นายแพทย์ดุษฎี คงตระกูลทรัพญ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง กล่าวถึงกรณีมีการนำพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์ว่า ตอนนี้ประชาชนสามารถบริโภคพืชกระท่อมที่เป็นใบสด การขายใบสด การขายเมล็ด การขยายพันธุ์กระท่อม ทำได้โดยไม่ผิดกฏหมายแต่อย่างใด
สรุปง่ายดังนี้
1. ปลูก ซื้อ ขาย ต้นกระท่อม - ไม่ผิด
2. ใบสด ลำต้น เมล็ด - ไม่ผิด ขายได้
3. ต้มน้ำกระท่อม ดื่มเอง หรือ แจก - ไม่ผิด ทำได้
4. ต้มน้ำกระท่อม เพื่อ ขาย - ผิด ทำไม่ได้
ย้ำว่า หากนำกระท่อมไป
ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นเครื่องดื่ม โดยการต้ม ผสม ปรุงแต่ง แจก หรือจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 50 ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจว่า แม้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด แต่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนเท่านั้น
มุ่งลดอุปสรรคระดับชาวบ้าน
ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมได้อย่างเต็มที่ กระทรวงสาธารณสุขจึงสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์ จากพืชกระท่อมเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางได้
ทั้งนี้ เรื่องนี้เป็นอุปสรรคในการค้าขายแบบชาวบ้าน ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ...คณะกรรมาธิการฯ ซึ่งตัวเองเป็นประธานฯ ได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะส่งให้กระทรวงสาธารณสุข รับไปพิจารณาดำเนินการต่อ - ความเห็นของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม (ThaiPBS)
ภาพจาก ThaiPBS Manager Online
รู้จักกระท่อม
ไหนๆ ก็ปลดจากการเป็นพืชเสพติดแล้ว แต่ยังรู้จักกันน้อย เพราะโดนห้ามไปนาน (ถูกกำหนดเป็นยาเสพติดต้องห้ามครั้งแรก ปี 2486) จึงชวนมารู้จักกระท่อมกันมากขึ้นอีกสักนิด
กระท่อมเป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้นี้เอง พบมากในภาคใต้บ้านเรา และตอนบนของมาเลเซีย กระท่อมในภาคใต้ มีชื่อเสียงมานานว่าเป็นแหล่งปลูกชั้นดี และมีการนำมาใช้ประโยชน์เป็นตัวยามาตั้งแต่โบราณ ในหลายตำรับ เช่น แก้ไอ แก้ปวดเมื่อย แก้เบาหวาน แก้ท้องเสีย บริโภคโดยการกินสดๆ หรือต้มเป็นชาดื่มก็ได้
ด้วยกระท่อมมีสารไมตราเจนีน มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีคุณสมบัติเป็นยาแก้ปวด เช่นเดียวกันกับมอร์ฟีน ผู้ใช้จึงมีอาการ ต่างๆ อาทิ กระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ไม่ปวดเมื่อย แต่หากใช้ไปนานๆ จะมีผลต่อร่างกาย อาทิ ผม ท้องผูก ปัญหาสุขภาพช่องปาก