มีงานวิจัยที่รายงานว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาเดินทางเข้ามาภูเก็ตในกลุ่ม “ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” มีการใช้จ่ายเงินสูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มทั่วไปมากถึง 13 เท่า อีกทั้งเป็นกลุ่มที่กลับมาท่องเที่ยวและใช้บริการดังกล่าวซ้ำอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลและภาคเอกชน หมายหมั้นปั้นมืออย่างมาก สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ภายใต้ชื่องาน Expo 2028 – Phuket, Thailand เพื่อผลักดันบทบาทของประเทศไทยและจังหวัดภูเก็ตสู่ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical hub และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก
ในขณะที่ ณ เวลาที่ผู้เขียนได้ยกเรื่องราวนี้ขึ้นมา ผู้อ่านคงได้รับทราบแล้วว่าถึงคนภูเก็ตจะลุ้นจนตัวโก่ง! แต่ Expo ที่จะอุบัติขึ้นในปี 2028 ไม่ได้เลือกปักธงบนเกาะภูเก็ตอย่างที่เรามุ่งหวัง จึงเกิดคำถามว่า 1 ใน 10 เสาหลักด้านการท่องเที่ยวจากโปรเจกต์ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต้นที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” จะยังคงเป็นเสาที่ตั้งตระหง่านและแข็งแกร่งเช่นเคยหรือไม่
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา (RDI PKRU) ดร.พุทธพร บุญณะ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Wellness Tourism นำเสนอข้อมูลและทัศนะต่อประเด็นดังกล่าวว่า “หากเปรียบงาน Expo 2028 - Phuket เป็นพลุไฟ ก็คงเป็นพลุลูกขนาดมหึมาที่รัฐและเอกชนอยากจุดครั้งเดียวแล้วสว่างไสวให้คนทั้งโลกได้มองเห็น เราหวังว่าคุณภาพของสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกของภูเก็ตจะถูกประกาศศักดาและขยายตลาดลูกค้าเพิ่มมากขึ้นในเชิงปริมาณ
แต่ในมุมมองของตน ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Health Tourism) ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ Medical Tourism การรักษาและดูแลสุขภาพโดยแพทย์ และ Wellness Tourismซึ่งถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มธุรกิจบริการมูลค่าสูง ที่ประกอบด้วย Spa / Physical Fitness / Nutrition / Spiritual / Beauty Care ในภูเก็ตมีศักยภาพสูงมาหลายปีแล้ว เนื่องจากมีผู้ประกอบการที่นำเสนอบริการด้านสุขภาพจากแบรนด์ระดับโลกหลายแห่ง (World-class Services) เช่น Banyan Tree Spa และการมอบประสบการณ์การใช้บริการระดับไฮเอนด์ ส่งผลให้มีฐานลูกค้าจากทั่วโลกเลือกเดินทางมาภูเก็ตเพื่อรับบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยเฉพาะ เนื่องจากจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ของเกาะภูเก็ตที่สวยงาม การจัดแตกต่างสถานที่และการออกแบบบริการมีความหลากหลายเจาะทุกความต้องการของตลาด
จากองค์ประกอบดังกล่าว จึงเชื่อมั่นว่าการพลาดโอกาสเป็นเจ้าภาพ Expo 2028 ไม่ถือว่าเสียเปล่าใด ๆ เนื่องจากตอนนี้เครือข่ายของ Health Tourism ได้ถูกถักทอโยงใยขึ้นมาสำเร็จแล้ว จากการเตรียมขอเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ดังนั้นแนวคิดโครงการ หรือแผนงานในหลายส่วน จังหวัดภูเก็ตสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะการสร้าง Value Chain ให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทุกระดับ เนื่องจากเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยว รวมไปถึงทำให้ประชาชน เจ้าของกิจการ แรงงาน เกิดรายได้และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น การทำ Eco Spa เพื่อสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การเสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย Thainess อย่างนวดแผนไทยในคอร์สการทำสปาพื้นบ้าน การผลิตอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและเครื่องสำอางจากสมุนไพรในชุมชนท้องถิ่น จัดจำหน่ายในสถานประกอบการ และรวมถึงการอบรมหลักสูตรวิชาชีพด้านสปาเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
นักวิจัยผู้จัดทำคู่มือ Eco Spa และผู้ดูแลศูนย์นวัตกรรมสปาและการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ PKRU กล่าวเสริมอีกว่า ลักษณะของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ อีกทั้งไม่มี High หรือ Low Season เนื่องจากสภาพอากาศไม่ส่งผลต่อบริการ ดังนั้นการพลาดโอกาสในการจัดงาน Expo 2028 คงไม่ใช่การบ่งบอกถึงขาลงของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่กลับเป็นโอกาสในการผลักดันภูเก็ตสู่การเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ทั้งด้าน Health และ Wellness โดยใช้โรดแมปที่คณะทำงานได้จัดเตรียมไว้แต่อาจลดขนาดลงตามศักยภาพในด้านเงินทุน เนื่องจากตอนนี้หน่วยงานราชการ เอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ล้วนมีศักยภาพ และมีเป้าหมายร่วมกันคือการเป็น Medical Hub ระดับโลก ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นต่อจากนื้คือการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Eco-System) และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงการรักษาทรัพยากรในพื้นที่ (Sustainable Toursim) ให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ และแรงงาน กระจายรายได้กันทั้งระบบอย่างแท้จริง เสาหลักที่ชื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะยังคงสามารถหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้อีกยาวนานและมั่นคง”