ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายอุตสาหกรรมยังขยายตัวได้ดี อาทิ รถยนต์ การกลั่นน้ำมัน จักรยานยนต์ รองเท้า กระเป๋า
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2566 หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ
1. Hard Disk Drive (HDD) หดตัวร้อยละ 35.35 ตามการพัฒนาเทคโนโลยีความจุทำให้ปริมาณการผลิตน้อยลง แต่ราคาต่อหน่วยสูงขึ้นตามปริมาณความจุ รวมถึงความต้องการใช้ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ Solid State Drive (SSD) มีสัดส่วนการใช้ในอุปกรณ์ต่าง ๆ ทดแทน HDD เพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีฐานการผลิต SSD ในประเทศ
2. เฟอร์นิเจอร์ หดตัวร้อยละ 56.55 จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะเป็นหลัก โดยการผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ลดลง จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศของผู้ผลิตเครื่องเรือนทำด้วยไม้ยางพารารายใหญ่ที่ปรับลดลง ซึ่งเป็นการปรับลดลงเข้าสู่สภาวะปกติก่อนการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ซึ่งในช่วงดังกล่าวจีนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ส่วนเครื่องเรือนทำด้วยโลหะการผลิตกลับเข้าสู่ระดับปกติหลังจากปีก่อนได้รับคำสั่งซื้อพิเศษ
3. เม็ดพลาสติก หดตัวร้อยละ 14.47 ส่วนหนึ่งจากสถานการณ์ความต้องการยังไม่กลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะจากประเทศจีน และระดับราคายังชะลอตัวตามความต้องการในตลาดประกอบกับผู้ผลิตชะลอการผลิตลดลงเพื่อดูทิศทางตลาด รวมถึงยังคงมีการปิดซ่อมบำรุงในโรงงานบางโรงอยู่
อุตสาหกรรมสำคัญที่ยังขยายตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
1. น้ำตาล ขยายตัวร้อยละ 23.46 จากสินค้าสำคัญคือ น้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ประกอบกับผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานปี 65/66 มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา
2. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 6.64 เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนของเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น ทำให้สามารถทำการผลิตได้เพิ่มขึ้น