13 มิถุนายน 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ปลัดกระทรวงหรือผู้แทนปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สสส. เข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองประชากรโลกให้ปลอดภัยจากผลร้ายของการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบและเป็นกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศในการสกัดกั้นไม่ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยเมื่อวันที่ 5 - 10 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้แทนประเทศไทยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีฯ ครั้งที่ 10 ณ สาธารณรัฐปานามา และที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประเทศรัฐภาคีดำเนินการตาม “ปฏิญญาปานามา (Panama Declaration)” เพื่อกระตุ้นให้ภาคีต่าง ๆ เร่งดำเนินการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกและร่วมกันปกป้องสิทธิเด็ก เยาวชนและมนุษยชน จากผลกระทบด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการบริโภค/สัมผัสกับควันบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ
มติ 4 มาตรการคุมยาสูบ
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุม คผยช. ในวันนี้ จึงมีมติเห็นชอบมาตรการการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเด็กของประเทศไทย ดังนี้
1.การพัฒนา/ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐาน ของกระทรวงและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประเด็นการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ รวมถึงยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
2.การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ (Cytisine) ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
3.การให้ความรู้เกี่ยวกับโทษพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ และรู้เท่าทันกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ รวมถึงการสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีบทบาทในการรณรงค์เพื่อการไม่บริโภคบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ และการขับเคลื่อนงานด้านการควบคุมยาสูบทุกระดับ และ
4.การคุ้มครองจากการแสวงผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการมาตรการข้างต้นตามบริบทของหน่วยงาน เพื่อป้องกันการเข้าถึง ควบคุม และคุ้มครองสุขภาพอนามัยประชาชนจากพิษภัยของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ