ความเป็นมาการสาธารณสุขมูลฐาน
การสาธารณสุขมูลฐานเกิดจากแนวความคิด ซึ่งมองเห็นปัญหาใหญ่ๆ 2 ประการคือ
1. การครอบคลุมประชากรในด้านบริการสาธารณสุข
2. การผสมผสานงานบริการด้านต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือกับงานพัฒนาสังคมด้านอื่น ๆ
กลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทจริง ๆ หรือท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลนั้น ไม่ค่อยจะมีโอกาสที่จะเข้ามารับบริการ ซึ่งในกรณีนี้หากว่าชาวบ้านไม่เจ็บป่วยหนักจริง ๆ แล้วเขาจะไม่ยอมเสียเงิน เสียเวลาเดินทางมารับบริการ เพราะนอกจากเขาจะเสียทั้งเงินทั้งเวลาและต้องเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางแล้ว บางครั้งเมื่อเขาเดินทางมาถึงสถานบริการก็ยังไม่ได้พบเจ้าหน้าที่หรือต้องเสียเวลาคอยนาน ทั้งนี้ เนื่องจากมีผู้ป่วยมาคอยรับบริการอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความท้อแท้ไม่อยากเดินทางมารับบริการอีกต่อไป นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้การครอบคลุมบริการโดยสถานบริการของรัฐ มีอัตราการให้บริการต่ำและจำกัด
ถ้าเราดู ประเภทของบริการ เราจะเห็นได้ว่าขั้นแรกเราต้องรวมเรื่อง การรักษาพยาบาล และ การป้องกันโรค รวมทั้งเรื่อง การส่งเสริมสุขภาพอนามัย เข้าด้วยกัน หากว่าเราแบ่งแยกเรื่องสองเรื่องนี้ออกจากันแล้ว งานสาธารณสุขก็จะไม่เกิดประสิทธิผล หรือหากเกิดประสิทธิผลแต่ก็เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ตัวอย่างเช่น งานควบคุมและป้องกันโรคระบาด เราจำเป็นที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันโรค เราจำเป็นจะต้องหาผู้ป่วยด้วยโรคระบาดให้ได้เร็วที่สุด พร้อมกับทำการรักษาพยาบาลเสียแต่แรกเริ่ม ก่อนที่โรคจะลุกลามและแพร่หลาย หรือแม้แต่ในกรณีของโรคติดเชื้อต่าง ๆ นั้น มิใช่เพียงแต่ต้องการรักษาพยาบาลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการให้มีการเสริมและปรับปรุงสภาวะโภชนาการของผู้ป่วยพร้อม ๆ กันไปด้วย รวมทั้งการปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เป็นต้น
หันมาดูเรื่องการกระจายงบประมาณบ้าง กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณร้อยละ 4 - 5 ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นที่พอใจ แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะดูให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับนี้ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการจัดสร้าง และดำเนินการจัดบริการของสถานบริการสาธารณสุขต่าง ๆ และไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด ซึ่งพวกเราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทำการแก้ไข
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้วนี่เอง จึงจำเป็นต้องนำแนวความคิดเรื่องการสาธารณสุขมูลฐานมาใช้ในการดำเนินงานสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งถ้าดูให้ลึกซึ้งแล้วจะเห็นว่าในประเทศไทยของเราได้ดำเนินการสาธารณสุขมูลฐานมาเป็นเวลานานแล้ว เราได้เริ่มต้นงานนี้เพราะว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่างจังหวัดที่มีประสบการณ์ในการทำงาน มองเห็นว่าการบริการของรัฐนั้นมีขอบเขตจำกัด ไม่สามารถจะให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง เขาหล่านั้นจึงเกิดความคิดว่าทำอย่างไรจึงจะขยายบริการให้ดำเนินไปได้อย่างกว้างขวางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพราะว่าเราเข้าใจและยอมรับว่างานบริการบางประเภทเป็นงานที่ชาวบ้านสามารถช่วยได้ เพราะเขาได้เคยเห็นบทบาทความช่วยเหลือที่ชาวบ้านสามารถทำเองได้หลาย ๆ ประการ
ชาวบ้านที่มีความสนใจในทุกข์สุขของเพื่อนบ้าน เคยให้ความร่วมมือช่วยเหลือในงานสาธารณสุข เช่น การจัดหาเด็กมาให้ฉีดวัคซีน แนะนำคนไข้มาที่สถานีอนามัยเพื่อการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นการทำงานที่มีลักษณะงานเป็นครั้งคราว ไม่มีความต่อเนื่อง ในที่สุดก็เกิดความคิดใหม่ขึ้นมา เป็นความคิดที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของเราเอง เราได้เริ่มทำในต่างจังหวัดโดยไม่ได้เอาแบบอย่างมาจากต่างประเทศ งานในลักษณะนี้เราได้ทำกันเป็นเวลานานมาแล้ว แต่ยังไม่มีใครมองเห็นความสำคัญ เลยไม่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินงานในลักษณะนี้มาแต่เดิมดำเนินการไปด้วยใจรัก จนกระทั่งถึงการวางแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 4 แนวความคิดนี้จึงได้มีบทบาทสำคัญในแผนงานที่เรียกว่า "งานสาธารณสุขมูลฐาน"
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2524-2525 องค์การอนามัยโลกได้เสนอความคิดขึ้นมาว่า หากจะให้ประชากรทุกคนในโลกหรือประชากรในประเทศมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้นแล้ว งานสาธารณสุขจะต้องได้รับการส่งเสริม ให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งในขณะนั้นก็ได้มีประเทศต่าง ๆ ได้เริ่มดำเนินการทำนองนี้แล้ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย พร้อมกันนั้นประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกได้มีมติให้ถือว่า ปี ค.ศ. 2000 หรือ พ.ศ. 2543 เป็นเป้าหมายที่ประชากรทุกคนของประเทศสมาชิกจะมีสุขภาพอนามัยดีอย่างทั่วถึง ซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย ได้ยอมรับเป้าหมายดำเนินงาน เมื่อเดือนกันยายน 2521 ได้มีการประชุมเรื่องการสาธารณสุขมูลฐานขึ้นที่เมืองอัลมาอตาประเทศรัสเซีย ที่ประชุมยอมรับหลักการว่า สาธารณสุขมูลฐาน เป็นกลวิธีที่เหมาะสมที่จะทำให้ประชากรทุกคนมีสุขภาพอนามัยดีอย่างทั่วถึงได้
วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ วันที่ 20 มีนาคม ทุกปี
กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มโครงการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในปี พ.ศ.2520 ในระยะแรกเป็นไปในลักษณะโครงการทดลองใน 20 จังหวัด โดยดำเนินการทดลองในทุกอำเภอ อำเภอละ 1 ตำบลซึ่งตำบลที่เข้าไปดำเนินการต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. เคยดำเนินการอบรมผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข (ผสส.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)มาแล้ว
2. สะดวกต่อการเข้าไปนิเทศงานและประเมินผล
3. มีสถานีอนามัยและมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ
วัตถุประสงค์ในการดำเนินงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้แก่
1. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีที่ง่ายประหยัด และทั่วถึง
2. เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท
3. เพื่อแก้ไขปัญหารักษาพยาบาลหรือดูแลรักษาสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของประชาชน
ผู้ที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการดูแลสุขภาพอนามัยของเพื่อนบ้านโดยมิหวังผลตอบแทนใดๆ เรียกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มีความสมัครใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความเสียสละ และมีเวลาพอที่จะช่วยเหลือชุมชน
2. มีความรู้อ่านออกเขียนได้
3. เป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้วางใจ
4. มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในหมู่บ้านนั้น ๆ
5. มีอาชีพแน่นอนและมีรายได้เลี้ยงตนเอง
6. ตั้งบ้านเรือนอยู่ในสถานที่ที่ประชาชนไปติดต่อได้ง่าย
7. ไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดอายุ
8. ไม่ควรเป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล
ในการคัดเลือกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จะคัดเลือกโดยวิธีออกเสียงในที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วยกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน (ถ้ามี) กลุ่มผู้สื่อข่าวสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตำบล แต่จะไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจว่า อสม. เป็นข้าราชการ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่อาสาสมัครสาธารณสุข ได้มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีสุขภาพอนามัยดีขึ้น ช่วยให้ประเทศชาติลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็นลง ได้อย่างมหาศาลโดยทำหน้าที่ไนการ "แก้ข่าวร้ายกระจ่ายข่าวดีชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี" ด้วยความวิริยุอุตสาหะ โดยปัจจุบันได้มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นจำนวนถึง 686,537 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งในเขตเมือง และเขตชนบท เพื่อทำหน้าที่ในการ ถ่ายทอดความรู้ กระตุ้นเตือน และส่งเสริมชักชวนให้พี่น้องประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันโรค โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้องตามแนวสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ทำให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รัฐบาลได้ตระหนักถึงคุณค่าและคุณความดีของอาสาสมัครสาธารณสุขจึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2536 กำหนดให้ วันที่ 20 มีนาคมของทุกปี เป็นวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นวันที่มีความสำคัญ และมีความหมายต่ออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เท่านั้น แต่ยังเป็นวันที่มีความสำคัญต่อการสาธารณสุขในประเทศไทยอีกด้วย เนื่องจากวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2522 เป็นวันที่รัฐบาลได้บรรจุให้การสาธารณสุขมูลฐานเป็นนโยบายและโครงการระดับชาติ
องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐาน
จำนวน 14 องค์ประกอบ
องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทยนั้น มีความสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน โดยเป็นองค์ประกอบที่มีความเชื่อมโยงกับงานบริการสาธารณสุขพื้นฐาน (Basic Health Service) ซึ่งรัฐบาลได้เป็นผู้จัดให้แก่ประชาชน
องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐานดังกล่าวประกอบด้วยการบริการแบบผสมผสาน 4 ด้าน คือ การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสภาพ ซึ่งสามารถแยกออกเป็นงานที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองออกเป็นงานต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่าเป็น องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐาน จำนวน 14 องค์ประกอบคือ
1. งานโภชนาการ อสม. มีหน้าที่กระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาโภชนาการที่เกิดขึ้น เช่น โรคขาดสารอาหารในเด็ก 0-5 ชวบ หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำเป็นต้น โดยร่วมมือกับกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำ กลุ่มแม่บ้าน ในการค้นหา สำรวจสภาวะอนามัยเด็ก ชั่งน้ำหนักเด็ก 0-5 ขวบ ทุกคนเป็นประจำ เมื่อพบเด็กคนใดที่ขาดสารอาหารก็ดำเนินการให้อาหารเสริมโดยเร็ว ให้ความรู้แก่แม่ในการให้อาหารแก่ทารก ตลอดจนส่งเสริมการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อนำมาเป็นอาหาร
2. งานสุขศึกษา ให้สุขศึกษาในเรื่องต่าง ๆ เช่น ปัญหาสาธารณสุขของท้องถิ่น การร่วมกันแก้ไขปัญหา เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน
3. การรักษาพยาบาล อสม. ให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็นเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสามารถของ อสม. ในการรักษาพยาบาล และชี้แจงให้ทราบถึงสถานบริการของรัฐ ตลอดจนส่งต่อผู้ป่วยถ้าเกินความสามารถของ อสม.
4. การจัดหายาที่จำเป็น ดำเนินการจัดตั้งกองทุนยาและเวชภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน หรือจัดหายาที่จำเป็นไว้ให้บริการในศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสมช.) และดำเนินการให้ประชาชนสามารถซื้อยาที่จำเป็นเหล่านี้จากกองทุน หรือ ศสมช. ได้สะดวก รวดเร็ว และมีราคาถูก
5. การสุขภิบาลและจัดหาน้ำสะอาด อสม. ชี้แจงให้ประชาชน กรรมการหมู่บ้าน ทราบถึงความสำคัญของการจัดหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม การสร้างส้วม การกำจัดขยะมูลฝอย และการจัดบ้านเรือนให้สะอาด เป็นต้น
6. อนามัยแม่และเด็กและการวางแผนครอบครัว อสม. ชี้แจงและจูงใจให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญของการวางแผนครอบครัว ความจำเป็นของการดูแลก่อนคลอด (การฝากครรภ์) และการดูแลหลังคลอด นัดหมายมารดามารับบริการและความรู้ในการปฏิบัติตน การกินอาหาร ชั่งน้ำหนัก และวัดความดันโลหิต นัดเด็กมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ
7. งานควบคุมป้องกันโรคติดต่อในท้องถิ่น อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าในหมู่บ้านมีโรคอะไรที่เป็นปัญหา เช่น โรคอุจาระร่วง โรคพยาธิ ไข้เลือดออก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการป้องกันและรักษา รวมทั้งการร่วมมือกันในการดำเนินการควบคุมและป้องกันมิให้เกิดโรคระบาดขึ้นได้
8. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญของการให้วัคซีนป้องกันโรคติดต่อ และนัดหมายเจ้าหน้าที่ออกไปให้บริการแก่ประชาชนตามจุดนัดพบต่าง ๆ
9. การส่งเสริมสุขภาพฟัน อสม. ชี้แจงและให้ความรู้กับประชาชนถึงการดูแลฟัน การรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน นัดหมายประชาชนให้มารับบริการในสถานบริการหรือเมื่อมีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เข้ามาในชุมชน
10. การส่งเสริมสุขภาพจิต อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงการส่งเสริมสุขภาพจิต การค้นหาผู้ป่วยในระดับชุมชน เพื่อจะได้รับการแนะนำ การรักษาที่ถูกต้อง
11. อนามัยสิ่งแวดล้อม อสม. ร่วมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับงานอนามัยสิ่งแวดล้อมกับประชาชน ประชาชนทุกคนเฝ้าระวังมิให้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดมลภาวะ องค์กรชุมชนร่วมกันวางแผนแก้ปัญหาของชุมชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ส่งเสริมและให้ความรู้เรื่องสารเคมีในการเกษตร แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิด
12. คุ้มครองผู้บริโภค อสม. ร่วมกับประชาชนสอดส่องดูแลพฤติกรรมของร้านค้า รถขายยาเร่ ฯลฯ หากพบเห็นผู้กระทำผิดกฏหมายก็แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการ อสม.ร่วมกันให้ความรู้แก่เพื่อนบ้านในการเลือกซื้อสินค้า เช่น อาหาร เครื่องปรุงรส ขนม เครื่องสำอางที่มีมาตรฐานตามเกณฑ์ อย. มาใช้ ตลอดจนอาจจัดตั้งกลุ่ม ชมรม เพื่อร่วมมือประสานงานกันดูแลประชาชนในพื้นที่
13. การป้องกันควบคุมอุบัติเหตุ อุบัติภัย และโรคไม่ติดต่อ อสม. ร่วมกันค้นหาผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต มะเร็ง พร้อมทั้งจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาหรือส่งต่อ วิธีการปฏิบัติตนให้พ้นจากการเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ ให้ความรู้แก่ประชาชนถึงแนวทางการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุ อุบัติภัย ตลอดจนสร้างเสริมความมีน้ำใจและเอื้ออาทรต่อผู้พิการในชุมชนและร่วมกันฟื้นฟูสภาพผู้พิการ
14. เอดส์ อสม. ให้ความรู้กับประชาชนให้ทราบถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และการปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ ตลอดจนมีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยเอดส์ ให้สามารถอาศัยอยู่ในชุมชนได้โดยชุมชนยอมรับ และไม่แพร่กระจายโรคเอดส์สู่คนในชุมชน
องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐานทั้ง 14 องค์ประกอบนี้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มทีเดียวพร้อมกันหมดทุกอย่าง อาจจะเริ่มในเรื่องที่ประชาชนคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นจริง ๆ ของชุมชนของตนเองก่อน แล้วภายหลังต่อมาก็ขยายต่อไปได้อีก และถ้าหากชุมชนใดไม่มีปัญหาในบางเรื่องเหล่านี้ องค์ประกอบที่ดำเนินการก็อาจลดลงได้ตามสภาพของความเป็นจริงของชุมชนนั้นๆ
อสม. จำแนกเป็น 4 ประเภท
อาสาสมัครสาธารณสุข จำแนกเป็น 4 ประเภท (Guru Snook, 2556) ได้แก่
1. อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ภูมิภาค หมายความว่า อาสาสมัครสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง รวมถึงเมืองพัทยา เรียกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
2. อาสาสมัครสาธารณสุข ในเขตกรุงเทพมหานคร หมายความว่า อาสาสมัครสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรียกว่า อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.)
3. อาสาสมัครสาธารณสุข ของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ผ่านการอบรมตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (อสม.กฟผ.) และอาสาสมัครสาธารณสุขขนส่งมวลชน (อสม.ขสมก) ฯลฯ
4. อาสาสมัครสาธารณสุขกิตติมศักดิ์ หมายความว่า บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์หรือสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุข
บทบาท อสม.ในยุคโควิด
องค์การอนามัยโลก ได้เผยแพร่บทความ
"อสม.ไทยกว่าล้านคน หรือ “ผู้ปิดทองหลังพระ” ช่วยสอดส่องดูแลให้ชุมชนห่างไกลโควิด 19" [
สิ่งหาคม 2020] ฉายภาพบทบาทของอสม. กว่า 1 ล้าน 5 หมื่นคน ทั่วประเทศไทยที่มีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยดูแลสุขภาพประชาชนในประเทศไทยช่วงเวลา 4 ทศวรรษนับแต่ก่อตั้งโครงการ
"อสม.เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาออกไปสำรวจข้อมูลด้านสาธารณสุข เก็บข้อมูล เก็บบันทึกด้านสุขภาพของครอบครัว และรณรงค์เรื่องการป้องกันโรคเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด การเก็บประวัติสุขภาพของสมาชิกในชุมชนโดยละเอียดได้ถูกนำมาใช้เพื่อติดตามผู้สัมผัสโรคและเพื่อติดตามด้านสุขภาพ
อสม.เหล่านี้ได้ปกป้องคนในชุมชนจากโรคที่คุ้นเคยตลอดฤดูกาลระบาดมานานแล้ว ในช่วงฤดูฝน พวกเขาไปเยี่ยมตามบ้านเพื่อช่วยกำจัดแหล่งน้ำขังซึ่งเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงลายอันเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ช่วยกำจัดลูกน้ำ และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์อื่นๆ ส่วนในช่วงฤดูร้อน พวกเขาช่วยทางปศุสัตว์ท้องถิ่นฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้โคกระบือและสัตว์เลี้ยง"
โควิดยิ่งระบาด ยิ่งต้องพึ่งพา อสม.
ในภาวะโรคระบาดใหญ่อย่างโรคโควิด-19 ความรู้และประสบการณ์ ของ อสม. ที่เข้าเคยเข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่ ถือเป็นบทเรียนและกลยุทธ์สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะนำมาปรับใช้ในสถานการณ์จำเป็นเช่นนี้
"อสม.ไปเคาะตามประตูบ้านทุกหลังเพื่อให้คำแนะนำเรื่องการป้องกันโรคโควิด 19 อาการและการสังเกตตนเอง แจกหน้ากากซึ่งพวกเขาเย็บเอง ตลอดจนแจกแอลกอฮอล์เจลและใบปลิว ช่วงที่ประเทศไทยมีการระบาดสูง พวกเขาได้รับหน้ากากและเฟสชิล์ด ถุงขยะอันตรายและแอลกอฮอล์เจลเพื่อปกป้องตนเอง"
ทั่วประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ 2 ถึง 26 มีนาคม อสม.ไปเยี่ยมบ้านถึง 3.3 ล้านหลังคาเรือน ช่วง 27 มีนาคมถึง 11 เมษายน พวกเขาไปเยี่ยมเพิ่มเติมอีก 8 ล้านหลังคาเรือนเพื่อค้นหาผู้ป่วยโควิด 19 โดยเน้นที่กลุ่มคนต้องสงสัยว่ามีความเสี่ยงตามคำนิยามของกระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุขบริหารจัดการอสม.จำนวน 1.04 ล้านคนทั่วประเทศ รวมถึงอาสาสมัคร 15,000 คนในกรุงเทพฯ อสม.แต่ละคนได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน และได้รับอีก 500 บาทเพิ่มในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19