ภายใต้ปัจจัยกดดันกำลังซื้อจากภาวะค่าครองชีพสูงและความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19ธุรกิจ Nursing Home เป็นอีกหนึ่งบริการสำหรับผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องการการดูแล ซึ่งอาจยังเติบโตได้ โดยกลุ่มที่เลือกใช้บริการน่าจะมีกำลังซื้อเพียงพอ เนื่องจากค่าใช้บริการเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูงสอดคล้องไปกับมาตรฐานและความเชี่ยวชาญของบุคลากร รวมไปถึงความสะดวกรวดเร็วในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล หากต้องรับการรักษาที่ซับซ้อนหรือกรณีฉุกเฉิน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายของผู้ใช้บริการ Nursing Home ปี 2565 อยู่ที่ 12,700 ล้านบาท ขยายตัว 3.5% (YoY) เป็นผลหลักจากปัจจัยด้านราคาซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะนี้ โดยผู้ใช้บริการหลักยังเป็นผู้ป่วยและผู้สูงอายุชาวไทยที่ต้องการการดูแลระยะยาว (ตั้งแต่ 3-6 เดือนขึ้นไป) และมีกำลังซื้อปานกลางถึงสูง
(ค่าใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป) ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 1.3 แสนคนต่อปี ขณะที่คนไข้ต่างชาติบางส่วนที่ต้องดูแลฟื้นฟูต่อเนื่องหลังรับการรักษาที่สถานพยาบาลหลัก น่าจะยังมีสัดส่วนน้อยแต่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวตามการเปิดประเทศ
ในระยะข้างหน้า ธุรกิจ Nursing Home มีแนวโน้มเติบโตได้จากโอกาสทางธุรกิจที่จะดึงดูดการลงทุนของธุรกิจรายเดิมและรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดเพื่อรองรับอุปสงค์ในอนาคต ซึ่งศูนย์วิจัยฯ มองว่าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1) กลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับสถานพยาบาลเครือข่าย และ 2) กลุ่มที่ให้บริการครบวงจร ยืดหยุ่นตามความต้องการเฉพาะบุคคล ทั้งนี้ แม้ว่าธุรกิจจะมีปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้บริการที่น่าจะเพิ่มขึ้นตามโครงสร้างประชากรและความเสี่ยงโรค แต่ผู้ใช้บริการที่มีศักยภาพก็อาจยังจำกัดเฉพาะกลุ่มที่มีความจำเป็นและมีกำลังซื้อเพียงพอ ทำให้ธุรกิจต้องแข่งขันรุนแรงเพื่อเข้าถึงลูกค้าศักยภาพที่มีจำกัด โดยคุณภาพการบริการที่ได้มาตรฐาน บุคลากรที่น่าเชื่อถือและมีความเชี่ยวชาญ ควบคู่ไปกับการตอบโจทย์เรื่องทำเลที่ตั้ง บนค่าใช้บริการที่เหมาะสม จะเป็นปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
22 กรกฎาคม 2565