นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในช่วงต้นปีและปลายปี จะมีอากาศหนาวและการกระจายตัวของฝุ่นละอองอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและการถ่ายเทของอากาศไม่ดี ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไอเสียของรถยนต์ประเภทต่างๆ โดยเฉพาะรถดีเซล การเผาในที่โล่งแจ้ง เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง กิจกรรมในครัวเรือนสามารถทำให้เกิดฝุ่นและมลพิษทางอากาศได้เช่นเดียวกัน เช่น การสูบบุหรี่ภายในหรือนอกบ้าน การจุดธูปเทียน การหุงต้มด้วยถ่านไม้หรือฟืน การเผาขยะเศษใบไม้
ซึ่งถึงแม้ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่หากสะสมเป็นระยะเวลานานจะส่งผลกระทบในระบบทางเดินหายใจของร่างกาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพมีความห่วงใยประชาชน แนะลดและป้องกันฝุ่น PM 2.5 เริ่มต้นได้ที่บ้าน ดังนี้
1) สุขบัญญัติข้อที่ 1 ดูแลของใช้ให้สะอาด เช่น ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ให้สะอาด เช่น การทำความสะอาด ซัก ดูดฝุ่น ผ้าม่าน ผ้านวม หมอน พรม ซึ่งเป็นที่สะสมของฝุ่น โดยทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการบำรุงรักษา อุปกรณ์ภายในบ้านอย่างถูกต้อง เช่น การล้างแผ่นกรองตามความถี่ของการใช้เครื่องปรับอากาศ บางกรณีอาจใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกรองอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็ก แนะปิดประตูหน้าต่าง ในช่วงที่มี PM 2.5 สูง
2) สุขบัญญัติข้อที่ 10 มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม งดการเผาขยะ ใบไม้บริเวณข้างบ้าน และงดสูบบุหรี่ รวมถึงกิจกรรม ที่ทำให้เกิดควัน ทั้งนี้ การสูบบุหรี่หรือสูดกลิ่นควันอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและปอด หากได้รับฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากหรือสะสมเป็นเวลานานจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดหอบหืดและมะเร็งปอดได้
ด้านนายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยหรือผู้มีโรคประจำตัวจะต้องระมัดระวังฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกจากบ้าน หากไม่จำเป็นไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้ง พยายาม อยู่บ้าน ควรพกยาติดตัวเสมอ หรือพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคปอด และโรคหัวใจชนิดต่างๆ สำหรับวัยทำงานที่ต้องปฏิบัติงานนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ และควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นหากมีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยสามารถเช็คค่าฝุ่นได้ที่บ้านผ่านแอปพลิเคชัน Air4thai สำหรับผู้ที่นิยมออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรงดออกกำลังกายในช่วงที่มีภาวะหมอกควันและฝุ่นสูง เพราะการออกกำลังกายต้องใช้แรงในการหายใจ อาจยิ่งเพิ่มการสูดเอาฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าสู่ทางเดินหายใจและปอดมากขึ้น โดยแนะสุขบัญญัติข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่ทุกคนสามารถปฎิบัติตามและบอกต่อกับครอบครัว เพื่อลดและป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ได้