สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อธิบายไว้ว่า “Smart City คือเมืองที่ได้ถูกออกแบบมาให้สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการนำพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อพัฒนาส่วนโครงสร้างของเมือง” แปลความว่าเมืองนี้จะเป็นเมืองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในอนาคตที่ประชากรเมืองเปลี่ยนแปลงไป และสามารถตอบรับประเด็นสำคัญในอนาคต เช่น การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ การใช้พลังงานอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และเป็นอยู่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
คำจำกัดความข้างบนนี้ดูนามธรรมเข้าใจยากจังเลย เปลี่ยนแนวมาทำความเข้าใจจากกรณีศึกษากันดีกว่า ปีที่แล้วสิงคโปร์ได้รับรางวัล World’s Smart City 2018 ในงานประชุม Smart City Expo World Congress ด้วยเหตุที่ว่า รัฐบาลสิงคโปร์นำเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้งหลายมาใช้กับทุกองค์ประกอบของเมือง ไม่ว่าจะเป็นการบริการจัดการรถประจำทางในเมืองด้วยเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล คำนวณและควบคุมการเดินรถ การพัฒนาช่องทางการประสานงานระหว่างครูและผู้ปกครองนักเรียนแบบ Real-time หรือการคาดการณ์โอกาสและตำแหน่งของการแตกรั่วของท่อน้ำประปาใต้ดินเพื่อจะได้ป้องกันได้ก่อนเกิดความเสียหาย โดยเทคโนโลยีทั้งหลายที่สิงคโปร์นำมาใช้ก็เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริการจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ “คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน” ทั้งในมิติของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ การลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง การประหยัดต้นทุนและเวลาเพื่อให้มีเงินเหลือไปใช้สอยและมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น
พอเข้าใจหลักการของ Smart City แล้วก็ย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับวิถีชีวิตของประชาชนในภาคพื้นยุโรป พบว่าหลาย ๆ ประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับ Smart City มากนัก แต่กลับให้ความสำคัญกับ Smart Community & Smart People อย่างเช่น ประเทศเยอรมนีมุ่งการทำ Smart City ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และช่วยให้ประชาชนทำงานสะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญ "ทำให้ประชาชนไม่ต้องใช้เวลาทำงานนานเกินควร จะได้มีเวลาไปใช้ชีวิตที่มีคุณภาพดี อยู่กับครอบครัว ทำงานอดิเรก เที่ยว ฯลฯ ที่เป็นการเสริมให้มีคุณภาพชีวิตนอกเวลางานที่ดีควบคู่ไปกับการทำงานที่ดี" สรุปความได้ว่า ภาครัฐนำเทคโนโลยีอัจฉริยะทั้งหลายมาทำให้โครงสร้างพื้นฐานและบริการภาครัฐที่เป็นฐานในการประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตของประชาชนมีประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่วนประชาชนก็ใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้น ลดเวลาในการทำงานแต่ได้ผลงานเท่าเดิมหรือมากกว่า แล้วเอาเวลาที่เหลือไปใช้ชีวิตส่วนตัวให้ดีขึ้นตามอัธยาศัยของแต่ละคน
ย้อนกลับมาดูประเทศไทย Smart City ถูกจุดพลุขึ้นมาว่าจะเป็นทางรอดของเมืองในอนาคต มีงบประมาณและโครงการอัจฉริยะทั้งของภาครัฐและเอกชนเกิดขึ้นมากมาย แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังน่าขบขันอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชนแบบที่มีข้อมูลอยู่ในชิพบนบัตร ธนาคารทุกแห่งมีเครื่องอ่านชิพสามารถทำธุรกรรมได้โดยง่าย แต่หน่วยงานรัฐผู้ออกบัตรกลับไม่มีเครื่องอ่านชิพของตัวเอง ต้องทำสำเนาบัตรประชาชนกันอยู่เรื่อย ใบขับขี่บนแอพพิเคชั่นที่จัดทำโดยหน่วยงานผู้ออกใบขับขี่ แต่กลับไม่ได้รับการยอมรับโดยตำรวจจราจร ส่วนภาคเอกชนแทนที่จะใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อให้ใช้เวลาทำงานลดลง แต่กลับเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นมาทำให้ตัวเองทำงานได้มากขึ้น ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ชีวิตส่วนตัวและเวลาพักผ่อนกลับลดลงกว่าก่อนที่จะมีแนวคิด Smart City เสียอีก
ก็ย้อนกลับไปหลักการของ Smart City ว่ามันต้องถูกสร้างและใช้งานโดย Smart People ไม่ใช่คนที่ยังมีความคิดแบบเดิม ๆ แล้วเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปเท่านั้นเอง
ดร.พนิต ภู่จินดา
บทความนี้เผยแพร่บนเว็บไซต์ Rabbit Today เมื่อปี 2019