นายแพทย์สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิต เป็นอันดับ 2 ของประชากรไทย โดยพบว่า ร้อยละ 80 เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด อีกร้อยละ 20 เกิดจากเลือดออกในสมอง ซึ่งการรักษาจะต้องแข่งกับเวลา เพราะทุกๆ 1 นาที จะสูญเสียเซลล์สมองไป 1.9 ล้านเซลล์ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์ และพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดและเพิ่มโอกาสรอดชีวิต โรงพยาบาลตรัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่รองรับการดูแลประชาชนในเขตสุขภาพที่ 12 และพื้นที่ใกล้เคียง ได้มีการพัฒนาระบบการรักษาโรคหลอดเลือดสมองมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้นำวิธีการรักษาที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูง คือ การใส่สายสวนหลอดเลือดสมองเพื่อลากลิ่มเลือดโดยขดลวด ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ที่ทันสมัย (Mechanical thrombectomy) มาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดใหญ่สมองอุดตัน โดยไม่ต้องผ่าตัด ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนและความพิการเนื่องจากความเสียหายของสมองได้และมีความปลอดภัยสูง เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่ นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
ด้าน นายแพทย์สมบัติ สธนเสาวภาคย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง กล่าวว่า วิธี Mechanical thrombectomy เป็นการรักษาโดยใส่สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ จากนั้นใช้ขดลวดหรือสายสวนขนาดใหญ่ลากลิ่มเลือดออกจากหลอดเลือด ร่วมกับการเอกซเรย์ด้วยเครื่อง biplane or single plane (DSA) ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์สำหรับการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยาระบบหลอดเลือดโดยเฉพาะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ ร้อยละ 40
ระยะทางการส่งต่อ มีผลต่อการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ รักษาเร็ว ย่อมเพิ่มโอกาสรอดชีวิต
พัฒนาระบส่งต่อฉุกเฉินภาคใต้ 14 จังหวัด
ในปี 2563 – 2565 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 204 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับส่งต่อจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และพัทลุง ซึ่งระยะทางที่ไกลทำให้มีผลต่อการรักษาโดยมีผู้ป่วยที่มารักษาทันภายใน 6 ชั่วโมง เพียงร้อยละ 15 โรงพยาบาลจึงพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 14 จังหวัดภาคใต้ แบบไร้รอยต่อ โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบระหว่างโรงพยาบาลตรัง โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากทีม Sky doctor ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หน่วยลำเลียงทางอากาศ 1669 กองทัพอากาศ กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี กองทัพเรือภาค 3 สำนักงานตำรวจภูธรภาค 8 จังหวัดภูเก็ต และกองทัพภาค 4 ค่ายวชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมปฏิบัติการลำเลียงทางอากาศ ส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตรัง 8 ราย ช่วยลดระยะเวลาในการส่งต่อ โดยเฉพาะจังหวัดที่ใช้ระยะเวลาเดินทางนานกว่า 3 ชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสรอดชีวิต
ทั้งนี้ โรงพยาบาลตรัง ยังคงพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองต่อเนื่อง โดยเพิ่มศักยภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองและโรคหลอดเลือดเชื่อมต่อผิดปกติในสมอง ด้วยการใส่ขดลวดผ่านสายสวนหลอดเลือดโดยไม่ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ (Coil Embolization) ปัจจุบันมีผู้เข้ารับการรักษาแล้ว 19 รายพร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์โรคหลอดเลือดสมองเพื่อดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบและหลอดเลือดสองแตกแบบครบวงจร โดยตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลตรังเป็นโรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ในปี 2570