26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10 นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมแผนขยายศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เพื่อรองรับความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิที่มีศักยภาพการให้บริการขั้นสูงโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขา มีเตียงให้บริการในระบบ 1,133 เตียง อัตราครองเตียงของผู้ป่วย 92.44% ให้บริการผู้ป่วยนอกวันละเกือบ 3,000 ราย ผู้ป่วยในวันละ 1,000 ราย และยังรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 10 (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และ มุกดาหาร) นอกจากปัญหาความแออัดในการรับบริการ ยังอาจไม่ปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉินเนื่องจากการลําเลียงผู้ป่วยเป็นไปด้วยความลําบาก ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 จึงมีมติให้ขยายศักยภาพบริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และกระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อสั่งการ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ให้ขยายพื้นที่ให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ตามนโยบายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดความแออัด และลดระยะเวลารอคอย โดยให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ สร้างเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาด 300 เตียง ให้บริการด้านอายุรกรรม ศัลยกรรม กระดูกและข้อ เวชกรรมฟื้นฟู รวมถึงกลุ่มโรคเฉพาะทาง เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ, ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม/มีความผิดปกติทางจิตใจ (Neuropsychiatric and Mental Health Disorders) และเวชศาสตร์ฟื้นฟู ( Rehabilitation )
นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาโรงพยาบาลแม่และเด็กสรรพสิทธิประสงค์ ในพื้นที่แจระแม 12 ไร่ จากขนาด 100 เตียง เป็นขนาด 250 เตียง และยกระดับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ให้เป็นระดับ A+ Hospital มีศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence center) โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 10 เป็นเครือข่ายการรักษา มีการปรับโครงสร้างภายใน ลดเตียงสามัญลงเพื่อลดความแออัด และเพิ่มศักยภาพ
การให้บริการประชาชนได้มากขึ้น