กรมอนามัย จับมือภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนมาตรฐาน ‘โรงแรม - รีสอร์ท’ สร้างความมั่นใจท่องเที่ยวปลอดภัย เป็นมิตรต่อสุขภาพ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ขับเคลื่อนมาตรฐาน GREEN Health Hotel และพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงแรมในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยในช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา COVID-19
"ในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยวด้วยมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ต่างๆ และการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงแรมให้ได้มาตรฐาน ซึ่งจากสถานการณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว โรงแรม รีสอร์ท ในปี 2563 พบว่า โรงแรมและรีสอร์ทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยมีการดูแล และควบคุมห้องพักให้มีความสะอาดก่อนและหลังการเข้าพัก แต่การจัดการด้านคุณภาพอากาศภายในห้องพักพบว่า ภายในห้องพักร้อยละ 70 มีการสะสมของปริมาณฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และยังพบว่าภายในห้องพักบางส่วนมีปริมาณสารฟอร์มัลดีไฮด์ (CH2O) เกินค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ การจัดการเชื้อแบคทีเรียชนิดลีจิโอเนลลา (Legionella) ในระบบน้ำใช้ของสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว โรงแรมและรีสอร์ท ส่วนใหญ่ยังไม่มีระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวังเชื้อแบคทีเรียชนิดลีจิโอเนลลา (Legionella) ในระบบน้ำใช้ให้ถูกต้องตามคำแนะนำของกรมอนามัย" - นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว โรงแรม รีสอร์ท ณ ห้องดอนเมือง 2 โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร
การพัฒนามาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสุขภาพ
จะดำเนินการใน 2 ส่วนสำคัญคือ
- มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
อาทิ จัดให้มีการคัดกรองพนักงานและผู้รับบริการ รวมทั้งพนักงาน นักท่องเที่ยว หรือผู้มารับบริการต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา และมีการทำความสะอาดสถานที่ภายในโรงแรมเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยงที่มีการใช้งานร่วมกัน เป็นต้น และ
- มาตรฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสุขภาพ : GREEN Health
ได้แก่
• การจัดการมูลฝอยทุกประเภท
• การจัดการห้องส้วมและสิ่งปฏิกูล
• การจัดการด้านอนุรักษ์พลังงาน
• การจัดการอาคารและสิ่งแวดล้อม
• การจัดการสุขาภิบาลอาหาร อาหารปลอดภัย และน้ำดื่ม น้ำใช้
• รวมทั้งการจัดบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้รับบริการ หรือลูกค้า เป็นต้น
“ทั้งนี้ การพัฒนามาตรฐานโรงแรมที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (GREEN Health Hotel) จึงเป็นแนวทางให้สถานประกอบกิจการใช้ประเมินตนเอง และการปรับปรุงเพื่อเข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานในมาตรการสุขอนามัย การป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของโรงแรมและรีสอร์ทในประเทศไทย โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมกับดำเนินการในการยกระดับการพัฒนาสู่มาตรฐานอย่างยั่งยืนต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
15 ธันวาคม 2563
เกี่ยวกับโครงการ
ชื่อโครงการ
ปีงบประมาณ 2564
ยุทธศาสตร์
- 2 สร้างความเข้มแข็งระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพ
ตัวชี้วัดยุทธศาสตร์
- 16) ร้อยละของจังหวัด มีระบบจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
Cluster
กิจกรรมสำคัญ
- (60) 22.1 ยกระดับมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำใน สถานประกอบการประเภทสถานที่จำหน่ายอาหาร และการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมของสถานที่พักอาศัยชั่วคราว โรงแรม รีสอร์ท และติดตามประเมินผล"
แผนการจัดสรรงบประมาณ
- บูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
หลักการและเหตุผล
การท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งสามารถดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากกว่า 35 ล้านคนต่อปี จึงเป็นภาคธุรกิจที่สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตก้าวหน้าได้ และยังติดอันดับ 1 ใน 10 สถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของโลก โดยประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดความสนใจติดอันดับโลกกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่ได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความได้เปรียบในด้านราคาห้องพัก ค่าครองชีพที่อยู่ในระดับไม่สูง ทำให้การท่องเที่ยวในไทยมีความคุ้มค่าเงิน (Value for money) รวมทั้งการคมนาคมที่สะดวกสบายจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทยอยพัฒนาเป็นลำดับล้วนเป็นจุดแข็งเสริมให้การท่องเที่ยวไทยได้เปรียบในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงตลอดจนการดำรงชีวิตของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติมากกว่าคาดไว้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 จึงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะในส่วนที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากความกังวลของนักท่องเที่ยวตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ และข้อจำกัดด้านมาตรการควบคุมโรค ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น โรงแรม ร้านอาหาร นันทนาการ และการขนส่ง ได้รับผลกระทบมากและฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ตาม การกลับมาฟื้นตัวใหม่ของธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างเช่น โรงแรม รีสอร์ท ต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยว ในด้านความปลอดภัย สุขอนามัยที่ดี ด้วยการกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่าง ๆ รวมถึงการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงแรมให้ได้มาตรฐาน ดังนั้น สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการยกระดับการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงแรมและรีสอร์ทเพื่อสุขภาพที่ดี ปลอดภัยจากการรับบริการของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ สร้างความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาข้อมูลอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราวในพื้นที่ท่องเที่ยว นำสู่การกำหนดมาตรการและแนวทางในการพัฒนาสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
- เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) ในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานกรมอนามัย
- เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงแรมแก่บุคลากรภาครัฐที่ทำหน้าที่ควบคุมกำกับ รวมทั้งภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
เป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
- ต้นแบบสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) ดำเนินการตามมาตรฐาน 24 แห่ง
ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
- เชิงปริมาณ : สถานการณ์ความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) 1 เรื่อง
- เชิงปริมาณ : กระบวนการเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) แก่ภาคีเครือข่าย 1 ครั้ง
- เชิงคุณภาพ : สถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) มีการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมได้ตามมาตรฐานกำหนด 1 เรื่อง
วิธีการดำเนินงาน
- จัดประชุมเตรียมการการดำเนินงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว(โรงแรม และรีสอร์ท) เพื่อรองรับการท่องเที่ยว
- ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสถานการณ์และเก็บตัวอย่างด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท่องเที่ยว
- จัดจ้างผลิตคู่มือวิชาการ คู่มือ โรงแรมที่เป็นมิตรกับสุขภาพ GREEN Health Hotel
- จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท)
- มีการสุ่มประเมินมาตรฐานอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงแรมและรีสอร์ท
- จัดจ้างจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงแรมและรีสอร์ท เพื่อการท่องเที่ยวด้วยศักยภาพความมั่นคงด้านสุขภาพ (ท่องเที่ยวปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี ภายใต้ 3C (Care Clean Clear)
- จัดจ้างทำสื่อเพื่อการสื่อสารจัดการความรู้อนามัยสิ่งแวดล้อม ในการสร้างแรงจูงใจและเผยแพร่การยกระดับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) ที่ดีสู่สาธารณะ
- จ้างรวบรวบข้อมูลการพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) เพื่อรองรับการท่องเที่ยว
งบประมาณ
ระยะเวลาดำเนินการ
- 1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2564
กิจกรรม/เป้าหมาย และประมาณการงบประมาณ (ลำดับ เป้าหมาย/กิจกรรม ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ (บาท))
- จัดประชุมเตรียมการดำเนินงานพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราวเพื่อรองรับการท่องเที่ยว (โรงแรมและรีสอร์ท) 1 ต.ค. 2563 - 31 ธ.ค. 2563 4,785.00 บาท
- ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสถานการณ์และเก็บตัวอย่างด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว 1 พ.ย. 2563 - 28 ก.พ. 2564 169,970.00 บาท
- ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ค่าขนส่งตัวอย่าง ค่ารวบรวมและประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ค่าวัสดุอุปกรณ์ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 1 ธ.ค. 2563 - 31 มี.ค. 2564 110,000.00 บาท
- ค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจข้อมูลสถานการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น ค่าผลิต จัดส่งแบบสำรวจ ค่าจ้างเก็บรวบรวม ค่าผลิตรายงาน และค่าล่วงเวลา เป็นต้น 1 พ.ย. 2563 - 31 มี.ค. 2564 128,500.00 บาท
- ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว โรงแรม รีสอร์ท 1 ธ.ค. 2563 - 31 ม.ค. 2564 147,520.00 บาท
- ลงพื้นที่สุ่มประเมินมาตรฐานอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานบริการที่พักอาศัยชั่วคราว (โรงแรมและรีสอร์ท) 1 พ.ค. 2564 - 31 ก.ค. 2564 151,680.00 บาท
- จัดจ้างจัดกิจกรรมและผลิตคู่มือวิชาการเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงแรมและรีสอร์ท เพื่อการท่องเที่ยวด้วยศักยภาพความมั่นคงด้านสุขภาพ (ท่องเที่ยวปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี ภายใต้ 3C (Care Clean Clear) 1 ส.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2564 100,000.00 บาท
- จัดจ้างผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารจัดการความรู้อนามัยสิ่งแวดล้อม ในการสร้างแรงจูงใจและเผยแพร่การยกระดับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในโรงแรมและรีสอร์ทที่ดีสู่สาธารณะ 1 ส.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2564 100,000.00 บาท
รวมเป็นเงิน 912,455.00 บาท
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพจากปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการโรงแรม รีสอร์ท
- ประชาชนมีสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี อาศัยอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีพโดยปกติ
- สถานที่ให้บริการที่พักอาศัยชั่วคราว โรงแรม รีสอร์ท ได้รับการยกระดับมาตรฐานอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ
- ภาคีเครือข่ายได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่ให้บริการ ที่พักอาศัยชั่วคราว โรงแรม รีสอร์ท
ผู้รับผิดชอบโครงการ
- นางสาวปรียนิตย์ ใหม่เจริญศรี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ
- นางสาวชไมพร เป็นสุข นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
- นางสาวอุไรพร ถิ่นสถิตย์ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ
- นางสาวศิริลักษ์ กลิ่นมาลี นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ
ผู้เสนอโครงการ
- นางสาวปรียนิตย์ ใหม่เจริญศรี
ผู้เห็นชอบโครงการ
- ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม
ผู้อนุมัติโครงการ
- รองอธิบดีกรมอนามัย (นายดนัย ธีวันดา)
หน่วยงานเจ้าของโครงการ
- สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม (กลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน)