การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ขาดระเบียบ วินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ ที่รุนแรงบ่อยครั้ง ซึ่งแนวทางการลดอุบัติเหตุทางถนน โดยการบังคับใช้ความเร็วของรถยนต์ตามที่กฎหมาย กำหนดจะช่วยป้องกันและลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนนได้ จากข้อมูลของกระทรวง คมนาคมในระบบ MOT DATA CATALOG ในปี 2564 มีการบันทึก “อุบัติเหตุบนถนน” ที่เกิดขึ้นทั้งหมด จำนวน 21,053 ครั้ง มีสาเหตุมาจากความประมาทของผู้ขับขี่ที่ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดคิดเป็น ร้อยละ 78 ขณะที่ รายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายจราจรอยู่ใน
“ระดับดี” ได้แก่ กฎหมายเมาแล้วขับ กฎหมายการบังคับ สวมหมวกนิรภัยของกลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์ และกฎหมายบังคับคาดเข็มขัดนิรภัย โดยเป็นประเทศเดียว ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายเมาแล้วขับอยู่ใน “ระดับดี” สำหรับการใช้กฎหมายการจราจรที่ยังไม่ถึง ระดับดี คือ กฎหมายกำหนดความเร็ว และกฎหมายระบบสายรัดหรือที่นั่งสำหรับเด็ก
สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรป หน่วยจัดการความปลอดภัยทางถนน มีการทำงานเชิงระบบ วางเป้าหมาย ดำเนินกิจกรรมที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ประเมินติดตามอย่างเป็นระบบทำให้เป็นประเทศที่ปลอดภัยในการเดินทางบนท้องถนนสำหรับทุกคน มีการจัดตั้งองค์กรหลักขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง ทำให้การตายจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง สวนทางกับจำนวนรถที่มากขึ้น ในสหราชอาณาจักรจำนวนรถเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่การตายลดลงครึ่งหนึ่ง ด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจของหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ทำให้เกิดการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงาน มีการสนับสนุนทรัพยากรเพื่อแก้ปัญหาอย่างชัดเจน
เวียดนาม
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีประชากร 92.7 ล้าน (พ.ศ. 2559) แต่มีจำนวนจักรยานยนต์สูงถึง 55 ล้านคัน เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้รถจักรยานยนต์สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีการใช้รถยนต์ 3.7 ล้านคัน (ขณะที่ประเทศไทยมีรถยนต์ทุกประเภท 16,862,870 ล้านคัน จักรยานยนต์ 20,475,269 ล้านคัน) จักรยานยนต์เป็นพาหนะเดินทางที่สำคัญที่สุดของชาวเวียดนามถึงร้อยละ 94 แม้ว่าจำนวนจักรยานยนต์จะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่จำนวนคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรกลับลดลงอย่างต่อเนื่องจากการใช้ความเร็วสม่่ำเสมอ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์น้อย (ขณะที่ประเทศไทยผู้ขับรถส่วนใหญ่จะใช้อัตราเร่งตลอดเวลา จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตค่อนข้างสูง) อีกทั้งความสำเร็จยังมาจากการบริหารจัดการที่ดี โดยมีหน่วยงานเจ้าภาพทำงานเต็มเวลาคือ National Traffic Safety Committee (NTSC)