สุขภาพองค์รวมดีด้วย Medical Wellness
บรรณาธิการ ทพญ.นลินา ตันตินิรามัย
คณะผู้จัดทำ งามเนตร เอี่ยมนาคะ ปทิตตา พันธ์ละออ ชุรีภรณ์ เสียงล้ำ วัชลาวลี ร่มเย็น ภญ.ชฎิลพร ธานีตระกูล
สารบัญ
คำนำ
หนังสือ “สุขภาพองค์รวมดีด้วย Medical Wellness” เล่มนี้ เป็นชุดความรู้เล่มแรก ที่กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดทำขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ เพื่อจัดการความรู้ด้านบริการทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพในสถานพยาบาล ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (Health & Well-being) ของผู้คน ในลักษณะของการให้คำอธิบายความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเวลเนสทางการแพทย์ที่เข้าใจง่าย ทำให้ทราบถึงความเป็นมา รวมทั้งพัฒนาการขององค์ความรู้ด้านสุขภาพและวิทยาการทางการแพทย์ที่อยู่ในความสนใจ และเป็นความปรารถนาของการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยกลุ่มส่งเสริมวิชาการและมาตรฐานภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญและความรู้ที่เกี่ยวข้อง มาจัดเรียงเนื้อหา ประกอบการยกตัวอย่างบริการทางการแพทย์และสุขภาพที่มีการจัดบริการ รวมทั้งโอกาสทางการพัฒนาตามความก้าวหน้าของศาสตร์การแพทย์แม่นยำและสุขภาพองค์รวมที่ครอบคลุมการจัดบริการทั้งในด้านการวินิจฉัย ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หวังว่าหนังสือชุดความรู้ “สุขภาพองค์รวมดีด้วย Medical Wellness” เล่มนี้ จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาและจัดการความรู้ด้านเวลเนสที่ประชาชน ทั่วไปสามารถเรียนรู้และเข้าใจได้โดยง่าย รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจบริการสุขภาพ และการแพทย์ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในการจัดบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการมีสุขภาพองค์รวมที่ดีของผู้คนได้อย่างมีมาตรฐานที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีหลักวิชาการสนับสนุนการให้บริการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผล ซึ่งกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ จะพัฒนาเนื้อหาและขยายผลการใช้ประโยชน์ความรู้เหล่านี้ในวงกว้าง ให้เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน ไปพร้อมกับการส่งเสริมทางวิชาการ เพื่อยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถของการประกอบธุรกิจบริการสุขภาพของประเทศไทยต่อไป กลุ่มส่งเสริมวิชาการและมาตรฐานภาครัฐ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
เมษายน 2567
คำนิยม
เมื่อผมได้เห็นหนังสือ “สุขภาพองค์รวมดีด้วย Medical Wellness” ที่จัดทำขึ้น โดยกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเล่มนี้ ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ต่อความตั้งใจและความพยายามในการจัดการความรู้ของกลุ่มงานส่งเสริมวิชาการและมาตรฐานภาครัฐ ที่ได้สร้างสรรค์การเรียนรู้ทางวิชาการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชน เพิ่มเติมศักยภาพในการพัฒนาบริการของผู้ประกอบ ธุรกิจเวลเนสทางการแพทย์ รวมทั้งเป็นหลักวิชาการที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสุขภาพ หรือ Wellness Economy ให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย ให้เป็นไปตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและสังคมสุขภาวะที่ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถเข้าถึงได้ ในวิถีการดำ เนินชีวิตและการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพองค์รวมในสภาพแวดล้อมของสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ผมเชื่อว่าท่านผู้สนใจที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ที่เข้าใจได้ง่าย รวมทั้งก่อเกิดแรงบันดาลใจหรือความคิดใหม่ๆ ที่ท่านจะสามารถนำไปต่อยอดทางการพัฒนาทั้งในด้านการดูแลตนเอง ให้มีสุขภาพองค์รวมและความเป็นอยู่ที่ดี รู้เท่าทันพัฒนาการความรู้ด้านบริการสุขภาพ และผู้ประกอบธุรกิจเวลเนสทางการแพทย์ก็สามารถปรับตัวเพื่อใช้ประโยชน์วิทยาการทางการแพทย์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของบริการได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ
รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
เมษายน 2567
ประเทศไทยกับโอกาสของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ
ประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำมายาวนาน เนื่องจากมีขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงติดอันดับโลกด้านบริการการแพทย์และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ที่ส่งมอบประสบการณ์และบริการที่ประทับใจในสภาพแวดล้อม เชิงวัฒนธรรมความเป็นไทย ซึ่งส่งเสริมให้ผู้รับบริการได้เรียนรู้และปฏิบัติ เพื่อการมีชีวิตที่ดี อยู่ดีมีสุข สุขภาพองค์รวมแข็งแรง เศรษฐกิจด้านสุขภาพ ตามคำจำกัดความของ Global Wellness Institute (GWI) นั้นมีขอบข่ายที่กว้างขวางและหลากหลาย ประกอบด้วยกิจกรรมผู้บริโภคและการใช้จ่ายหลายประเภท รวมถึงผลิตภัณฑ์ บริการการเดินทางและเทคโนโลยี เศรษฐกิจด้านสุขภาพของทุกประเทศมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างในเชิงบริบทและองค์ประกอบ ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและการเปลี่ยนผ่านตามช่วงเวลา วัฒนธรรม สภาพเศรษฐกิจและสังคมและนโยบายของรัฐบาล
จากการจัดอันดับโลกด้านเศรษฐกิจสุขภาพ ประเทศไทยมีอันดับของการเติบโตด้านเศรษฐกิจสุขภาพเปรียบเทียบใน 218 ประเทศทั่วโลก ดังแสดงในแผนภาพที่ 1 (ที่มา: Global Wellness Institute.2020)
ความได้เปรียบของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพของประเทศไทย
ตลาดการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพของประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับ 4 ใน เอเชีย (รองจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย) และได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 17 ของ โลกในด้านการแพทย์แผนโบราณและการแพทย์ผสมผสาน อันดับที่ 18 ในด้านการกินเพื่อสุขภาพ โภชนาการ ส่วนการลดน้ำหนัก การนวดไทยและสมุนไพรเป็นกิจกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมบริการสปามาอย่างยาวนาน และได้รับการยอมรับว่าเป็นบริการส่งเสริมสุขภาพ เสริมสร้างการมีสุขภาวะ (wellness) และสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ของผู้คน
ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันได้เข้ามามีบทบาท สำ คัญในการวางแผนงานด้านสุขภาพและการสาธารณสุขของทุกประเทศในโลก โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบทางการแข่งขันจากขีดความสามารถทางการแพทย์ขั้นสูง ราคาบริการที่สมเหตุผล ความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งชื่อเสียงทางการท่องเที่ยว ประเทศไทยจึงเป็นจุดหมายปลายทางของการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และความเป็นอยู่ที่ดีระดับโลก
พัฒนาการของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
การเติบโตของธุรกิจบริการสุขภาพแบบองค์รวม มุ่งเน้นการสร้างบริการที่ครบครันและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยบริการทางการแพทย์ครบวงจร ที่ช่วยให้ผู้รับบริการมีทางเลือกในการเข้าถึงแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด และผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับความจำเป็น และความต้องการด้านสุขภาพ ภายในสถานที่และสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการออกแบบและตกแต่งอย่างเหมาะสม รื่นรมย์และก่อให้เกิดความสุข โดยผู้รับบริการจะได้รับประโยชน์จากการวินิจฉัย ตรวจรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่แม่นยำ (precision) และเฉพาะบุคคล (personalized) มากขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ได้รับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้อย่างครอบคลุม โดยกลุ่มบริการทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมในสถานประกอบการด้านเวสเนสในปัจจุบัน ได้แก่ การดุแลสุขภาพเชิงป้องกัน นวัตกรรมสุขภาพ และการแพทย์ดั้งเดิม
การดูแลสุขภาพ เชิงป้องกัน (Preventive Healthcare)
ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยเชื่อว่าการรู้จักตัวเอง เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อสุขภาพที่ดี การให้คำ ปรึกษาทางการแพทย์จะแนะนำให้เห็นภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเกี่ยวกับสภาวะความเป็นอยู่ในปัจจุบันของบุคคล ผ่านการตรวจคัดกรองสุขภาพทั่วร่างกายอย่างครอบคลุม รวมทั้งการวิเคราะห์ความสมดุลของฮอร์โมน สารชีวเคมีในร่างกาน ระบบไหลเวียนต่างๆ ภายในร่างกาย ภาวะโภชนาการ การ ทำงานของภูมิคุ้มกัน และอื่นๆ ซึ่งอาจบอกได้ถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นภายในร่างกาย ก่อนที่จะแสดงอาการออกมา โปรแกรมสุขภาพส่วนบุคคลที่จัดบริการ จะมุ่งเน้นผลลัพธ์ เพื่อการปรับปรุง ป้องกัน แก้ไขหรือจัดการกับความเสี่ยงหรือจุดอ่อนด้านสุขภาพ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกาย
นวัตกรรม สุขภาพ (Scientific innovation)
วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมก่อให้เกิดวิธีการต่างๆ มากมายที่ช่วยรักษาตามธรรมชาติของร่างกายและกระบวนการป้องกัน หรือบรรเทาผลกระทบอันอาจเกิดขึ้น จากการเสื่อมสภาพของร่างกายในช่วงวัยที่เปลี่ยนไป ช่วยเพิ่มความเป็นอยู่ที่ดีและสุขสบายในแต่ละวัน ลดความเครียดหรือปัญหาสุขภาพ เพิ่มความผ่อนคลายทางอารมณ์ ด้วยวิธีการทางการแพทย์ที่มุ่งเน้นผลลัพธ์แบบตรงจุด เช่น การเพิ่มวิตามินทางหลอดเลือดดำ (Vitamin drip) การให้สารต้านอนุมูลอิสระ การเพิ่มโอโซน ในกระแสเลือด (Ozone Therapy) การให้โคเอนไซม์ เพื่อเพิ่มพลังงานให้กับเซลล์ในร่างกาย (Nicotinamide adenine dinucleotide; NAD+) การแก้ไขการขาด สารอาหารในเซลล์ต่างๆ การบำบัดทางการแพทย์เพื่อการฟื้นฟู เช่น การบำบัดด้วย Mesenchymal Stem Cell (MSC) เพื่อฟื้นฟูกระดูกและกล้ามเนื้อ เพิ่มความเปล่งปลั่งของผิวหนัง การฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตของมนุษย์ (Human Growth Hormone; HGH) การบำบัดด้วย ความเย็น (Cryotherapy) การล้างพิษในลำไส้ (Colon Cleansing) การบำบัดเพื่อความงามทางการแพทย์ (Aesthetic Medicine) ได้แก่ การฉีดสารสกัดโปรตีนเพื่อควบคุมกล้ามเนื้อ (Botolinum Toxin; Botox) การฉีดสารเติมเต็ม (Filler) การฉีดวิตามินและสารสกัดเพื่อบำรุง ฟื้นฟูผิวหน้าที่เสื่อมสภาพ (Mesotherapy) การใช้คลื่นความถี่สูงเพื่อยกกระชับใบหน้า (High Intensity Focused Ultrasound; HIFU) เทอร์ไมวา และอื่นๆ อีกมากมาย
การแพทย์แผนดั้งเดิม (Traditional Medicine)
การแพทย์แผนดั้งเดิมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและได้รับความนิยมมาก คือ การแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine; TCM) ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงสาเหตุความเจ็บป่วยโดยการรักษาสมดุลร่างกายโดยรวม และให้การรักษาแบบเติมเต็มส่วนขาดที่ร่างกายต้องการอย่างชัดเจนตามสาเหตุของอาการเจ็บป่วยอย่างจำเพาะเจาะจง การแพทย์แผนจีนที่ได้รับความนิยมมาก ได้แก่ การฝัง เข็ม การรมยา การครอบแก้ว การรักษาด้วย สมุนไพร เป็นต้น นอกจากนี้ การแพทย์แผนอินเดียอายุรเวท ก็เป็นการแพทย์แผนดั้งเดิมที่ ได้รับความนิยมเช่นกัน
Medical Wellness เวลเนสทางการแพทย์
ปัจจุบัน ผู้คนมีความนิยมและเลือกสรรบริการดูแลสุขภาพที่ส่งเสริมการมีสุขภาวะองค์รวมที่ดีในรูปแบบของบริการเวลเนสมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เวลเนสทางการแพทย์ หรือ Medical Wellness เป็นความรู้ใหม่ที่ยังขาดการกำหนดคำนิยามที่ชัดเจน ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องกำหนดคำอธิบายเวลเนสทางการแพทย์ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
รูปแบบ วิธีการและสภาพแวดล้อมของการดูแลสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คน เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลเชิงบูรณาการ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินที่คุ้มค่าส่งเสริมการขยายตัวของบริการมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างทางเลือกในการดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชนทั้งรายบุคคลและกลุ่มวัยต่างๆ จำนวนมากที่ต้องการมีอายุขัยที่ยืนยาว การชะลอวัยอย่างมีสุขภาพดี และการมีสุขภาพองค์รวม หรือสุขภาวะที่ดีที่สุดด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์
นิยาม Medical Wellness
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ให้คำอธิบายว่า สุขภาพ หมายถึง สภาวะของความเป็นอยู่ที่ดี (Health and Well-being) ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ไม่มีโรคและความทุพพลภาพเท่านั้น แต่หมายรวมถึง การมีสุขภาพที่ดีที่สุด (Optimal Health) การส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) และความเป็นอยู่ที่ดีสูงสุด (Well-being) ที่มีความสมดุลในทุกมิติการดำเนินชีวิตและสุขภาพองค์รวม (Holistic Health) ของบุคคลซึ่งมิติของการมีสุขภาพองค์รวมเหล่านี้รวมถึงสุข ภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณ และสังคม ส่งผลต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของศาสตร์สาขาวิชาด้านสุขภาพทางการแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ผ่านกระบวนการปฏิบัติด้านสุขภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์
สมาคม Medical Wellness Association ได้ให้คำนิยามไว้ว่า เวลเนสทางการแพทย์ หรือMedical Wellness หมายถึง กระบวนการทางการแพทย์ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์
คำอธิบายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นของเวลเนสทางการแพทย์ คือ
การจัดบริการด้านสุขภาพด้วยวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพพิจารณาถึงปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคคล แล้ววางแผนหรือออกแบบให้มีการดูแลสุขภาพได้หลาก หลายวิธี เพื่อรักษาพยาบาล ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดของบุคคล
เวลเนสทางการแพทย์ มีลักษณะเด่นของการให้บริการที่ผสมผสานกันระหว่างบริการทางการแพทย์และบริการที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ มีเป้าหมายของส่งเสริมให้บุคคลมีสุขภาพองค์รวมและสุขภาวะที่ดี โดยผู้ให้บริการหลัก คือ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ทั้งที่เป็นนักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อจัดบริการดูแลรักษาหรือแก้ไขปัญหาสุขภาพและแนะนำทางเลือกในการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในปัจจุบัน
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า สุขภาพ หมายถึง
“สภาวะของความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดที่ไม่ใช่ เพียงแต่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น...” ผู้ให้บริการด้านเวลเนสจึงเชื่อว่า ความเป็นอยู่ที่ดีต้องอาศัยความสมดุลระหว่างการมีสุขภาพองค์รวมที่ดีในทุกมิติที่ประกอบกันเป็นความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคล
มิติของความเป็นอยู่ที่ดี หมายถึง การมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สิ่งแวดล้อม จิตวิญญาณ และ การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม ดังนั้นความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดนี้ จึงเป็นการบูรณาการการดูแลสุขภาพในแต่ละมิติอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สมัยฮิปโปเครติส ด้วยวิธีการดูแลสุขภาพแบบการแพทย์แผนโบราณพัฒนาต่อเนื่องมาถึง ปัจจุบันที่มีการนำเทคโนโลยีและ ความแม่นยำและความ เชี่ยวชาญเฉพาะทางการแพทย์มาใช้ในการดูแลสุขภาพองค์ รวมของบุคคลมากขึ้น ซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้าน การดูแลสุขภาพองค์รวมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ได้รับความยอมรับในวงกว้างว่าเป็นวิธีการเชิงบูรณาการที่ให้ผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนของผู้คน
Medical Wellness คืออะไร
เวลเนสทางการแพทย์ (Medical Wellness) เป็นแนวทางการให้บริการด้านสุขภาพโดยคำนึงถึงปัจจัยหลายประการที่มี อิทธิพลต่อสุขภาพของบุคคล จึงก่อให้เกิดทางเลือกมากมายในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ และฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อความสมบูรณ์ของร่างกายที่ดีที่สุดของบุคคล
นอกจากนี้ เวลเนสทางการแพทย์ ยังหมายถึง
- การประยุกต์ใช้หลักปฏิบัติทางการแพทย์และสุขภาพ ที่มีมาตรฐานอย่างสมดุลและเหมาะสมภายในสถานพยาบาล
- การส่งเสริมแนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบสหวิทยาการ (multi-disciplinary) โดยอาศัยความยินยอมและการตัดสินใจที่ได้รับการบอกกล่าว (informed consent) ที่สนับสนุนให้การให้บริการระหว่างผู้ปฏิบัติงานและ ผู้ป่วยเป็นไปอย่างถูกต้อง ราบรื่นและต่อเนื่อง
- การเสริมสร้างความต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่เป็นผู้ให้บริการหลักและผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ที่ให้บริการสนับสนุน
- การปฏิบัติโดยมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion) และความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด (Well-being) รายบุคคล (Personalized Care)
- ส่งเสริม พัฒนาการประยุกต์ใช้มาตรฐานวิชาชีพสำหรับ การจัดบริการเวลเนสทางการแพทย์ในปฏิบัติการทางคลินิก
บริการในกลุ่ม Medical Wellness
จากรายงานการสำรวจตลาดบริการด้านเวลเนสทางการแพทย์ พบว่า กลุ่มบริการที่ได้รับความนิยมและ มีส่วนแบ่งการตลาดขนาดใหญ่ ได้แก่
- การแพทย์ผสมผสานและการแพทย์ทางเลือก (Complementary and Alternative Medicine)
- บริการด้านความงามและการชะลอวัย (Beauty Care and Anti-Aging)
- การแพทย์เชิงป้องกันและการแพทย์เฉพาะบุคคล (Preventative, Personalized Medicine)
- การกินเพื่อสุขภาพ โภชนาการและการควบคุมน้ำ หนัก (Healthy Eating, Nutrition and Weight Loss)
- การฟื้นฟูความอ่อนเยาว์ (Rejuvenation)
- ผลิตภัณฑ์และบริการด้านการส่งเสริม ป้องกันและ ฟื้นฟูสุขภาพเพื่อมุ่งสู่การมีสุขภาพองค์รวม
โดยแนวคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health) เป็นแนวคิดที่เติบโตอย่างมีพลวัตรและได้รับความสนใจอย่างมากในอุตสาหกรรมสุขภาพทางการแพทย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวทางนี้เน้นการบูรณาการความรู้ทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เพื่อให้ได้ภาวะสุขภาพที่มีความสมบูรณ์นอกเหนือไปจากการรักษาพยาบาลเมื่อยามเจ็บป่วย ครอบคลุมถึงพฤติกรรมสุขภาพการเลือกวิถีชีวิต การจัดการความเครียด โภชนาการ และการฟื้นฟูสภาพจิตใจ (mental health) ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์นี้ ได้กระตุ้นให้เกิดบริการและแนวปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ มากมาย เพื่อรองรับความต้องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่มีมากขึ้นอย่างหลากหลายของบุคคล
การขยายตัวอย่างกว้างขวางของอุตสาหกรรมทางการแพทย์และบริการสุขภาพ แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างการปฏิบัติทางการแพทย์แบบดั้งเดิม กับการรักษาทางเลือก ซึ่งส่งเสริมการดำรงชีวิตอยู่อย่างสมดุลและกลมกลืน แนวทางนี้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับ ถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างจิตใจและร่างกาย และ พยายามค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสุขภาพ ไม่ใช่แค่เพียงการรักษาอาการตามความเจ็บป่วยหรือไม่สุขสบายเท่านั้น
ในขณะที่ผู้คนมองหาวิธีจัดการสุขภาพของตนเองในเชิงรุกมากขึ้น อุตสาหกรรมทางการแพทย์และบริการสุขภาพก็ตอบสนอง ด้วยการนำเสนอบริการที่หลากหลาย
ตั้งแต่แผนสุขภาพ ส่วนบุคคลและโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาปัญญาและความรู้แจ้ง (mindfulness) ไปจนถึงการแพทย์บูรณาการ รูปแบบการดูแลสุขภาพนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในวงกว้างที่ตระหนักว่า สุขภาพเป็นเส้นทางของการประพฤติปฏิบัติที่ต่อเนื่อง (health continuum) และมุ่งเน้นสู่ความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน (Sustainable Well-being)
จากรายงานการสำรวจตลาดสุขภาพทางการแพทย์ ทั่วโลกในปี พ.ศ.2566 พบว่าในปีพ.ศ.2565 มีมูลค่า ประมาณ 1,309.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดประมาณว่ายอดขายของตลาดจะเติบโตที่ CAGR ที่ร้อยละ 14.0% และมีมูลค่าประมาณ 5,524.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภาย ในปีพ.ศ. 2576 ซึ่งตลาดบริการทางการแพทย์และสุขภาพทั่วโลกได้รับการคาดหมายว่าจะเติบโตในอัตราที่สำ คัญ ในปีต่อๆ ไป ครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆหลาก หลายที่มุ่งส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ประกอบ ด้วยหมวดหมู่ต่างๆ เช่น การแพทย์ผสมผสาน และการแพทย์ทางเลือก การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การแพทย์เชิงป้องกันและเฉพาะบุคคล โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วงระยะเวลาคาดการณ์
เนื่องจากได้แรงหนุนจากปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ความตระหนักที่เพิ่มขึ้นของผู้คนเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์ ความชุกของโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและความพยายามในการจัดการกับความเครียดของผู้คนด้วยตนเอง เช่น การฝึกสติ และการบำบัดพฤติกรรม
แม้ว่าในปัจจุบัน ภูมิภาคอเมริกาเหนือครองตลาด ด้านสุขภาพทางการแพทย์ของโลกโดยมีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ที่สุด เนื่องจากมีสถานพยาบาลจำนวนมากและ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า รวมทั้งอุตสาหกรรมยาขนาดใหญ่ แต่ก็มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงมาก
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่จะสามารถแข่งขันและมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์และบริการสุขภาพสูงสุดในอนาคตอันใกล้
ความสำคัญของการดูแลสุขภาพแบบเวลเนส
ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า เวลเนสเป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และในมิติทางจิตวิญญาณ โดยมุ่งเน้นการป้องกันก่อนการเกิดโรคและมีการปรับวิถีชีวิต (lifestyle) และพฤติกรรมสุขภาพด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ควบคู่กันไป เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดีแบบองค์รวม (Holistic Health) รวมถึงนำไปสู่การมีความเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้อีกด้วยการดูแลสุขภาพแบบเวลเนสทางการแพทย์ เป็นวิธีการปฏิบัติทางการแพทย์ที่เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา ส่งเสริมการมี Healthy Lifestyle หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องและมีความสุขอย่างยั่งยืน ผนวกการดูแลสุขภาพเข้าสู่ชีวิตประจำวันเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น
การจัดบริการเวลเนสในปัจจุบัน มีการนำ เสนอ บริการที่ใช้วิทยาการทางการแพทย์เป็นหลักการในการดูแลสุขภาพองค์รวมที่เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะในแต่ละวัยย่อมมีปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- วัยเด็ก มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิแพ้ การขาดวิตามิน หรือสมาธิสั้น
- วัยทำงาน มีปัญหาด้านความเจ็บป่วยจากการทำงาน ภาวะซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิต การดูแล สมองและความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า การเสริมความงาม
- วัยผู้สูงอายุ มีปัญหาด้านการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกาย ปัญหาการนอนไม่หลับ ความอยากอาหาร รวมทั้งความต้องการชะลอวัย เป็นต้น
บริการด้าน Medical Wellness
บริการในกลุ่มเวลเนสทางการแพทย์มีความ หลากหลายไปตามความต้องการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (personalize wellness) อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปอาจ จัดแบ่งหมวดหมู่บริการเวลเนสตามลักษณะการให้บริการ ที่ต้องกระทำ โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ออกได้ เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1) บริการเวลเนสเฉพาะบุคคล (Individual Consultations)
1) บริการเวลเนสเฉพาะบุคคล (Individual Consultations) ประกอบด้วยบริการดูแลให้คำปรึกษา รวมทั้งการปฏิบัติด้านสุขภาพเฉพาะบุคคล ดังนี้
- การฝังเข็ม
- อายุรเวท
- การดูแลจังหวะการเต้นของหัวใจเพื่อเสริม สร้างสรีรวิทยาทางอารมณ์ (Heartmath)
- การใช้สมุนไพรทางการแพทย์
- การดูแลสุขภาพแบบผสมผสาน
- ธรรมชาติบำบัด
- โภชนาการและการกินเพื่อสุขภาพ
- กายภาพบำบัด
- การจัดกระดูกเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของร่างกาย
- การให้คำ ปรึกษาด้านจิตวิทยาและการจัดการความเครียด
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างสมดุลของชีวเคมีในร่างกาย
- การนอนหลับอย่างเป็นสุข
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสพติด
- เสริมความงามและการชะลอวัย เป็นต้น
2) บริการเวลเนสแบบกลุ่ม (Group Consultations)
2) บริการเวลเนสแบบกลุ่ม (Group Consultations) ประกอบด้วยบริการดูแลให้คำปรึกษารวมทั้งการปฏิบัติด้าน สุขภาพโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ในกลุ่มบุคคลที่มี เป้าหมายหรือความประสงค์ที่จะปรับปรุง ปรับเปลี่ยนหรือแก้ไข ปัญหาสุขภาพแบบเดียวกัน ได้แก่
- การทำสมาธิแบบกลุ่ม
- การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ
- การรับประทานอาหารอย่างมีสติ
- การอยู่อย่างเป็นสุขร่วมกับโรคเบาหวาน
- ชี่กง
- เวชศาสตร์วิถีชีวิต
- ห้องเรียนเลิกบุหรี่
- โยคะ
- กิจกรรมบำบัด
- การฝึกจิตใจเพื่อก้าวผ่านความสูญเสีย (Moving Through Grief) เป็นต้น
การแพทย์แม่นยำกับการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล (Precision Medicine for Well-being)
การแพทย์แม่นยำ หรืออาจเรียกว่า การแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalize Medicine)
วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้ทราบว่า ยีนพฤติกรรม (เช่น พันธุกรรม การออกกำลังกาย นิสัย การกิน การนอน การขับถ่าย ฯลฯ) และสภาพแวดล้อมต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของบุคคล ดังนั้น
การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) จึงเข้ามามีบทบาท ในการป้องกัน ส่งเสริม รักษาและฟื้นฟูสุขภาพของผู้คน ในรูปแบบที่สามารถปรับวิธีการให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล แทนที่จะใช้แนวทางเดียวกันสำหรับทุกคน
การแพทย์แม่นยำ หรืออาจเรียกว่า การแพทย์ เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) เป็นวิทยาการที่ช่วยให้แพทย์สามารถค้นหาความเสี่ยงของโรคเฉพาะและการรักษาที่จะได้ผลดีที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล การแพทย์แม่นยำยังรวมถึงแนวทางปฏิบัติหรือกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกสถานพยาบาล เช่น กิจกรรมการป้องกัน โรคและการส่งเสริมสุขภาพ โดยวิธีการทางการแพทย์แม่นยำ สามารถทำนาย ป้องกัน รักษา และจัดการโรคสำหรับบุคคล และครอบครัวได้ดีขึ้น โดยการแพทย์แม่นยำมีวิธีการสืบค้น ตรวจวัด ติดตาม หรือทำนายความเสี่ยงของการเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยได้จาก
- ประวัติส่วนบุคคล
- ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว
- การตรวจวัดเพื่อจัดลำดับจีโนม (Genome Sequencing) ที่บ่งชี้สารพันธุกรรมของเชื้อโรค สามารถช่วยค้นหา ติดตาม และควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อได้ รวมทั้ง
- การตรวจจีโนม เพื่อวิเคราะห์การกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือBRCA2 มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ในเพศหญิง และการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับมะเร็งบางชนิดในเพศชาย
- การตรวจจีโนม เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำ ไส้ใหญ่และทวารหนักและมะเร็งอื่นๆในผู้ป่วย โรคลินช์ ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยที่สุดในประชากรอายุน้อย อันเกิดจากความผิดปกติของ MMR gene (MLH1, MSH2, MSH6, PMH2 and EPCAM) แบบ second HIT phenomenon
- การตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมของเนื้องอก (Biomarker Testing) เพื่อจำแนกชนิดของเนื้องอก รวมทั้ง คาดการณ์ว่ามะเร็งมีแนวโน้มที่จะกลับมาเป็นอีกหรือไม่ ซึ่งสามารถช่วยให้ผู้คนตัดสินใจได้ว่าจะต้องรับการรักษา เช่น เคมีบำบัด หรือการฉายรังสี
- การวิเคราะห์การตอบสนองต่อยา (Pharmacogenetics) ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามพันธุกรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เลือกยาและขนาดยาที่น่าจะปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน
- การตรวจสอบปริมาณกลูโคสอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงการให้อินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวาน (Continuous Glucose Monitoring System) ด้วยการใช้อุปกรณ์ตรวจวัด (sensor) ที่แขนหรือท้องเพื่อติดตามระดับน้ำตาล ในเลือดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แพทย์ปรับปรุงปริมาณอินซูลินที่ให้แก่ผู้ป่วยและติดตามภาวะแทรกซ้อนอันอาจเกิดขึ้นได้
- อุปกรณ์สุขภาพติดตามตัว (Wearable/Smart device) ที่สามารถวัดปริมาณแคลอรีจากการบริโภคอาหาร กิจกรรมทางกาย ความดันโลหิต ค่าออกซิเจนในเลือด ชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ดัชนีมวลกาย เป็นต้น อุปกรณ์เหล่านี้พกพาได้สะดวก สามารถรองรับการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีและช่วยส่งเสริมสุขภาพให้อาการ จ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังดีขึ้นได้ เช่น การรับประทานอาหาร การปรับปรุงนิสัยการนอนหลับ การฝึกการหายใจและ สมาธิ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเตือนให้รับประทานยา ได้อย่างตรงเวลาและสม่ำเสมออีกด้วย
การให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและเวลเนส (Health and Wellness Coach)
ปัจจุบันการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพและเวลเนส ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา มักถูกเรียกว่า “เวลเนสโค้ช (Wellness Coach)” ซึ่งมีวิธีการทำงานโดยการให้ความรู้ด้านสุขภาพ โดยไม่ก้าวล่วงวิชาชีพด้านการแพทย์ หากเวลเนสโค้ชผู้นั้น ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ โดยมีศิลปะในการกระตุ้นและโน้มน้าวให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลมีส่วนร่วมในกระบวนการตามหลักฐานเชิงประจักษ์ อำนวยความสะดวก และยึดผู้รับบริการเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและบรรลุเป้า หมายด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีที่ตัดสินใจด้วยตนเอง ช่วยให้ผู้ขอรับคำปรึกษาใช้ข้อมูลเชิงลึก จุดแข็งส่วนบุคคล และทรัพยากรหรือต้นทุนด้านสุขภาพที่มีอยู่ของตนเองในการกำหนดเป้าหมายอย่างมุ่งมั่นในการประพฤติ ปฏิบัติ และสร้างความรับผิดชอบในการเสริมสร้างวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีตามที่ปรารถนา ซึ่งด้วยศาสตร์และศิลปะเหล่านี้ เวลเนส โค้ชจะต้องทำความรู้จักและสำรวจข้อมูลผู้ขอรับบริการ เพื่อเลือกใช้วิธีการเสริมแรง ให้กำลังใจแก่ผู้ขอรับคำปรึกษา และเลือกใช้ทรัพยากรภายนอกในการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดี และสุขภาพองค์รวมด้วยกลยุทธ์การจัดการตนเองเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพอย่างยั่งยืนของผู้ขอรับคำปรึกษา
บทบาทของเวลเนสโค้ชที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเป็นหุ้นส่วนที่รับผิดชอบต่อการมีสุขภาวะที่ดีของผู้ขอรับคำปรึกษาและมองหาโอกาสในการการเติบโตและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและการมีสุขภาพองค์รวมอย่างต่อ เนื่อง ไม่ใช่ผู้กำหนดหรือตัดสินการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยในบทบาทของผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ขอรับคำ ปรึกษา เวลเนสโค้ชจะสนับสนุนให้ผู้ขอรับคำปรึกษาบรรลุเป้าหมายที่กำกับตนเองให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับความปรารถนาส่วนบุคคลด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีอย่างมีสุขภาพองค์รวม โดยอาศัยข้อมูลสำคัญจากแผนการดูแลสุขภาพที่เป็นการวินิจิฉัย หรือผลจากการดูแลรักษาโดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ซึ่งเมื่อกระบวนการให้คำปรึกษาดำเนินการไปอย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ หากเวลเนสโค้ชทำงานร่วมกับหรืออยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ (เช่น แพทย์ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำ บัดนักกิจกรรมบำ บัด แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน ฯลฯ)
เวลเนสโค้ชก็จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินการตามแผนการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์เหล่านั้น โดยไม่วินิจฉัย ตีความข้อมูลทางการแพทย์ สั่งหรือยกเลิกการสั่งยา แนะนำอาหารเสริม ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ หรือวางแผนมื้ออาหาร ให้คำแนะนำ หรือสั่งการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยวิธีการทางการแพทย์ รวมให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำ หรือจัดให้มีการแทรกแซงทางจิตวิทยา อันเป็นการก้าวล่วงการประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำจิตบำบัด ด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy; CBT), การลดความไวต่อการเคลื่อนไหวของดวงตา และการประมวลผลซ้ำ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing; EMDR), การบำบัดที่มุ่งเน้นการหาทางออกหรือแก้ไขปัญหา (Solution Focused Therapy), จิตบำบัดเพื่อเปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมที่ไร้ประโยชน์ หรือ พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี (Dialectical Behavior Therapy; DBT), การบำบัดระบบครอบครัวภายใน (Internal Family Systems Therapy; IFS), การบำบัดที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทางจิตวิทยาที่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์ เป็นต้น
ในกลุ่มบริการทางการแพทย์ของประเทศไทย ที่มีหลักสูตรฝึกอบรมผู้ให้คำปรึกษาทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ในการวางแผนดูแลสุขภาพส่วนบุคคล ได้แก่ การแพทย์แม่นยำกลุ่มจีโนมิกส์ (Genomics Counselor) และ เวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine)
ในประเทศไทย แม้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับการประกอบอาชีพเวลเนสโค้ช แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายในชีวิตของผู้คนที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้เวลเนสโค้ชมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในการค้นหาแหล่งความรู้ หรือ การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องของผู้คน ดังนั้น เวลเนสโค้ชจึงต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างมี ความสำนึกรับผิดชอบ สั่งสมความรู้ ความสามารถ ความ เชี่ยวชาญในสาขาความรู้ของตนอย่างเคารพในกฎหมายและ มาตรฐานด้านวิชาชีพทางการแพทย์ คำนึงถึงขีดจำกัดของความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องในการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพ และให้ความสำคัญต่อหลักการทางจริยธรรม โดยไม่ใช่ช่องว่างแห่งความรู้ (Gap of Knowledge) หรือความเชื่อด้านสุขภาพของบุคคล (Personal Health Believes) มาฉวยโอกาสสร้างกระแสบริการและการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ถูกต้องให้แก่ประชาชน
สรุป
การดูแลสุขภาพองค์รวมด้วยเวลเนสทางการแพทย์ เป็นการเสริมสร้างปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพสู่การมีสุขภาพองค์รวมที่ดีอย่างยั่งยืน เริ่มต้นจากความตระหนักรู้ในตนเองของบุคคล ที่ให้ความสำคัญต่อการมีสุขภาพดีของตนเองและครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ด้วยวิธีการ ประสบการณ์ ความรู้เดิมและความรู้ใหม่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ประพฤติปฏิบัติต่อเนื่องเป็นกระบวนการดูแลสุขภาพที่ครบครันทั้งในด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดจนแสวงหาคำแนะนำปรึกษา รับบริการตรวจวินิจฉัยหรือเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์ที่แม่นยำ ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์จากผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
เพื่อเติมเต็มความต้องการมีอายุขัยที่ยืนยาวอย่างมีสุขภาวะ และความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างมีความเป็นอยู่ที่ดีในสภาพแวดล้อมของตน อ้างอิง
Amanpuri resort, Phuket
Breuleux, C., (2004) Medical Wellness Journal, The Medical Wellness Association, Volume 1-2, p.1-3. (C) 2004 Christopher Breuleux, PhD, The Medical Wellness Association
Center for Disease Control and Prevention retrieved from Precision health: Improving health for each of us and all of us | CDC. January 2024.
Christopher Breuleux., (2004) Integrating Medical Wellness Programs. ANTI-AGING MEDICAL NEWS Winter 2009
Edwin Lim Medical Aesthetic Clinic, Singapore
GLOBE NEWSWIRE. New York. March 20, 2023.
Global Wellness Institute. 2020-2023
Medical Wellness Association. 2020
Persistence Market Research. Adoption of Wellness Services by Employers and General Population will drive the Global Market over Forecast Duration (2023-2033). March 20.2023
The Health Coaches Australia and New Zealand Association (HCANZA).2022
World Health Organization. 2023
สร้อยเพชร ประเทืองเศรษฐ์.(2566) ผู้ช่วยผู้อำ นวยการ BDMS Wellness Clinic