื่อมคุณภาพแล้ว อาจใช้ตัวย่อภาษาอังกฤษแทนข้อความภาษาไทย เช่น MFG. date หรือ MFd แปลว่าวันที่ผลิต เช่น MFd 22/6/16 และ EXP หรือ Exp. date แปลว่า วันที่หมดอายุ เช่น EXP JUL 17 เป็นต้น
- ผลข้างเคียง ข้อห้ามใช้และคำเตือน เป็นข้อความที่ผู้ใช้ยาควรให้ความสำคัญ เนื่องจากยานั้นอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้ เช่น รับประทานยานี้แล้วอาจมีอาการง่วงนอน เป็นต้น
- ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต เป็นข้อมูลที่มีความสำคัญโดยเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับยาของ
- บริษัทนั้นๆ ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อร้องเรียนได้ถูกต้อง
- ชื่อและนามสกุลของผู้ป่วย เพื่อประโยชน์ในการส่งมอบยาให้ผู้ป่วยถูกราย และเตือนใจผู้ป่วย คือ ไม่ควรแบ่งยาให้แก่ผู้อื่น เพราะแต่ละคนอาจมีโรคประจำตัว ความรุนแรงของโรค และขนาดยาที่ใช้แตกต่างกันนอกจากนี้ยังมีเรื่องประวัติแพ้ยาต่างกัน หรือยามีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางประเภท
จำไว้ ก่อนใช้ยาทุกครั้งควรอ่านฉลากยาและเอกสารกำกับยาอย่างถ้วนถี่ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา