สธ. ร่วมแสดงพลัง “ต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล
25 พฤศจิกายน 2565 ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ “Zero Tolerance for SEAH” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล โดยมี นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ 11) บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
กิจกรรมรณรงค์ “Zero Tolerance for SEAH”
กิจกรรมรณรงค์ “Zero Tolerance for SEAH” เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกและสร้างความตระหนักแก่บุคลากรองค์การอนามัยโลกและกระทรวงสาธารณสุขให้ไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย และไม่อดทน ต่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ เป็นหน่วยงานที่เป็นที่เชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชน รวมถึงสนองต่อมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ตลอดจนเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ และการคุกคามทางเพศในการทำงาน ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อบุคลากรที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย และยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรด้วย จึงได้เริ่มนโยบายและมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 โดยกำหนดกลไกและมาตรการให้หน่วยงานและบุคลากรในสังกัดถือปฏิบัติ ซึ่งปัจจุบันมีการขับเคลื่อนแนวปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคและมีระบบกำกับติดตามอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บุคลากรทุกคนได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี ปราศจากการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พร้อมที่จะมุ่งสู่เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือ “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง”
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังแต่งตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรณีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน มีขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยที่ยึดผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความต้องการของผู้ถูกกระทำ มีกระบวนการจัดการปัญหาที่เป็นมิตร ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ รวมถึงมีระบบให้ความช่วยเหลือ โดยขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้หญิงถูกทำร้ายยังคงสูงมากในไทย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลการเฝ้าระวังความรุนแรงในผู้หญิงระหว่างปี 2562 – 2564 จากระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ (Injury Surveillance : IS) ใน โรงพยาบาล 51 แห่งทั่วประเทศ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า ผู้หญิงบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกทำร้ายกว่าปีละ 8,577 ราย กลุ่มอายุที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือ 20 – 24 ปี (ร้อยละ 15) วิธีการถูกทำร้ายมากที่สุดคือ การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย (ร้อยละ 60) สถานที่ถูกทำร้ายเป็นบริเวณบ้าน (ร้อยละ 63.4) ซึ่งเป็นบ้านผู้บ้านเจ็บเองกว่า (ร้อยละ 79.7) มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 11.3)
สำหรับความรุนแรงทางเพศพบว่า ผู้หญิงอายุ 10-14 ปี ถูกทำร้ายทางเพศด้วยกำลังกายมากที่สุด (ร้อยละ 31.4) สถานที่เกิดเหตุคือที่บ้าน (ร้อยละ 62) เป็นบ้านตนเอง (ร้อยละ 45.8) และเป็นบ้านคู่กรณี (ร้อยละ 23.7) ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ 18.00 - 20.59 น. มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 8) ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง คือการถูกทำร้ายในเด็กแรกเกิด - 4 ปี พบสาเหตุจากการถูกทำร้ายแรงทางเพศเฉลี่ยปีละ 19 ราย หรือคิดเป็น (ร้อยละ 34.8) จากสาเหตุการถูกทำร้ายที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลที่เฝ้าระวัง การถูกทำร้ายด้วยกำลังกาย (ร้อยละ 32.9) และการถูกทำร้ายด้วยวัตถุไม่มีคม (ร้อยละ 10.4)
มาตรการในการป้องกันความรุนแรง
มาตรการในการป้องกันความรุนแรงจากการถูกทำร้ายนั้น ต้องเริ่มจากระดับบุคคล ต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น การเคารพสิทธิและความเท่าเทียมกันของตนเองและคนรอบข้าง หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการใช้สารเสพติด ระดับครอบครัวคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้การควบคุมอารมณ์ และการแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรงระดับชุมชน ควรเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด รณรงค์การไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงเมื่อพบเห็นการกระทำความรุนแรง ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทันที หรือโทรแจ้งสายด่วนศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300