อีกครั้งที่ผลงานวิจัยของนักศึกษาไทยสามารถชนะใจกรรมการ และคว้ารางวัลอันทรงเกียรติระดับนานาชาติ โดยล่าสุด คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ประกาศแสดงความยินดี นายเพิ่มพร ลิมปิสุข นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ที่นำผลงานวิจัยไปจัดแสดง พร้อมร่วมงานในหัวข้อ ในหัวข้อ Using superb microvascular imaging for renal parenchymal thickness and renal cortical thickness measurement in patients with chronic kidney disease and healthy people ซึ่งท้ายสุดนั้น ได้รับรางวัล Best poster award ระดับ silver จาก งานประชุมวิชาการ The 16th Congress of the Asian Federation of Societies for Ultrasound in Medicine and Biology (AFSUMB 2024) ณ สาธารณรัฐเกาหลี
ด้านผู้วิจัยที่ได้รับรางวัล นายเพิ่มพร ลิมปิสุข นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ส่งผลงานวิจัยโดยใช้แนวคิดจากที่ผ่านมาการวัดความหนาของเนื้อไตและเนื้อไตชั้นนอกจากภาพถ่ายอัลตราซาวด์ในโหมดทั่วไปจะมีความยากในการวัด เนื่องจากขอบเขตในการวัดไม่ชัดเจน และอาจนำไปสู่ความผิดพลาดในการวัดและการวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังได้
ทางผู้วิจัยจึงสนใจที่จะหาวิธีการใหม่ ให้การวัดความหนาของเนื้อไตและเนื้อไตชั้นนอกมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น ทางผู้วิจัยจึงได้นำเทคนิค Superb microvascular imaging (SMI) หรือเทคนิคขั้นสูงในการสร้างภาพเส้นเลือดขนาดเล็ก มาประยุกต์ใช้กับการสร้างภาพเส้นเลือดของไต เพื่อใช้เป็นจุดสังเกตในการระบุตำแหน่งการวัดความหนาเนื้อไตและเนื้อไตชั้นนอกให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับประโยชน์และจุดเด่นของการใช้เทคนิค SMI นั้น ช่วยเพิ่มคุณค่าในการวัดค่าความหนาของเนื้อไตและเนื้อไตชั้นนอกในผู้ป่วยที่เข้ามาตรวจอัลตราซาวด์เพื่อวินิจฉัยโรคไตเรื้อรัง และเพื่อให้แพทย์มีความมั่นใจในการวินิจฉัยโรคไตเรื้อรังจากค่าความหนาของเนื้อไตและเนื้อไตชั้นนอกได้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งเทคนิค SMI มีอัลกอริทึมในการกรองสัญญาณความถี่ต่ำจากการเคลื่อนไหวของเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงออกไปได้ โดยไม่ตัดสัญญาณของเส้นเลือดขนาดเล็กเหมือนกับ Conventional Doppler ทั่วไป ดังนั้น SMI จึงสามารถสร้างภาพเส้นเลือดขนาดเล็กได้อย่างชัดเจน และมีการแสดงผลด้วย frame rate ที่สูง เมื่อนำมาใช้กับการสร้างภาพเส้นเลือดที่ไต จึงทำให้เห็นเส้นเลือดขนาดเล็กๆ ของไตที่วางตัวอยู่รอบเนื้อไตชั้นใน ได้แก่ arcuate artery และ interlobar artery ในภาพอัลตราซาวด์ได้อย่างชัดเจน และทำให้ตำแหน่งในการวัดความหนาของเนื้อไตและเนื้อไตชั้นนอกมีความถูกต้องมากยิ่งขึ้น