25 สิงหาคม 2566 นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่เมืองสุขภาพดี ปี 2566 ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนภารกิจการส่งเสริมสุขภาพกลุ่มวัย สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการเมืองสุขภาพดี โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเป้าหมายในการขับเคลื่อนดำเนินงาน เพื่อยกระดับสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี ถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นที่ มีความใกล้ชิดและเข้าใจถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นอย่างดี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพ และได้รับการส่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มวัย ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1) Healthy Environments: สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อสุขภาพ
2) Healthy Settings: สถานที่ที่เอื้อต่อสุขภาพ และ
3) Healthy People: ประชาชนรอบรู้และสุขภาพดี
“ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานในปี 2566 กรมอนามัยได้ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ขับเคลื่อนดำเนินงานยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การเป็นเมืองสุขภาพดี จำนวนทั้งสิ้น 108 แห่ง โดยผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทอง จำนวน 14 แห่ง (ร้อยละ 12.96) ผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับเงิน จำนวน 39 แห่ง (ร้อยละ 36.11) และผ่านการประเมินรับรองเมืองสุขภาพดีระดับทองแดง จำนวน 55 แห่ง (ร้อยละ 50.93) นอกจากนี้ กรมอนามัยได้มอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่เทศบาลเมืองแสนสุข จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบเมืองสุขภาพดี ในการยกระดับงานอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน รองรับการใช้ชีวิตตามแนววิถีใหม่ (New Normal) ทั้งในมิติสถานประกอบการ มิติชุมชน และมิติการพัฒนาคุณภาพระบบบริการอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นต้นแบบเมืองสุขภาพดี รวมทั้งได้มอบโล่เชิดชูเกียรติแก่เทศบาลตำบลบ้านฉาง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องยกระดับมาตรฐานเมืองอุตสาหกรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีอีกด้วย จากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว กรมอนามัยได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีเมืองสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว