นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังผู้แทนชมรมพยาบาล 5 ชมรม ประกอบด้วย ชมรมผู้บริหารทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย ชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ชมรมพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ชมรมพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย และชมรมพยาบาลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เข้าพบเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาด้านกำลังคนทางการพยาบาล ว่า ปัจจุบันพยาบาลเป็นวิชาชีพหนึ่งที่กำลังมีปัญหาขาดแคลน ขณะที่ปัญหาสุขภาพและความต้องการบริการสุขภาพของประชาชนมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กองการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงมีการประชุมหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ ประธานเครือข่ายพยาบาลเขตสุขภาพ ทั้ง 13 เขต ผู้แทนพยาบาลจากชมรมต่างๆ และร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นปัญหา/แนวทางแก้ไขด้านกำลังคนทางการพยาบาลทั้งระบบ เพื่อนำเสนอผู้บริหารพิจารณาตัดสินใจเชิงนโยบาย
โดยมีข้อเสนอการแก้ไขปัญหาด้านกำลังคนทางการพยาบาล 4 ประเด็น ได้แก่
1.การบริหารอัตรากำลังทางการพยาบาล ซึ่งจากการวิเคราะห์ภาระงานพบว่า ปัจจุบันมีพยาบาลเพียงร้อยละ 77 ของกรอบอัตรากำลังที่ควรมี และยังต้องทำงานทดแทนกำลังคนที่ลาป่วย/คลอด/ลาศึกษาต่อ ส่งผลให้ชั่วโมงการทำงานในหนึ่งสัปดาห์สูงเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งยังมีการสูญเสียพยาบาลที่มีประสบการณ์/ความเชี่ยวชาญ จากการเกษียณอายุราชการด้วย จึงขอให้เพิ่มตำแหน่งการจ้างงานพยาบาลวิชาชีพ และผู้ช่วยพยาบาล และปรับให้ใช้เลขตำแหน่งว่างของผู้เกษียณได้เร็วขึ้น รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยทดแทนการทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะทางวิชาชีพ
2.ด้านความก้าวหน้า ค่าตอบแทนและคุณภาพชีวิต พยาบาลวิชาชีพในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังมีความเหลื่อมล้ำกับผู้ที่ปฏิบัติงานในสังกัดกรมต่างๆ จึงขอเพิ่มการกำหนดระดับชำนาญการพิเศษ ให้ได้ร้อยละ 20 ของพยาบาลวิชาชีพที่มี และเพิ่มระดับเชี่ยวชาญ ในโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย โรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมทั้งปรับเพิ่มค่าจ้างพยาบาลวิชาชีพประเภทลูกจ้างชั่วคราว และปรับค่าตอบแทนเงินเพิ่มพิเศษให้ทัดเทียมกับกระทรวงอื่น ดูแลสวัสดิการและคุ้มครองการทำงานให้มีความปลอดภัย รวมถึงมีสิทธิประโยชน์แก่ทายาท กรณีที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากการปฏิบัติงาน
3.สมรรถนะและแผนพัฒนากำลังคนทางการพยาบาล จะมีการกำหนดแผนพัฒนาขีดความสามารถของพยาบาลวิชาชีพ คือ พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง ผู้มีประสบการณ์สูงทางคลินิก ตลอดจนพยาบาลรุ่นเยาว์ และจัดตั้งศูนย์ศึกษาด้านการพยาบาล (ชั้นคลินิก) เพื่อพัฒนาสมรรถนะของพยาบาลในแต่ละเขตสุขภาพ และ 4. ด้านโครงสร้างหน่วยงานในราชการบริหารส่วนภูมิภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอให้มีการทบทวนโครงสร้างงานบริการพยาบาล ให้สอดคล้องกับบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ บริการไตเทียม บริการสุขภาพจิตและยาเสพติด เป็นต้น และควบรวมบริการสุขภาพบางประเภทในโรงพยาบาลขนาดเล็ก รวมถึงกำหนดพยาบาลวิชาชีพในกลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด