26 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 65 ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ว่าพบผู้ติดเชื้อยืนยันโรคฝีดาษวานร เป็นเพศหญิง อายุ 21 ปี สัญชาติไทย ไปประกอบอาชีพพนักงานนวดแผนไทยที่ประเทศกาตาร์ และในวันที่ 10 ส.ค. 65 เริ่มมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ วันที่ 21 ส.ค. 65 เดินทางกลับมาประเทศไทย และเดินทางกลับบ้านที่ จ.มหาสารคาม วันที่ 22 ส.ค. 65 เข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย พบว่ามีตุ่มน้ำใส และอาการป่วยเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ วันที่ 24 ส.ค. 65 ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโรคฝีดาษวานร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจากการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด พบผู้สัมผัสจำนวน 28 คน แบ่งเป็นเสี่ยงสูง 4 คน และเสี่ยงต่ำ 24 คน และให้ผู้สัมผัสทุกคนสังเกตอาการตนเอง
“สรุปได้ว่าผู้ป่วยรายดังกล่าว มีอาการตั้งแต่อยู่ที่ต่างประเทศ ขณะเดินทางผู้ป่วยแสดงอาการผื่นเพียงเล็กน้อย และอยู่ในร่มผ้า อย่างไรก็ตาม ระหว่างเดินทางผู้ป่วยมีการป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างจากผู้โดยสารคนอื่นๆ ผู้ป่วยรายนี้นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นเพศหญิงรายที่ 3” นายแพทย์โอภาส กล่าว
สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยัน จำนวน 46,047 ราย เสียชีวิต 15 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 16,603 ราย สเปน 6,318 ราย บราซิล 4,144 ราย เยอรมนี 3,350 ราย และสหราชอาณาจักร 3,207 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังอยู่ในแถบทวีปยุโรป ส่วนสถานการณ์ฝีดาษวานรในประเทศไทย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 6 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศที่มีประวัติสัมผัสกับชาวต่างชาติ 3 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 3 ราย ขณะนี้รักษาหายแล้ว 4 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 2 ราย จากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของผู้ป่วยยืนยันรายที่ 1-5 จนครบกำหนด 21 วันแล้ว รวมจำนวน 44 คน ไม่มีอาการป่วย และไม่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรด้วย
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอประชาชนมั่นใจในระบบสาธารณสุขไทย ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองเฝ้าระวัง ป้องกันโรค และขอเน้นย้ำว่า โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองบริเวณผิวหนัง ขณะป่วย จึงขอแนะนำให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เดินทางไปหรือกลับจากประเทศที่มีการระบาดโรคฝีดาษวานร หรือพำนักอาศัยที่ต่างประเทศ ให้เลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำ ตุ่มหนองบริเวณร่างกายสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้อื่น ไม่สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ ไม่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก รับประทานอาหารปรุงสุกสะอาดและไม่สัมผัสสัตว์ป่วย หากผู้ที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร หรือมีอาการสงสัย เช่น มีผื่นตามลำตัว เป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ตุ่มตกสะเก็ด หลังจากมีไข้ เจ็บคอ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น สามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านท่านได้ทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422