โรคหลอดเลือดดำที่ขา
ขาเป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยให้เราเคลื่อนไหวได้ตลอดเวลา ขาช่วยให้เราทำกิจกรรมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ได้อย่างมีอิสระและมั่นใจ ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่ขาของตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ควรกระดำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องพึ่งขาทั้ง 2 ข้าง เป็นหลัก เช่น ครู พยาบาล จราจร แม่ครัว ช่างเสริมสวย พนักงานขาย เป็นต้น อาชีพเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้ขาทั้ง 2 ข้าง ยืนอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ อย่างน้อยวันละ 4-6 ชั่วโมง
การยืนอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดขา ซึ่งอาจเกิดจากกล้ามเนื้อขาเมื่อยล้า ถ้าได้นั่งพักหรือนวดเบา ๆ บริเวณที่ปวดเมื่อย อาการอาจทุเลาหรือลายไปได้ แต่ถ้าอาการปวดขาที่เกิดจากการผิดปกติในการทำงานของหลอดเลือดดำ ทำให้การไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจไม่สะดวก เกิดการคั่งค้างของเลือดก็จะเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการปวดขา เช่น อาจรู้สึกขาหนักถ่วง ๆ เมื่อยล้า บวม ชา หรือร้อนวูบวาบในบางครั้งมักเป็นตะคริวในเวลาเย็นหรือกลางคืน โดยที่อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเป็นประจำ จนกระทั่งรบกวนความรู้สึกและการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
อาการดังกล่าวถือเป็นอาการเริ่มต้นหรือสัญญาณเตือนของการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดดำที่ขา ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดดำอาจมากขึ้นจนเห็นได้ชัด เช่น เส้นเลือดขอดอักเสบ แผลเรื้อรัง เกิดลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น
อาการที่สังเกตได้
- อาการหรือสัญญาณเตือน เมื่อหลอดเลือดดำที่ขาเริ่มหย่อนสมรรถภาพ จะทำให้เกิดการไหลย้อนกลับและการคั่งค้างของเลือดภายในหลอดเลือดดำ คุณอาจรู้สึกถึงอาการต่าง ๆ เช่น ปวดขา ขาหนัก เมื่อยขา ชา ร้อน บวม เป็นตะคริวในเวลากลางคืน โดยอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นบ่อย จนทำให้รู้สึกหงุดหงิดและประสิทธิภาพของการทำงานของขาลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลรบกวนคุณภาพชีวิตโดยรวม
- ปล่อยทิ้งไว้ ไม่สนใจดูแลขา...เส้นเลือดขอด....มาเยือน เมื่อเกิดการคั่งค้างของเลือดเป็นเวลานาน ๆ ผนังของหลอดเลือดจะถูกดันจนโป่งพองและสามารถเห็นได้จากผิวนอก ซึ่งเรียกว่า “เส้นเลือดขอด” เส้นเลือดขอด มักก่อความกังวลใจโดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องใส่กระโปรง และยังมีโอกาสลุกลามไปสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันเสียแต่เนิ่น ๆ
- อาการที่รุนแรงในภายหลัง เมื่อหลอดเลือดดำของขนาดใหญ่เสื่อมสภาพไป จะส่งผลกระทบถึงระบบหลอดเลือดฝอย และระบบน้ำเหลืองซึ่งอยู่ต่อเนื่องกัน ทำให้การหมุนเวียนเลือด และน้ำเหลืองผิดปกติ เกิดการคั่งค้างทำให้เกิดอาการบวมอักเสบ และลุกลามจนเป็นแผลเรื้อรังหรือเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
การรักษา
- เมื่อเริ่มต้นมีอาการหรือสัญญาณเตือน ควรเริ่มต้นปรับพฤติกรรมบางอย่าง ในชีวิตประจำวัน โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้น แต่ในกรณีที่อาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อาจจะได้รับการพิจารณาให้รับประทานยาที่ช่วยรักษาความผิดปกติของหลอดเลือดดำ และช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย
- ในระยะที่มีเส้นเลือดขอด บวม แผลเรื้อรัง การรับประทานยาจะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาถึงแนวทางการรักษาด้วยวิธีทางศัลยกรรม หรือฉีดยาร่วมด้วย
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัว
- ไม่ควรยืนนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ ถ้าจำเป็นควรเปลี่ยนอริยาบทบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงไม่ให้ขาสัมผัสกับความร้อน เช่น อาบน้ำที่ร้อนเกินไป ยืนบนพื้นร้อน ๆ อาบแดดนาน ๆ
- สวมรองเท้าสูงไม่เกิน 5 ซม.
- ในกรณีที่ต้องยืนนาน ๆ ควรสวมถุงน่องที่ช่วยพยุง และกระชับกล้ามเนื้อขา ซึ่งมีแรงบีบรีดไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตรปรอท และควรสวมตั้งแต่เท้าจนถึงเหนือเข่า
- ออกกำลังกายที่ช่วยให้กล้ามเนื้อ และหลอดเลือดแข็งแรง เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ขี่จักรยาน แต่ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่รุนแรงเกินไป เช่น กระโดดสูง กระแทกเท้า
- ยกเท้าสูงประมาณ 45 องศา ขณะนอนพัก จนกระทั่งรู้สึก สบายขึ้น จึงนอนต่อในท่าปกติ
- ไม่ควรปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินไป