ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวโน้มเชิงบวกนี้จะสามารถดำรงไว้จนนำไปสู่การปล่อยตัวประกันทั้งหมด ซึ่งมีคนไทยผู้บริสุทธิ์รวมอยู่ด้วย โดยเร็วที่สุด ตามที่ไทยได้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณและชื่นชมรัฐบาลกาตาร์ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา อียิปต์ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความพยายามและการเจรจาเพื่อนำมาสู่การปล่อยตัวประกันครั้งล่าสุดนี้ และขอแสดงความปรารถนาดีไปยังผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวและครอบครัวด้วย
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ห่วงใยต้องการให้ปล่อยตัวประกันชาวไทยโดยเร็ว
24 พฤศจิกายน 2566 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ห่วงใยและได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าการช่วยเหลือตัวประกันไทยที่อยู่ในพื้นที่สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ซึ่งมีรายงานว่าได้มีการเจรจาและบรรลุข้อตกลงให้หยุดการสู้รบเป็นเวลา 4 วัน เพื่อเหตุผลทางด้านมนุษยธรรม โดยเริ่มวันนี้ (วันศุกร์ที่ 24 พ.ย. 2566) เวลา 07.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (0500 GMT) และในช่วงบ่ายของวันเดียวกันคาดว่าจะมีการปล่อยตัวประกันที่ถูกจับกุมไปด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวประมาณ 13 ราย และจะได้รับการปล่อยตัวเพิ่มอีก 50 คนในช่วง 4 วันของข้อตกลง
โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ว่า “ยินดีกับความตกลงล่าสุดที่จะเริ่มปล่อยตัวประกันที่ถูกจับไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและฉนวนกาซาเพิ่มเติมในวันนี้ ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าอันสำคัญหลังความพยายามในการเจรจาอย่างเต็มที่ของทุกฝ่ายในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีความยินดีที่มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรม ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงผู้ที่ต้องการได้ ประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวโน้มเชิงบวกนี้จะสามารถดำรงไว้จนนำไปสู่การปล่อยตัวประกันทั้งหมด ซึ่งมีคนไทยผู้บริสุทธิ์รวมอยู่ด้วย โดยเร็วที่สุด ตามที่ไทยได้เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงการต่างประเทศขอขอบคุณและชื่นชมรัฐบาลกาตาร์ อิสราเอล สหรัฐอเมริกา อียิปต์ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในความพยายามและการเจรจาเพื่อนำมาสู่การปล่อยตัวประกันครั้งล่าสุดนี้ และขอแสดงความปรารถนาดีไปยังผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวและครอบครัวด้วย”
“นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์ด้วยความหวัง สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการด้วยทุกวิถีทางในทุกช่องทาง เพื่อให้คนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด” นายชัย กล่าว
24 พ.ย. 2566 คนไทยชุดแรก 10 คน ได้รับการปล่อยตัว
กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟว่าสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับรายงานว่ามีคนไทยจำนวน ๑๐ คนได้รับการปล่อยตัวแล้ว ขณะนี้ได้ข้ามเข้ามาในอิสราเอลผ่านช่องผ่านแดน Rafah และอยู่ระหว่างการเดินทางไปยังจุดคัดกรองที่ฐานทัพอากาศ Hatzerim ทั้งนี้ในเบื้องต้นยังไม่ทราบเพศและชื่อตัวประกันที่ถูกปล่อยตัว
ในเบื้องต้นนี้ ทั้ง 10 คน จะถูกนำไปที่โรงพยาบาล Shamir Medical Center (Assaf Harofeh) โดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จะเดินทางไปพบที่โรงพยาบาล ซึ่งทั้ง 10 คนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์และพยาบาล โดยห้ามพบบุคคลภายนอกเป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับพี่น้องแรงงานไทยและครอบครัวของทั้ง 10 คนที่ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกจับกุมในวันนี้ และจะเร่งนำทุกคนกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย
รัฐบาลไทยขอขอบคุณรัฐบาลกาตาร์ อิสราเอล อียิปต์ อิหร่าน มาเลเซีย และ ICRC รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาทุกฝ่ายในการช่วยเหลือตัวประกันชุดแรก และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตัวประกันที่เหลือทั้งหมดจะได้รับการดูแลและปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
*10 คน (ตัวเลขที่ได้รับการแจ้งยืนยันพร้อมรายชื่อล่าสุด ซึ่งเปลี่ยนจากเดิมที่มีรายงานว่า 12 คน)
25 พ.ย. 2566 รมต.ต่างประเทศอิสราเอล ต้อนรับคนไทยกลับถึง เทลาวีฟ
25 พฤศจิกายน 2566 นาย Eli Cohen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนาย Michael Ronen อธิบดีกรมเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าเยี่ยมกลุ่มคนไทย 10 คนแรก ที่ได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซา ที่โรงพยาบาล Shamir Medical Center โดยมีนายจุลวัจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา อุปทูตฯ และคณะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลาวีฟและจากกระทรวงการต่างประเทศรอต้อนรับ
นาย Cohen ได้กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจกลุ่มคนไทยดังกล่าวคืนสู่อิสราเอลอย่างปลอดภัยและให้คำมั่นว่ารัฐบาลอิสราเอลจะให้การช่วยเหลือและการดูแลทางการแพทย์ แก่คนไทยกลุ่มนี้อย่างเต็มที่เฉกเช่นชาวอิสราเอลได้รับ โอกาสนี้ อุปทูตฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลอิสราเอลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ให้การดูแลกลุ่มคนไทยทั้ง 10 คนที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาเป็นอย่างดียิ่ง - ภาพจาก
Royal Thai Embassy, Tel Aviv 26 พ.ย. 2566 คนไทยได้รับการปล่อยตัวเพิ่มอีก 4 คน
26 พฤศจิกายน 2566 กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่ามีคนไทยชุดที่สองได้รับการปล่อยตัวอีก 4 ราย ขณะนี้ อยู่ระหว่างการนำตัวไปที่โรงพยาบาลที่ฝ่ายอิสราเอลจัดไว้เพื่อตรวจสุขภาพตามขั้นตอน โดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวก และประสานการติดต่อกับครอบครัวที่โรงพยาบาลแล้ว
กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับครอบครัวของพี่น้องคนไทยทั้ง ๔ รายที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ รวมถึงขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ได้มีบทบาทสำคัญในการเจรจาให้มีการปล่อยตัวประกันในชุดที่ 2 นี้
อนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าทางการอิสราเอลได้ยืนยันจำนวนคนไทยที่ถูกควบคุมตัว เพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ทำให้ภายหลังการปล่อยตัวคนไทยชุดที่ 2 แล้ว คาดว่ายังมีคนไทยที่ถูกควบคุมตัวอีกจำนวน 18 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่เหลือให้ได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ โดยที่มีตัวประกันเริ่มทยอยได้รับการปล่อยตัว และมีโอกาสได้พูดคุยกับญาติพี่น้องในประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนที่อาจ สัมภาษณ์ญาติของตัวประกัน มิให้ซักถามหรือเผยแพร่ ข้อมูลระหว่างการถูกควบคุมตัว ซึ่งอาจมีความอ่อนไหว และส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของตัวประกันที่ยังอยู่ในความควบคุมได้
ขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานกับ ฝ่ายอิสราเอลเกี่ยวกับกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะนำพี่น้องคนไทยทั้ง 14 รายที่ได้รับการปล่อยตัวและผ่านกระบวนการเยียวยาเบื้องต้นในอิสราเอลแล้ว กลับสู่ประเทศไทยและครอบครัวโดยเร็วต่อไป
คณะผู้แทนนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เยี่ยมกลุ่มคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัว
26 พฤศจิกายน 2566 นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ได้ต้อนรับนาย Yossi Shelly, Director of Prime Minister’s Office และผู้แทนนายกรัฐมนตรีอิสราเอล พร้อมกับเข้าเยี่ยมกลุ่มคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซา ที่โรงพยาบาล Shamir Medical Center โดยมีพันโท Oron Mincha กระทรวงกลาโหมอิสราเอล และผู้แทนโรงพยาบาลร่วมต้อนรับ
นาย Shelly ได้กล่าวแสดงความยินดีที่กลุ่มคนไทยได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับอิสราเอลอย่างปลอดภัยและให้คำมั่นว่ารัฐบาลอิสราเอลจะให้การช่วยเหลือและการดูแลทางการแพทย์แก่คนไทยกลุ่มนี้อย่างเต็มที่ รวมทั้งขอบคุณแรงงานไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการเสริมสร้างภาคการเกษตรของอิสราเอลมาโดยตลอด และหวังว่าเมื่อสถานการณ์ปกติแรงงานไทยจะเดินทางกลับมาทำงานในอิสราเอล ซึ่งเอกอัครราชทูตได้ใช้โอกาสนี้กล่าวขอบคุณรัฐบาลอิสราเอลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ให้การดูแลกลุ่มคนไทยเป็นอย่างดีเช่นเดียวกับที่ให้การดูแลชาวอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม
26 พฤศจิกายน 2566 นาย Uriel Menachem Buso รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ได้เดินทางไปเยี่ยมตัวประกันชาวไทยจำนวน 14 คนที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซา ที่โรงพยาบาล Shamir Medical Center โดยมีนายจุลวัจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา อัครราชทูต ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ นาย Menachem Buso ได้กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจตัวประกันชาวไทย รวมทั้งยืนยันว่า อิสราเอลจะดูแลรักษาพยาบาลตัวประกันกลุ่มนี้อย่างดียิ่ง
27 พ.ย. 66 คนไทยชุดที่ 3 อีก 3 ราย ได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซา
27 พฤศจิกายน 2566 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 (ตามเวลาอิสราเอล) กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่ามีคนไทยชุดที่ 3 ได้รับการปล่อยตัวอีก 3ราย ได้แก่
1) นายวิเชียร เต็มทอง
2) นายสุรินทร์ เกสูงเนิน
3) นายพรสวรรค์ ปินะกาโล
ขณะนี้ ทั้ง 3 รายอยู่ที่โรงพยาบาลที่ฝ่ายอิสราเอลจัดไว้เพื่อตรวจสุขภาพ โดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ไปช่วยเหลืออำนวยความสะดวก และประสานการติดต่อกับครอบครัวที่โรงพยาบาลแล้ว
กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับครอบครัวของพี่น้องคนไทยทั้ง ๓ รายที่ได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนผลักดันการเจรจา
ทั้งนี้ คาดว่ายังมีคนไทยที่ถูกควบคุมตัวอีกจำนวน 15 ราย ซึ่งรัฐบาลไทยจะพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่เหลือให้ได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด และจะนำพี่น้องคนไทยทั้ง 17 รายที่ได้รับการปล่อยตัวและผ่านกระบวนการเยียวยาเบื้องต้นในอิสราเอลแล้ว กลับสู่ประเทศไทยโดยเร็วต่อไป
28 พ.ย. 66 ปานปรีย์ เดินทางถึงกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล
28 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางถึงอิสราเอล และพบหารือกับนาย Eli Cohen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐอิสราเอล ที่กรุงเทลอาวีฟ
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความยินดีที่อิสราเอลและฮามาสสามารถบรรลุผลสำเร็จในการเจรจาเพื่อขยายระยะเวลาการหยุดยิงเพื่อเหตุผลทางมนุษยธรรมออกไปอีกสองวัน และขอบคุณฝ่ายอิสราเอลที่ดูแลคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ๑๗ คน โดยขอให้อิสราเอลพยายามดำเนินการเพื่อปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอลแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิตของคนไทย รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ โดยกล่าวว่า ฝ่ายอิสราเอลให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์กับประเทศไทย และจะดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือตัวประกันคนไทยทั้งหมดต่อไป รัฐอิสราเอลจะให้สิทธิและสวัสดิการทางสังคมแก่คนไทยที่ได้รับผลกระทบทุกคน เช่นเดียวกับที่ชาวอิสราเอลได้รับ และหวังว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คนไทยจะกลับมาทำงานในอิสราเอลเหมือนเดิม เพราะเป็นกำลังสำคัญของภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของอิสราเอล
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝากให้อิสราเอลดูแลแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในอิสราเอล ทั้งในด้านความปลอดภัย และในด้านสิทธิ์และสวัสดิการต่าง ๆ ที่แรงงานไทยพึงได้
ปานปรีย์ เยี่ยมคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัว
ต่อมา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยี่ยมคนไทยที่ได้รับการปล่อยตัวจากเหตุการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และและรัฐมนตรีว่สการกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลให้การต้อนรับ
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้กำลังใจ ติดตามการดูแลรักษาคนไทยที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาล Shamir Medical Center โดยให้คำมั่นว่าจะนำคนไทยที่พร้อมเดินทางกลับประเทศไทยสู่อ้อมกอดของญาติพี่น้องโดยเร็วที่สุด
28 พ.ย. 66 ปานปรีย์ พร้อมเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีอิสราเอล
28 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และคณะ เข้าเยี่ยมคาระวะนาย Isaac Herzog ประธานาธิบดีอิสราเอล ที่ทำเนียบประธานาธิบดี
ประธานาธิบดีอิสราเอลแสดงความเสียใจต่อการที่มีแรงงานไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกัน โดยกล่าวชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือตัวประกันจนได้รับการปล่อยตัว
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขอบคุณฝ่ายอิสราเอลที่ให้การดูแลคนไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ตัวประกันชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัว และแจ้งว่า แม้ภารกิจในครั้งนี้เดินทางมาเพื่อดูแลคนไทยเป็นการเฉพาะ แต่ก็ขอให้ฝ่ายอิสราเอลพิจารณาดำเนินการเรื่องสวัสดิภาพ สิทธิและสวัสดิการอันพึงได้สำหรับแรงงานไทยด้วย เพื่อให้แรงงานไทยสามารถกลับมาทำงานในอิสราเอลในอนาคต เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย
ประธานาธิบดีอิสราเอลแสดงความชื่นชมประเทศไทยและคนไทย และย้ำถึงความสำคัญของแรงงานไทยต่อภาคการเกษตรอิสราเอล โดยรับปากดูแลสิทธิและสวัสดิการของแรงงานไทย ต่อไป
29 พ.ย. 66 คนไทยชุดที่ 4 จำนวน 2 คน ได้รับการปล่อยตัว
29 พฤศจิกายน 2566 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มารอต้อนรับคนไทยชุดที่ 4 จำนวน 2 คนที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวในคืนนี้ และเพิ่งเดินทางถึงที่ Shamir Medical Center ได้แก่ 1.นายพัฒนายุทธ ตอนโสกรี 2.นายโอวาส สุริยะศรี โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้รับอิสรภาพอย่างปลอดภัย และหวังว่าจะได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเร็ว จากนั้น กลุ่มคนไทยทั้ง 17 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวก่อนหน้านี้ก็ได้มารอต้อนรับอย่างอบอุ่น ก่อนคนไทยทั้งสอง จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสุขภาพต่อไป
29 พ.ย. 66 ปานปรีย์ หารือหัวหน้าคณะผู้แทน ICRC
29 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับนาง Alessandra Menegon หัวหน้าคณะผู้แทน International Committee of the Red Cross (ICRC) for Israel and Occupied Territories ชื่นชมบทบาทของ ICRC ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและนำส่งผู้ถูกควบคุมตัวชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทย ให้กลับออกมาถึงอิสราเอลอย่างปลอดภัย รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินการของ ICRC ในยามวิกฤต โอกาสนี้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ ICRC ในระหว่างปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ขณะที่ฝ่าย ICRC ยินดีและภูมิใจที่สามารถสนับสนุนในกระบวนการรับผู้ถูกควบคุมตัวชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัว
30 พ.ย. 66 เอกอัครราชทูต เยี่ยมคนไทย ที่ Shamir Medical Center
30 พฤศจิกายน 2566 นางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต และนายจุลวัจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา อัครราชทูต ได้เดินทางไปเยี่ยมตัวประกันชาวไทย 4 คนที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อกลางดึกของคืนวาน ที่ Shamir Medical Center (Assaf Harofeh) โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ปลอบขวัญให้กำลังใจ ติดตามการดูแลรักษาพยาบาล รวมทั้งติดตามสิทธิประโยชน์และการเยียวยาแก่คนไทยทั้ง 4 ด้วย
30 พ.ย. 66 คณะคนไทย 17 คน เดินทางกลับถึงไทย
30 พฤศจิกายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องการเดินทางไปอิสราเอล เพื่อไปเยี่ยมและรับพี่น้องคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัว 3 ชุดแรก จำนวนรวม 17 คน กลับประเทศไทย
[คลิปการต้อนรับ]
1 ธ.ค. 66 นำพี่น้องชาวไทยจำนวน 6 คนที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซาไปทำบัตรประชาชนที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
1 ธ.ค. 66 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้อำนวยความสะดวกนำพี่น้องชาวไทยจำนวน 6 คนที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซาไปทำบัตรประชาชนที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อช่วยให้คนไทยกลุ่มดังกล่าวสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ในไทยได้ทันทีที่เดินทางถึงประเทศไทย พร้อมกันนี้ นายกิตติ์ธนา ศรีสุริยะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้ร่วมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และการติดตามค่าจ้าง ถือได้ว่าเป็นการให้บริการด้านกงสุลแก่พี่น้องคนไทยอย่างครบวงจร
6 คนไทยเตรียมเดินทางกลับไทย 3 ธ.ค. 66
เพจทางการของสถานเอกอัครราชทูตไทย รายงานว่า คนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันและได้รับการปล่อยตัวจากฉนวนกาซา ชุดที่สอง จำนวน 6 ราย เตรียมเดินทางกลับประเทศไทย ในวันที่ 3 ธันวาคม 2566 นี้
ทั้ง 6 คนได้แก่ นายกง นายโอวาส นายไพบูลย์ นายจักรพันธ์ นายเฉลิมชัย และนายพัฒนายุทธ
ทั้งหมดได้ออกจากโรงพยาบาล Shamir Medical Center (Assaf Harofeh) ที่ได้เข้ารับการรักษาตัวตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัว โดยมี ทีมบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล กองทัพอิสราเอล เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล และนักสังคมสงเคราะห์ได้จัดพิธีอำลา โดยฝ่ายอิสราเอลได้กล่าวขอบคุณ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ที่ร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเป็นตัวแทนครอบครัวของอดีตตัวประกันจนทุกคนมีสุขภาพกายและจิตที่ดี
ในวันเดียวกัน นาย Avi Dichter รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้เข้าเยี่ยมกลุ่มคนไทยจำนวน 6 คน ที่โรงพยาบาล Shamir Medical Center โดยมีนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูตและคณะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟและจากกระทรวงการต่างประเทศรอต้อนรับ นาย Dichter ได้กล่าวต้อนรับและให้กำลังใจกลุ่มคนไทยดังกล่าวคืนสู่อิสราเอล พร้อมกล่าวแสดงความชื่นชมแรงงานไทยในภาคการเกษตรซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอิสราเอลและพร้อมต้อนรับแรงงานไทยกลับมา
2 ธันวาคม 2566) พลตรี Lior Carmeli ผู้บัญชาการศูนย์ช่วยเหลือพลเรือนที่ถูกควบคุมตัวและผู้สูญหาย และพลจัตวา Amir Vadmani รองผู้บัญชาการศูนย์ฯ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมศูนย์พักฟื้นตัวประกันชาวต่างชาติที่โรงพยาบาล Shamir Medical Center (Assaf Harofeh) โดยมีนายจุลวัจน์ นรินทรางกูร ณ อยุธยา พร้อมด้วยข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ให้การต้อนรับ โดยนายทหารระดับสูงทั้งสองได้เข้าเยี่ยมและพบปะหารือกับตัวประกันชาวไทย 6 รายที่พักฟื้นที่โรงพยาบาล รวมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ จากผู้ประสานงานของกองทัพอิสราเอล และผู้บริหารของโรงพยาบาลฯ