ตลอดเวลา 3 ปีที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนส่วนใหญ่ต่างเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ บ้างเข้าใจว่าหากเคยติดโควิด-19 แล้ว จะไม่ติดไข้หวัดใหญ่อีก ในความเป็นจริงแล้ว ‘โรคไข้หวัดใหญ่’ ยังคงเป็นภัยเงียบที่มีการกลายพันธุ์เป็นเชื้อใหม่ทุกปี โดยล่าสุดมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ได้จัดเสวนา ‘ไข้หวัดใหญ่หายไปไหนในยุค COVID-19 และควรดูแลตัวเองอย่างไร’ ภายในงานได้รับเกียรติจาก รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ประธานคลัสเตอร์วิจัยอายุรศาสตร์เขตร้อน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถานเสาวภา ฝ่ายวิชาการ ให้ข้อมูล โดยมี รศ. นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ อาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ เพื่อย้ำเตือนและแนะแนวทางการดูแลตนเองและครอบครัวในภาคประชาชน รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในด้านการสาธารณสุขและการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า “3 ปีที่ผ่านมาไข้หวัดใหญ่ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเรื่องโควิดและมีการป้องกันตัวที่ดี เช่นการงดพบปะสังสรรค์ การสวมหน้ากากอนามัย การระวังเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลพลอยได้ ทำให้ป้องกันเชื้อโรคจากทางเดินหายใจต่างๆ ได้เกือบหมด แต่ในปัจจุบันที่สถานการณ์ต่างไป มีการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันและทำกิจกรรมตามปกติ ทำให้คาดว่าในประเทศไทยโรคไข้หวัดใหญ่น่าจะกลับมาแพร่ระบาดอย่างแน่นอน อีกทั้งที่ผ่านมา 3-4 ปี คนไม่ค่อยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนเหล่านั้นไม่มีภูมิคุ้มกัน เชื้อไข้หวัดใหญ่มีการกลายพันธุ์ไปอย่างมาก ซึ่งถ้าติดขึ้นมาจะอาการแย่ลงกว่าเก่า การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดคือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
ในประเทศไทยไข้หวัดใหญ่จะมีช่วงแพร่ระบาดในฤดูฝน ช่วงเดือนพ.ค. มิย. เป็นช่วงเวลาที่มีการบ่มเชื้อโรคมากที่สุด เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม เด็กออกไปทำกิจกรรมใกล้ชิดกัน และกลับมาเป็นพาหะพาเชื้อสู่ครอบครัว ติดผู้สูงอายุในบ้าน เช่น ปู่ย่า ตายาย ดังนั้น 2 กลุ่มหลักที่ควรสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน คือ 1. กลุ่มเด็กที่จะเป็นกลุ่มติดเชื้อเยอะและเป็นแหล่งของการแพร่กระจาย 2. กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ปอด ไต และโรคสมอง เพื่อป้องกันการอันตรายถึงชีวิต”
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) เผยว่าหากไม่มีการฉีดวัคซีนฯ ผู้ใหญ่จะมีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 5-10% ส่วนเด็กจะอยู่ที่ 20-30% ต่อปีของประชากรทั้งหมด โดยเมื่อคำนวณจากประชากรโลกที่มีทั้งสิ้น 7,000 ล้านคน แสดงว่าผู้ใหญ่ทั่วโลกอาจะติดไข้หวัดใหญ่ได้ถึง 700 ล้านคน และจำนวนนี้จะมีอาการป่วยหนักเข้านอนในโรงพยาบาล หรือเข้ารักษาใน ICU ประมาณ 5 ล้านคน และอัตราการเสียชีวิตประมาณ 5 แสนคน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่หากเราสามารถให้วัคซีนกับคนทั่วโลกในทุกปี ได้ อัตราตัวเลขนี้ต่างๆ ก็จะลดลง
สำหรับประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีการเตรียมวัคซีนแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.แบบที่ภาครัฐดำเนินการจัดหาให้ประชาชนฉีดฟรีประมาณ 6 ล้านโดส (ประชากรกลุ่มเสี่ยง กลุ่มประกันสังคม และบุคลากรทางการแพทย์) โดยเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยงก่อน และ 2. ภาคเอกชนดำเนินการจัดซื้อเอง ประมาณ 3 ล้านโดส นั่นหมายถึงคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละประมาณ 9 ล้านคน หรือคิดเป็น 12-14% ของประชากร ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวประมาณ 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ การเตรียมวัคซีนจึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งในกลุ่มเด็กที่เป็นแหล่งแพร่ระบาด และกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และยังรวมถึงกลุ่มเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง จึงเป็นหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของประชาชน และต้องเร่งดำเนินการมากขึ้น
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร ประธานคลัสเตอร์วิจัยอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “สำหรับคนที่ไม่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เมื่อติดเชื้ออาจจะมีอาการรุนแรงโดยเฉพาะปอดอักเสบ ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือบางรายต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่น โรคหัวใจหัวใจ ไตวาย โรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันแม้ว่าอายุจะน้อยกว่า 60 ปี รวมทั้งอาจพบการติดเชื้อรุนแรงในสตรีตั้งครรภ์ นอกจากนั้นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ยังอาจพบมีการติดเชื้อร่วมกับเชื้อไวรัสก่อโรคอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น เช่น โควิด-19 ไวรัสอาร์เอชวี และยังมีแบคทีเรียบางตัวเกาะในทางเดินหายใจ ในคอรอซ้ำเติม เช่น เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส คนที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มักจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งหากฉีดวัคซีนก็จะสามารถป้องกันการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้ จากสถิติตัวเลขในประเทศไทยพบว่า ผู้สูงอายุเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนอายุน้อยถึงเกือบ 70 เท่า และผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังเมื่อป่วยไข้หวัดใหญ่และมีปอดอักเสบพบว่าเสียชีวิตมากกว่าคนอายุน้อยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังถึงเกือบ 30 เท่า
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงอีกข้อคือ การทิ้งรอยโรคของผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรงที่แม้เดิมจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่เมื่อหายป่วยแล้วพบว่า บางรายมักจะมีอาการทรุดลง หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า Deconditioning เช่น ช่วยเหลือตนเองได้ลดลงต้องมีผู้ดูแล หรือผู้สูงอายุที่เดิมช่วยเหลือตนเองไม่ค่อยได้อยู่แล้วหลังป่วยหนักทำให้เกิดภาวะผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย แต่ยังกระทบผู้คนรอบข้างเช่นกัน ดังนั้นหากเป็นไปได้ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะดีที่สุดเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่จะนำไปสู่การป่วยรุนแรง โดยในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด คือ ชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่ภาครัฐให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และชนิด 4 สายพันธุ์ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สตรีตั้งครรภ์ และมีจำหน่ายโดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก โดยทั้ง 2 ชนิดให้ผลดี แต่อย่างไรก็ดีด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ วัคซีนแบบชนิด 4 สายพันธุ์มีการพัฒนาให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจุดด้อยในร่างกาย คือ เมื่ออายุมากขึ้นการตอบสนองวัคซีนที่ใช้ทั่วไปต่ำกว่าคนอายุน้อย ดังนั้นสำหรับผู้สูงอายุหากต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเลือกที่มีประสิทธิภาพครอบคลุม ภายใต้การดูแลของแพทย์”
รศ. นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ อาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการ เราหวังให้ภาครัฐตระหนักถึงกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ นั่นคือมีการเพิ่มจำนวนการฉีด ขยายการฉีดวัคซีนให้เป็นแบบ 4 สายพันธุ์ และเพิ่มงบประมาณการฉีดวัคซีนสู่ประชากรวัยแรงงาน เพื่อเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง เป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งหากไม่มีการฉีดวัคซีนที่เพียงพอและเกิดการแพร่ระบาด ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาส และสูญเสียทรัพยากรกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามากเสียยิ่งกว่าการป้องกัน ตามหลักการคำนวณด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข โดยผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคติดเชื้อต่างๆ เพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ http://www.ift2004.org/ หรือทางทางเพจของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่
คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์
มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ตระหนักถึงผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่และเห็นถึงความสำคัญในการรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแนะแนวทางในการดูแลตัวเอง ในประชาชนทั่วไป และในกลุ่มผู้สูงอายุ จึงได้มีการจัดงาน
“ไข้หวัดใหญ่หายไปไหนในยุค COVID-19 และควรดูแลตัวเองอย่างไร” ร่วมรับฟังเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ โดย รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ และ ศ.นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร พร้อมด้วย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เพื่อมุ่งเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุ อาการของโรค แนวทางการป้องกัน ปัจจัยเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัส ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการดูแลตัวเองในเพื่อก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ
ในวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้อง The MITR-TING ROOM ชั้น 5 สามย่าน มิตรทาวน์ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟสบุ๊ค
มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่