ติดตามรายงาน แผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ ตามคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ต่อ ครม. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน "รายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ประจำปี 2563" และ ครม.มีมติรับทราบการดำเนินการ
ในรายงานนี้ จะทำให้เห็นภาพของ ความพยายามในการสร้าง "แผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ" ให้กับประชาชนไทย แผนงานเน้นการสร้างแหล่งเงินออม ระบบการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ เป็นสำคัญ ให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งประเทศอย่างทั่วถึงและสร้างความเพียงพอด้านรายได้เพื่อดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ ตลอดจนพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย
รายงานครอบคลุมสถานะการดำเนินการ 3 ระดับ คือ แผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ กำลังเดินการ และงานที่ล่าช้ากว่าแผน ดังนี้
1. ดำเนินการแล้วเสร็จ
จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่
1) การศึกษาเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นแหล่งเงินออมสำคัญในการรองรับการเกษียณอายุ และ
2) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
2. อยู่ระหว่างดำเนินการ
จำนวน 5 แผนงาน เช่น
1) การจัดให้มีผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทุกระบบของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มีนาคม 2564) อนุมัติหลักการของ (ร่าง) พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.คนบ.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
2) การจัดให้มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มีนาคม 2564) อนุมัติหลักการของ (ร่าง) พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ
3) การจัดตั้งระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เมื่อร่าง พ.ร.บ. คนบ. และร่าง พ.ร.บ. กบช. มีผลใช้บังคับ
3. ล่าช้ากว่ากำหนด
จำนวน 1 แผนงาน คือ การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
รายงานฉบับเต็ม 7 ประเด็น ต่อครม.
รายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ประจำปี 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560 - 2564) ประจำปี 2563 ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการหลัก 17 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 65 แผนงาน โดยดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 29 แผนงาน อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 32 แผนงาน ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 3 แผนงาน และไม่เป็นไปตามแผน จำนวน 1 แผนงาน [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (12 กันยายน 2560) ที่ให้คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย (คณะกรรมการฯ) รายงานผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนฯ ให้คณะรัฐมนตรีทราบทุกปี] สรุปได้ ดังนี้
1. การเป็นแหล่งทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และนวัตกรรม มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ SMEs และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ ประกอบด้วย 4 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
1.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่
(1) การระดมทุนของกิจการจากบุคคลจำนวนมากด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) ด้วยระบบสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคลและ
(2) การเตรียมการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการซื้อขายสำหรับนักลงทุนประเภทพิเศษ
1.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่
(1) การจัดทำกลไกแบบจำลองคะแนนเครดิต (Credit Scoring) ให้แก่ SMEs โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2563) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และ
(2) การสนับสนุนให้ SMEs และ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) อยู่ระหว่างหารือแนวทางการกำกับดูแลและการกำหนดประเภทผู้ลงทุนสำหรับแพลตฟอร์มการระดมทุนและการขายหลักทรัพย์
2. การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่งเสริมให้การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถเติบโตรองรับการลงทุนในระดับภูมิภาคได้และมุ่งเน้นให้มีการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ประกอบด้วย 3 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
2.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 แผนงาน คือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย
2.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 1 แผนงาน คือ การแก้ไขกฎหมายให้หน่วยงานที่ยังไม่สามารถนำส่วนแบ่งรายได้จากทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานของตนมาเข้ากองทุนสามารถทำได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (25 ธันวาคม 2561) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. ... เพื่อรองรับการดำเนินการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยของกรมทางหลวง (ทล.) ต่อมาในคราวประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 ที่ประชุมมีมติให้ ทล. รับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว โดย ทล. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อสังเกตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
2.3 ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 1 แผนงาน คือ การพิจารณาหลักเกณฑ์ทางภาษีของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอจากสำนักงาน ก.ล.ต. และความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
3. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย มุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพตลาดทุนไทย การส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม การปรับปรุงกฎระเบียบ การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม การยกระดับมาตรฐานและความน่าเชื่อถือ และการสร้างบุคลากรในตลาดทุนประกอบด้วย 33 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
3.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 19 แผนงาน เช่น (1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ [พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562] (2) การพัฒนาระบบการชำระเงินสำหรับตลาดทุน (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน และ (4) การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยเทคโนโลยี
3.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 12 แผนงาน เช่น
(1) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมกิจการ เช่น (ร่าง) พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (12 มีนาคม 2562) อนุมัติหลักการให้รวมร่างกฎหมายที่มีประเด็นเกี่ยวกับการควบรวมกิจการกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระทรวงพาณิชย์จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
(2) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับการจัดตั้งทรัสต์เพิ่มเติมจากทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 มีนาคม 2564) เห็นชอบให้ กค. ถอน(ร่าง) พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล พ.ศ. ... เพื่อนำไปศึกษาทบทวนตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และ
(3) การศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการให้บริการกู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์วางเป็นหลักประกัน โดยในคราวประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 ที่ประชุมมีมติไม่ขัดข้องในหลักการการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถกู้ยืมเงินโดยมีหลักทรัพย์เป็นหลักประกันโดยไม่จำกัดเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์เท่านั้น และให้สอบถามความเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ กค. เกี่ยวกับการดูแลควบคุมความเสี่ยงและข้อจำกัดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างนำความเห็นของ ธปท. และ กค. มาประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
3.3 ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 1 แผนงาน คือ การเตรียมความพร้อมรองรับการประเมินระบบการกำกับดูแลตลาดทุนไทยตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษานโยบายเสถียรภาพระบบการเงิน
3.4 ไม่เป็นไปตามแผน จำนวน 1 แผนงาน คือ การเปิดให้บุคคลที่ไม่ใช่ผู้ออกหลักทรัพย์สามารถนำหลักทรัพย์อื่นมายื่นขอจดทะเบียนเพื่อทำการซื้อขายใน ตลท. ได้ อย่างไรก็ตาม สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ขอถอนเรื่องดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าผู้ลงทุนสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยตรงหรือลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านการลงทุนตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้แล้ว
4. การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค มุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประเทศไทย (ไทย) เป็นแหล่งระดมทุนและการลงทุนจากประเทศที่ต้องการลงทุนในภูมิภาคประกอบด้วย 7 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
4.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่
(1) การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามและ
(2) การเตรียมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ไทยเป็นจุดเชื่อมโยงการให้บริการด้านการเงินของภูมิภาค
4.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แผนงาน เช่น
(1) การอำนวยความสะดวกให้เกิดผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนให้ผู้ออกหลักทรัพย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนของไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างเสนอหลักการการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจดทะเบียนหลักทรัพย์ข้ามประเทศต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ
(2) การสร้าง International Product Platform เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามตลาดและการลงทุนต่างประเทศที่ง่ายขึ้น โดย ตลท. ได้ดำเนินการร่วมกับธารณรัฐประชาชนจีน (ตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐสิงคโปร์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามตลาด ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. ปรับแก้หลักเกณฑ์
5. การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศ รวมทั้งสร้างศักยภาพในการขยายตัวของเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการออมระยะยาวให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งประเทศอย่างทั่วถึงและสร้างความเพียงพอด้านรายได้เพื่อดำรงชีพหลังการเกษียณอายุ ตลอดจนพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ประกอบด้วย 8 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
5.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่
(1) การศึกษาเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นแหล่งเงินออมสำคัญในการรองรับการเกษียณอายุ และ
(2) การจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
5.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แผนงาน เช่น
(1) การจัดให้มีผู้ทำหน้าที่กำหนดนโยบายระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุทุกระบบของประเทศ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มีนาคม 2564) อนุมัติหลักการของ (ร่าง) พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ.คนบ.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
(2) การจัดให้มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 มีนาคม 2564) อนุมัติหลักการของ (ร่าง) พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. ... (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และ
(3) การจัดตั้งระบบทะเบียนกลางด้านบำเหน็จบำนาญของประเทศ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เมื่อร่าง พ.ร.บ. คนบ. และร่าง พ.ร.บ. กบช. มีผลใช้บังคับ
5.3 ล่าช้ากว่ากำหนด จำนวน 1 แผนงาน คือ การพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างแผนพัฒนาทักษะทางการเงินเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
6. การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางที่จะเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันและรองรับทุกกิจกรรมในตลาดทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย 3 แผนงาน มีสถานะการดำเนินการ ดังนี้
6.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1 แผน คือ การพัฒนาการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยี Blockchain
6.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางในตลาดทุน โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการทดสอบระบบในโครงการ Regulatory Sandbox นอกจากนี้ ตลท. และ ธปท. อยู่ระหว่างหารือแนวทางการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุนในส่วนของข้อมูลตลาดแรก (Primary Market) และ
(2) การพัฒนากฎเกณฑ์รองรับการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล (Securities Token Offering: STO) โดยสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักการเพื่อรองรับแนวโน้ม และพัฒนาการของเทคโนโลยีและการดำเนินการของต่างประเทศ
7. การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนทั้งระบบและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม รวมทั้งการส่งเสริมผู้ระดมทุนและกิจการให้ตระหนักถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และมุ่งส่งเสริมพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ประกอบด้วย 7 แผนงาน มีสถานะดำเนินการ ดังนี้
7.1 ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 แผนงาน ได้แก่
(1) การพัฒนาศูนย์รวมข้อมูลสำหรับหลักทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และกองทุนรวม และ
(2) การออกพันธบัตรสีเขียว พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม
7.2 อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แผนงาน เช่น
(1) การจัดทำแผนงาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับตลาดทุนไทย โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เสนอกรอบการจัดทำแผนงานฯ ต่อคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของตลาดทุนไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 โดยคณะทำงานฯ เห็นควรให้จัดทำโครงการนำร่อง จำนวน 1 เรื่อง และ
(2) การพัฒนาและสนับสนุนเครื่องมือระดมทุนเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (เป็นแผนงานต่อเนื่อง) เช่น กค. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การเคหะแห่งชาติ และภาคเอกชน ได้เสนอขาย SDGs Bond ในปี 2563 มูลค่ารวม 8.64 หมื่นล้านบาท
ThaiGov
4 พฤศจิกายน 2564