รายงานข่าวจากปศุสัตว์จังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลจังหวัดสมุทรสาคร มีคำพิพากษาคดีลักลอบค้าหมูเถื่อนตามคดีดำที่ 655/2566 และคดีแดงที่ 682/2566 สืบเนื่องจากรณีตรวจพบซากสุกรเถื่อน จำนวน 420,577.28 กิโลกรัม ภายในห้องเย็นของบริษัท อนุสรณ์มหาชัยห้องเย็น จำกัด ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ไม่สามารถแสดงเอกสารแหล่งที่มา อันเข้าข่ายเป็นความผิด พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยศาลตัดสินให้นายวันชัย แซ่อึ้ง จำเลยที่ 1 จำคุก 15 เดือน ปรับ 35,000 บาท และนางสาวกันต์ฤทัย สนองมโนนอบ จำเลยที่ 2 จำคุก 9 เดือน ปรับ 25,000 บาท ซึ่งโทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี และให้คุมประพฤติ 1 ปี
ทั้งนี้ จากการสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งกรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องเย็นของบริษัทดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ 59/ หมู่ 8 ต.ท่าทราย อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2565 พบซากสุกรแช่แข็งลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบด้วยชิ้นส่วนกระเพาะ ขาหมู หูหมู จมูกหมู ลิ้นหมู เศษหมู หางหมู ซี่โครง ลำไส้ หลอดลม ขั้วตับ และหลอดเลือดหมู รวม 12 รายการ น้ำหนักรวม 420,577.28 กิโลกรัม เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการอายัดซากไว้ เนื่องจากเป็นซากสุกรที่กรมปศุสัตว์ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศ โดยบริษัทฯ ไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ จึงมีการดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด
การตัดสินคดีการจับกุม “หมูเถื่อน” ของบริษัทดังกล่าว นับเป็นรายแรกที่มีการทำสำนวนการสอบสวนสั่งฟ้องผู้ต้องหา ต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร ภายหลังประเทศไทยประสบปัญหาการนำเข้าซากสุกรผิดกฎหมายจำนวนมากจากประเทศทางตะวันตก เช่น บราซิล เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ สเปน เป็นต้น ทำให้เกิดความเสียต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม นับตั้งแต่ไทยประกาศพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ทั้งยังเป็นการบิดเบือนกลไกราคาสุกรในประเทศ ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรได้รับควาเดือนร้อน และความปลอดภัยของผู้บริโภคที่อาจได้รับสารปนเปื้อนและสารเร่งเนื้อแดงจากซากสัตว์ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ บั่นทอนสุขอนามัยที่ดีของคนไทย
ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปราม “หมูเถื่อน” อย่างเคร่งครัดและรัดกุม ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรและผู้บริโภค โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ เข้มงวดทลายและกวาดล้างขบวนการนำเข้าเนื้อหมูผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน เพราะทำให้เกิดความกังวลและความเสี่ยงต่อการนำเชื้อไวรัส หรือพาหะต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคระบาดร้ายแรง โดยเฉพาะโรค ASF ในสุกรเข้าสู่ประเทศ เสี่ยงทั้งโรคระบาดและสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ตลอดจนผู้บริโภค
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกรณีการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องในและเนื้อสุกรจำนวนทั้งสิ้น 42 คดี ปริมาณน้ำหนักรวม 1,089,514 กิโลกรัม มูลค่ามากกว่า 219 ล้านบาท โดยแบ่งดำเนินการกับซากสุกรของกลางเป็น 3 ส่วน คือ ทำลายแล้ว 179,612 กิโลกรัม มูลค่า 71 ล้านบาท ส่วนที่สองอยู่ในระหว่างดําเนินคดี 186,116 กิโลกรัม มูลค่า 25 ล้านบาท เมื่อคดีสิ้นสุดจะได้ดำเนินการทำลายต่อไป และส่วนที่สามรวบรวมเพื่อทำลาย 723,786 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 123 ล้านบาท ซึ่งมีการทำลายซากจำนวนนี้ไปเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566