กรุงเทพฯ – แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ร่วมกับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เดินหน้าโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน หรือ Young Health Programme ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องใน “วันงดสูบบุหรี่โลก” หรือ “World No Tobacco Day 2022” แก่นักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กว่า 1,500 คน จาก 12 โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 2565 เพื่อสร้างความตระหนักรู้ พร้อมสร้างเสริมศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากการสูบบุหรี่
กิจกรรมประกอบด้วยการให้ความรู้เพื่อป้องกันและยับยั้งเยาวชนจากการสูบบุหรี่ สร้างความเข้าใจถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพและการใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ตัวแทนพนักงานบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย และเพื่อนแกนนำนักเรียนสร้างเสริมสุขภาพที่ผ่านการอบรมในโครงการ YHP นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้แกนนำนักเรียนสร้างเสริมสุขภาพแบ่งปันข้อมูลสนับสนุนการเลิกสูบบุหรี่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของโครงการ YHP ประเทศไทย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกับประชาชนทั่วไปอีกด้วย
กิจกรรมเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นการสร้างความตระหนักรู้และเสริมความเข้าใจแก่เยาวชนถึงอันตรายของบุหรี่ที่กระทบสุขภาพต่อทั้งผู้ที่สูบบุหรี่โดยตรงและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่ จากสถิติพบว่าคนส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่และเสพติดสารนิโคตินตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ผู้ปกครองหรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มในการสูบบุหรี่มากกว่าเด็กที่อาศัยในครอบครัวที่ปราศจากบุหรี่ถึง 3 เท่า อีกทั้งผู้ที่เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่วัยเด็กยังมีแนวโน้มที่จะมีอาการติดบุหรี่และเลิกได้ยากขึ้น
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก(WHO) เผยว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มากกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก โดยในจำนวนนี้กว่า 7 ล้านรายเสียชีวิตจากผลของการสูบบุหรี่โดยตรง และอีกกว่า 1.2 ล้านรายเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง1 ซึ่งสำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติยังเผยว่า มีคนไทยที่สูบบุหรี่ถึง 10.7 ล้านคน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเยาวชนกว่า 3 ล้านคน ในขณะที่คนไทยกว่า 17.3 ล้านคนได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มือสองจากคนในครอบครัว ซึ่งการสูดดมหรือได้รับควันบุหรี่มือสองในระยะเวลาเพียง 30 นาที สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้2 และยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็งปอด โรคเกี่ยวระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจและหลอดเลือด ไปจนถึงผลกระทบต่อระบบประสาท และการทำงานของอวัยวะในร่างกายที่ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
โครงการ Young Health Programme ในประเทศไทย เริ่มดำเนินงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2562 ภายใต้กรอบระยะเวลา 5 ปี โดยมุ่งเน้นการสร้างเกราะความรู้ด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแก่เด็กและเยาวชนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังและผลักดันให้เกิดศักยภาพในการตัดสินใจด้านสุขภาพที่เหมาะสม ผ่านกิจกรรมสร้างเสริมความรู้ในการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสำหรับเด็กและเยาวชน การอบรมพัฒนาแกนนำเยาวชนสร้างเสริมสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การทำแคมเปญประจำเดือนเพื่อสร้างความรู้ในวันสำคัญทางสุขภาพ การอบรมมาตรฐานบริการที่เป็นมิตรต่อวัยรุ่นและเยาวชนแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ไปจนถึงการจัดสัมมนาด้านการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย รวมทั้งการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในการขับเคลื่อนผลักดันนโยบายด้านสุขภาพ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างเสริมศักยภาพการดูแลและป้องกันสุขภาพให้แก่เด็กและเยาวชน และสมาชิกในชุมชนโดยตรง จำนวน 75,000 คน ผ่านกิจกรรมให้ความรู้ด้านสุขภาพและส่งเสริมการป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และผู้ได้รับประโยชน์ทางอ้อมในสังคมอีกจำนวน 500,000 คน ผ่านแคมเปญและกิจกรรมเสริมสร้างความตระหนักรู้ต่างๆ
เกี่ยวกับ โครงการ Young Health Programme
โครงการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีในเด็กและเยาวชน (Young Health Program - YHP) ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า มุ่งเน้นการปลูกฝังองค์ความรู้ การดูแลสุขภาพ ให้กับเยาวชนอายุระหว่าง 10-24 ปี ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและความเปราะบางให้ห่างไกลจากปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพจิต
โครงการ Young Health Program ดำเนินงานร่วมกับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ UNICEF และใช้ฐานองค์ความรู้จากข้อมูลการวิจัยจากสำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ Johns Hopkins Bloomberg มีการดำเนินการไปแล้วกว่า 30 ประเทศ และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีข้อมูลในการป้องกันความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไปแล้วกว่า 12 ล้านคน โครงการ Young Health Programme มุ่งเน้นสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการป้องกัน และส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีข้อมูลในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง ผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน การนำข้อมูลความรู้จากงานวิจัย และการผลักดันนโยบายด้านสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนการสร้างแกนนำนักเรียนและนักศึกษาสร้างเสริมสุขภาพ โครงการ Young Health Program เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้านความยั่งยืนของ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ที่จะใช้ทรัพยากรและความสามารถขององค์กรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงมีความหมายต่อความต้องการด้านสุขภาพของสังคม
เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า
แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จาก
แอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.co และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca
เกี่ยวกับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล
องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร มีการดำเนินงานในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริม พัฒนา คุ้มครองสิทธิเด็ก และความเสมอภาคสำหรับเด็กผู้หญิง สำหรับ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เริ่มเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก มีแนวทางในการทำงานร่วมกับเด็ก เยาวชน ผู้สนับสนุน และพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มตั้งแต่จุดเล็กที่สุดอย่างครอบครัว แล้วขยายสู่ชุมชน เพื่อรังสรรค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และในระดับสากล เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์การ แพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ที่ http://plan-international.org/thailand และกดติดตามเพจ https://www.facebook.com/plan.thailand
อ้างอิง
1.World Health Organization (2022). World No Tobacco Day 2022. Available here: https://www.who.int/campaigns/world-no-tobacco-day/2022
2.National Statistic Office of Thailand (2017). Thailand Statistic of people who smoke in 2017. Available here: http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/News/2561/N31-08-61-1.aspx
3.World Health Organization (2022). Non-communicable Diseases Progress Monitor 2022. Available here: https://www.who.int/publications/i/item/9789240047761
4.Young Health Programme Thailand. https://www.younghealthprogrammeyhp.com/programmes/thailand.html
5.World Health Organization (2022). WHO raises alarm on tobacco industry environmental impact. Available here: https://www.who.int/news/item/31-05-2022-who-raises-alarm-on-tobacco-industry-environmental-impact