องค์การอนามัยโลกรายงานแนวโน้มในระดับภูมิภาคในช่วง 28 วันที่ผ่านมา
• ภูมิภาค 5 ใน 6 แห่ง* แบ่งโดยองค์การอนามัยโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง ยกเว้นภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 137%
• ภูมิภาคทั้ง 6 แห่งมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 ลดลง และที่ลดลงมากที่สุดคือภูมิภาคยุโรป (-71%)
• ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดในช่วง 28 วัน ได้แก่ **สาธารณรัฐเกาหลี (+243%)**, บราซิล (-39%) ออสเตรเลีย (-77%) สิงคโปร์ (-43%) และอิตาลี (- 22%) เทียบกับเมื่อ 28 วันก่อน
• ประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตรายใหม่สูงสุดในช่วง 28 วัน ได้แก่ **สาธารณรัฐเกาหลี (+91%)**, บราซิล (-42%) สหพันธรัฐรัสเซีย (-52%) เปรู (-61%) และออสเตรเลีย ( -82%)
รายงานจากองค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2566 พบสาธารณรัฐเกาหลีมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (+243%) และผู้เสียชีวิตรายใหม่ (+91%) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในช่วง 28 วันที่ผ่านมา
สาเหตุมาจากหลายปัจจัย:
1. ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว: ประชากรสูงวัยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 รุนแรง นำไปสู่การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น
2. การตรวจหาไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยเทคนิค PCR ในวงกว้างทั่วประเทศ (PCR Mass testing): การทดสอบ PCR ที่เพิ่มขึ้นในเกาหลีใต้สามารถนำไปสู่รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นได้
เกาหลีใต้มีการทดสอบ PCR กับทุกคนโดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะแสดงอาการหรือไม่ กลยุทธ์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสในประเทศ เกาหลีใต้ได้ทำการทดสอบอย่างครอบคลุม โดยสามารถทดสอบผู้คนได้เฉลี่ย 12,000 ถึง 20,000 คนต่อวันที่ศูนย์ทดสอบแบบไดรฟ์ทรูและวอล์กอินหลายร้อยแห่ง การระบุและแยกผู้ติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงกรณีที่ไม่แสดงอาการและไม่มีอาการ จะช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสในประเทศได้
นอกจากนี้เกาหลีใต้ได้เริ่มการตรวจสอบจำนวนของไวรัสโควิด-19 ที่ปะปนอยู่ในน้ำเสียจากสิ่งปฏิกูลในโรงบำบัดน้ำเสียของเมืองใหญ่ 64 แห่งทั่วประเทศ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ด้วยเทคนิค Real-time PCR ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่กำลังดำเนินการในสหรัฐอเมริกา สามารถช่วยให้เกาหลีใต้เปลี่ยนไปสู่ระบบการตรวจสอบไวรัสที่มีราคาย่อมเยามากขึ้น สามารถแจ้งเตือนการระบาดของโควิดในชุมชนก่อนที่จะมีผู้แสดงอาการเจ็บป่วย หรือเข้ารักษาตัวใน รพ. วิธีการนี้ยังสามารถตรวจสอบเชื้อโรคอื่นนอกร่วมไปด้วย เช่น โรคโปลิโอ ไข้หวัดใหญ่ โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบจากไวรัส เชื้อโรคที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ โรคจากอาหารปนเปื้อนจุลชีพ เช่น โนโรไวรัส เชื้อซัลโมเนลลา คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ แคมพิโลแบคเตอร์ สแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส อหิวาตกโรค และโรคฝีดาษลิง ฯลฯ
3. หากมีผู้ป่วยพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ระบบการรักษาพยาบาลจะมีปัญหาในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น
4. ความไม่ไว้วางใจ ความอ่อนล้า และการต่อต้านนโยบายของรัฐบาล: การต่อต้านนโยบายของรัฐบาลและความเหนื่อยล้าจากมาตรการป้องกันการระบาดใหญ่อาจส่งผลให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันน้อยลง ซึ่งนำไปสู่การแพร่ระบาดของไวรัสที่เพิ่มขึ้น
5. การอุบัติขึ้นของโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ EG.5.1 ทำให้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ในเกาหลีใต้พบโอมิครอน EG.5.1 ระบาดมากกว่าร้อยละ 20
รัฐบาลเกาหลีใต้ชะลอแผนผ่อนปรนโควิด
จากการระบาดรุนแรงที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผู้เสียชีวิต ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ตัดสินใจชะลอแผนที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดโควิด-19 ทั้งหมดและย้อนกลับไปใช้มาตรการที่ใช้ในระหว่างการระบาดของโควิด-19 พบว่า สายพันธุ์หลักนำการระบาดเป็นโอมิครอน “EG.5.1” หรือ "Eris"
การตัดสินใจของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ชะลอแผนการผ่อนปรนข้อจำกัดโควิด-19 ทั้งหมดนี้มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชากร และเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสต่อไป
- รัฐบาลเดิมได้วางแผนที่จะปรับลดระดับโรคติดเชื้อ COVID-19 เป็นระดับต่ำสุดคือระดับ 4 จากระดับ 2 ในปัจจุบัน เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะปกติอย่างเต็มรูปแบบสำหรับ ระบบการแพทย์
- ด้วยการปรับเปลี่ยนนี้ไประดับ 4 หมายถึงการยกเลิกคำสั่งให้ใช้หน้ากากอนามัยที่ในโรงพยาบาลทั่วไปและสถานบริการที่มีความเสี่ยงสูงอื่นๆ และรัฐบาลจะหยุดการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด
- ในเกาหลีใต้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่สี่ของเดือนมิถุนายน และคาดว่าตัวเลขรายวันจะสูงถึง 76,000 รายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม
- จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ที่แชร์ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลก “จีเสส (GISAID)” ระหว่าง 15 ก.ค. 2566-7 ส.ค. 2566 พบว่าสายพันธุ์หลักที่ระบาดเป็นโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1) โดยพบถึงร้อยละ 21
ในขณะที่ประเทศไทยพบโอมิครอน EG.5.1 เพียง 8 ราย และเมื่อวิเคราะห์ความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า XBB.1.16 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักเพียง 1 % ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จีโนมจนถึงปัจจุบัน สรุปได้ว่าเราควรตระหนัก แต่ไม่จำเป็นต้องตระหนกถึงการระบาดของ EG.5.1 ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ในเกาหลีใต้ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ถือเป็นสัญญาณเตือน (A wake-up call) ในการเตรียมพร้อมรับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยทางศูนย์จีโนมฯ จากเดิมได้ทิ้งช่วงไปได้กลับมาถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ทั้งจีโนมจากสิ่งส่งตรวจจากผู้ติดเชื้อโควิดเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB โดยเฉพาะโอไมครอน EG.5.1 (XBB.1.9.2.5.1)