ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ปีนี้โรคมือเท้าปาก ระบาดแล้วนะ หมอโคราชเตือนมา และมีคำแนะนำ

ปีนี้โรคมือเท้าปาก ระบาดแล้วนะ หมอโคราชเตือนมา และมีคำแนะนำ Thumb HealthServ.net
ปีนี้โรคมือเท้าปาก ระบาดแล้วนะ หมอโคราชเตือนมา และมีคำแนะนำ ThumbMobile HealthServ.net

หน้าฝนมาแล้ว หมอจิรรุจน์ ชมเชย แห่งโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มการระบาดของโรคมือเท้าปาก (Hand-Foot-Mouth Disease - HFMD) ซึ่งจะเริ่มระบาดมากในกลุ่มเด็ก ดังนั้นจึงมีคำแนะนำและข้อมูลควรรู้หลายด้านๆ เกี่ยวกับ อาการ การป้องกันและคำแนะนำเพิ่มเติม ที่จำเป็นและทำได้ เพื่อเฝ้าระวังและลูกหลานไม่ต้องติดโรคนี้ ในช่วงของการระบาดนี้



สรุปมือเท้าปาก หรือ Hand-Foot-Mouth Disease (HFMD)  จากอาจารย์บิ๊ก
9 ข้อที่น่ารู้ เผื่อจะเป็นประโยชน์ในช่วงระบาดนี้ครับ 

 
1. เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่ม enterovirus ที่พบบ่อยได้แก่ coxsackievirus A16 (CV-A16) ,coxsackievirus A6 (CV-A6),enterovirus A71 (EV-A71) และจริงๆ ยังมีสายพันธุ์อื่นๆอีก 

2. ติดต่อทางการสัมผัสน้ำลาย สารคัดหลั่งที่มีเชื้อ ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่กับสิ่งของ เช่น ของเล่นที่เด็กป่วยไปเล่น ช้อน แก้วน้ำที่ผู้ป่วยใช้ ผ้าอ้อม-แพมเพิร์สที่รองรับขับถ่ายของผู้ป่วย 

3. อาการหลักหลังรับเชื้อ 1-2 วันคือ "ไข้สูง (หลายราย 39-40องศา)" จากนั้นเริ่มมีแผลในเพดานด้านใน คล้ายๆแผลร้อนไหน กินไม่ได้ น้ำลายไหล  จากนั้นผื่นเป็นตุ่มแดงขึ้น จากมือ-เท้า  บางรายอาจลามเข้ามาที่แขน-ขา จนเป็นตุ่มทั่วแขน-ขา ดูคล้าย สุกใส แต่มิใช่! (สุกใสตุ่มจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส-หนองในระยะต่อๆมา แต่มักไม่พบแผลที่เพดาปากด้านใน)

4. ประมาณ วันที่ 4-5 หลังเริ่มมีอาการ ไข้จะเริ่มลง แต่ผื่น-แผลในคอยังมี กว่าจะจบก็ประมาณ 7 วันครับ 

5. ถ้ามีแต่ไข้สูง+แผลภายในปากตรงเพดาน ไม่มีผื่นที่มือเท้า

>> อันนี้เรียก Herpangina ( อ่านว่า เฮอร์แปงไจน่า) ซึ่งก็เกิดจากไวรัสกลุ่มนี้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่ เกิดจาก Coxsackie B ไวรัส >> การรักษาเหมือนกันกับ มือเท้าปากครับ

6. การรักษา คือ การรักษาตามอาการคือ 
 
  •  ลดไข้ เช่น การเช็ดตัว ทานยาลดไข้ 
  •  ระวังอาการชักจากไข้สูง (โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 2ปี) 
  •  ให้สารน้ำทางเส้นเลือดกรณีที่ทานไม่ได้ร่วมกับมีภาวะขาดน้ำ 
  •  สังเกตอาการทางระบบประสาทอื่นๆ เช่น ซึมลง ชักเกร็ง ความรู้สึกตัวแย่ลง (ตัวปัญหาคือ ไวรัส EV-71 ครับ ซึ่งขึ้นสมองเสียชีวิตได้) 
  •  สังเกต อาการ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ซึ่งอาจเกิดจาก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) จากการติดเชื้อ Coxsackie ไวรัส 

7. ติดแล้วเป็นซ้ำได้  หากในครั้งต่อไป เป็นไวรัสคนละตัว จากการศึกษาใหญ่ในจีนพบโอกาสเป็นซ้ำใน 1ปี ราวๆ 2% และ 4%ใน 3ปี ผู้ใหญ่ก็เป็นได้นะครับ โดยเแฑาะคนที่ภูมิต้านทานต่ำ ทานยากดภูมิ ผู้สูงอายุที่ดูแลเด็กป่วย (ที่ผมเจอ อาม่าดูหลาน คนหนึ่งอายุ 60 กับอีกคน 70 ปี 2 ราย ติดเชื้อแต่แค่เจ็บคอหนักๆครับ ทุกวันนี้อาม่า 2 ท่านยังสบายดี)

8. มีวัคซีนป้องกันต่อสายพันธุ์ EV-71 แล้ว ซึ่งประสิทธิภาพสูงถึง 97% จากรายงานใน NEJM 2014 ได้ข่าวว่ากำลังจะเข้าประเทศไทย แต่จะได้ฉีดเมื่อไหร่ ก็ต้องติดตามครับ (แน่นอนว่าคงเป็น Non-EPI ซึ่งต้องหาฉีดเองตามคลินิกและรพ.)

9. การป้องกันที่ทำได้ ณ เวลานี้ 
 
  •  หลีกเลี่ยงของเล่นสาธารณะช่วงที่มีการระบาด / ห้างร้านผู้ดูแลของเล่น ต้องหมั่นทำความสะอาดขอเล่นบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ( ระวัง! แอลกอฮอล์ 70% ทั่วไปมีรายงานว่าไม่เพียงพอครับ)
  •  ล้างมือหลังจับสัมผัสสิ่งของ ก่อนหยิบของกิน หรือ จับใบหน้าขยี้ตา ด้วยน้ำ+สบู่นาน 20 วินาที // แม้ CDC-US จะแนะนำว่า 70%แอลกอฮอล์ล้างมือจะใช้ได้ แต่ต้องระวังนะครับ
  •  สถานรับเลี้ยงเด็ก / โรงเรียน ต้องคัดกรองเด็กที่จะพาเข้าในรร. หลักๆ คือ อาการไข้ รอยแผลในเพดาน >>> หากลูกป่วยต้องให้อยู่บ้านจนหายดีจริงๆ แล้วจึงพากลับไป รร.
  • ย้ำนะครับ ปล่อยเด็ก มือเท้าปาก 1 คน หลุดเข้าไป การกระจายจะรวดเร็วมาก ผ่านมือของผู้ดูแล และ ของเล่นของใช้ที่ปนเปื้อน โดยเฉพาะ กลุ่มของ สถานรับเลี้ยงเด็กอายุน้อยๆ 
  • ในบ้านถ้าลูกคนหนึ่งเป็น ต้องพยายามแยกของใช้ ที่นอน ของเล่นออกมา ผู้ดูแลต้องล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการส่งผ่านเชื้อไปอีกคน (ส่วนใหญ่ไม่ทันครับ กว่าจะรู้ว่าคนแรกเป็น คนถัดมาก็มีอาการแล้ว)


 

คำแนะนำเพิ่มเติม



*** ฉีดวัคซีนป้องกันสุกใส! ครับ***
 
 เพราะ การฉีดวัคซีนสุกใสครบ 2 เข็ม ช่วยลดโอกาสติดเชื้อสุกใส และลดความรุนแรงของโรค ซึ่งสุกใสซึ่งเป็นโรคที่มีตุ่มน้ำใสๆแบบนี้ได้เช่นกัน 
 
หากได้รับวัคซีนสุกใสครบ โอกาสผื่นรุนแรงจะน้อยมากๆครับ 
 
ส่วนตัวผมก็ยังรอวัคซีนป้องกัน EV-71 นะครับ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่หมอเด็กเรารู้ดี ว่ารุนแรงขนาดไหน ป้องกันได้เป็นดี  
 
สุดท้ายจริงๆครับ คือ ควบคุมการระบาดได้เป็นดีที่สุด เพราะ เราคาดเดาไม่ได้ว่า เด็กคนไหนจะอาการรุนแรง หรือ จะเจอสายพันธุ์ไหน ขึ้นสมองหรือไม่
 
กล้ามเนื้อหัวใจจะอักเสบหรือเปล่า >> ควบคุมการระบาดสำคัญจริงๆ ครับ 
 
ขอให้ทุกท่านปลอดภัยครับ
 
#หมอจิรรุจน์ ชมเชย
โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
25 กรกฎาคม 2565
 
ปีนี้โรคมือเท้าปาก ระบาดแล้วนะ หมอโคราชเตือนมา และมีคำแนะนำ HealthServ

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด