ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ภาวะเศรษฐกิจการคลัง ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค มกราคม 2567

ภาวะเศรษฐกิจการคลัง ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค มกราคม 2567 Thumb HealthServ.net
ภาวะเศรษฐกิจการคลัง ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค มกราคม 2567 ThumbMobile HealthServ.net

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป - กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


       กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง  จัดทำรายงานประจำเดือน เป็นข้อมูลสะท้อนสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ  สัญญาณทางเศรษฐกิจ ปัจจัย และดัชนีความเชื่อมั่น ของเศรษฐกิจไทย ในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เป็นข้อมูลจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน 

สถานการณ์เดือน มกราคม 2567 


      “สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป”

ภาวะเศรษฐกิจการคลัง ประจำเดือนมกราคม 2567

ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2567. (28/2/2567)

          “สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป”
 
          นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2567 ว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2567 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
 

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า: โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน
  • สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.4  และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 9.4
  • ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -1.8  แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 7.6
  • สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ -2.7 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.1
  • ในขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมกราคม 2567 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.6 

          นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมกราคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 62.9 จากระดับ 62.0 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และสูงสุดในรอบ 47 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง 


เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า:
  • การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -26.5  และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1 
  • สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -7.2 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -2.8
  • ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.3 

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อน:
  • โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 22,649.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10.0
  • หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของสินค้าในหมวดเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยขยายตัวร้อยละ 106.3 56.3 และ 32.2 ตามลำดับ
  • นอกจากนี้ สินค้าข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงรสอาหาร และเครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 45.9 30.1 23.3 และ 18.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย ชะลอตัว


          ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ปรับตัวดีขึ้นในตลาดทวีปออสเตรเลีย อาเซียน-5 และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 27.2 18.1  และ 13.7 ตามลำดับ รวมทั้งกลุ่มตลาดอื่น ๆ อาทิ ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States: CIS) ที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 64.6 
 
          เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน สำหรับภาคบริการมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน: โดยภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมกราคม 2567 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน  3.04 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่¬¬อนที่ร้อยละ 41.5 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และอินเดีย ตามลำดับ

          ขณะที่ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม ในเดือนมกราคม 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.4 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.2 จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ดี ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล ยังคงขยายตัว

          สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.6 จากระดับ 88.8 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน  รวมถึงภาคการส่งออกฟื้นตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลก
 

          เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี: สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ -1.11 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.52 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.3 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 อยู่ในระดับสูงที่ 221.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคเดือนมกราคม 2567

ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคเดือนมกราคม 2567 (28/2/2567)
 
           เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในภาคใต้ และภาคเหนือ และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก

           นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2567 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมกราคม 2567 มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในภาคใต้ และภาคเหนือ และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
           เศรษฐกิจภาคใต้ในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 13.9 และ 8.1 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัวร้อยละ -5.8 และ -0.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 15.0 และ 8.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -39.1 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 653.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.2 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.1 

           เศรษฐกิจภาคเหนือในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 4.7 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 63.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 62.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -23.6 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 166.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 200.9 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานสีข้าว และการอบพืชผลทางการเกษตร ในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 96.7 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.3

           เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากรายได้เกษตรกร และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 7.4 และ 5.6 ต่อปี แต่ชะลอตัวร้อยละ -5.8 และ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -8.0 และ -4.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 23.6 และ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 65.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 64.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -31.5 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 2,221.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานคัดขนาดและบรรจุไข่ในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 81.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 83.4

           เศรษฐกิจภาคกลางในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 2.7 ต่อปี ตามลำดับ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -24.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 61.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ขณะที่เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,184.1 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.9 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ในจังหวัดสระบุรี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7

           เศรษฐกิจภาคตะวันตกในเดือนมกราคม 2567 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกร อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัวร้อยละ -1.8 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 61.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 60.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7 

           เศรษฐกิจภาคตะวันออกในเดือนมกราคม 2567 ชะลอตัวทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกร ชะลอตัวร้อยละ -9.8 -3.9 และ-25.3 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 1.6 10.0 และ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 65.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 64.6 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -24.7 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 2,751.2 ล้านบาท ชะลอตัวจากปีก่อนหน้า ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.6

           เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลในเดือนมกราคม 2567 ชะลอตัวทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 62.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 90.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 87.7

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนมกราคม 2567

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนมกราคม 2567 (29/1/2567)
 
            “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการและการลงทุนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสภาพอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งและจะกระทบต่อภาคเกษตรกรรม”
 
            นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2567 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการและการลงทุนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสภาพอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลให้เกิดภัยแล้งและจะกระทบต่อภาคเกษตรกรรม" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
            ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 81.0 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ อันเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและเอกชน อาทิ มาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) โดยเฉพาะในช่วงฤดูการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมาดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พบว่าอยู่ที่ระดับ 83.6 โดยได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ทางบกเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดทั้งในพื้นที่อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของจังหวัด

            ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 74.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และนโยบายกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ รวมถึงมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากชาวกัมพูชาที่เดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์และซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และอุปสงค์ในตลาดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อระบบเศรฐกิจไทย

            ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 73.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว ประกอบกับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่สะสมมานานกว่า 2-3 ปี โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนและนักท่องเที่ยวต่างชาติระยะใกล้ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ ที่ยังคงเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุน อันเป็นผลมาจากมาตรการเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุน ให้สิทธิประโยชน์ และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ

            ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 72.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของภาครัฐ ที่จะช่วยสนับสนุนภาพรวมเศรษฐกิจไทยให้ปรับตัวดีขึ้น

            ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 71.7 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และความเชื่อมั่นในภาคการลงทุนและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะขยายการลงทุนเพื่อเตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนจากการใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม จำนวนทุนจดทะเบียนของอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแห้งแล้งและกระทบต่อภาคเกษตรกรรม รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

            ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จากแนวโน้มเศรษฐกิจทีคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น และความเชื่อมั่น ในภาคบริการ อันเป็นผลจากนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ มาตรการ Visa Exemption และ Easy E-Receipt อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนมีความกังวลต่อราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

            ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 69.2 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและการลงทุน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต
 
กองนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3254

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด