2.3 วันที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 09.00 น. ปส. ได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือตรวจวัดทางรังสีเข้าตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินภายในโรงงานพร้อมเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ร่วมปฏิบัติงานจำนวน 50 คน โดยตรวจสอบอย่างระเอียดทุกพื้นที่ภายในสถานประกอบการ ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าวภายในสถานประกอบการดังรูปภาพที่ 3 และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรีจัดประชุมหารือ พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการตรวจพิสูจน์และค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีเป็นประธาน
2.4 วันที่ 14 มีนาคม 2566 ปส. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอศรีมหาโพธิ ได้ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหาย โดยการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการกิจการรับซื้อเศษโลหะและโรงหลอมเหล็กขนาดใหญ่จำนวน 15 แห่ง ภายในอำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดทางรังสีในการสำรวจวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหาย และการสอบถามข้อมูลจากสถานประกอบการดังกล่าว ผลการตรวจสอบยังไม่พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในพื้นที่ดังรูปภาพที่ 4
2.5 วันที่ 14 มีนาคม 2566 เวลา 15.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และตัวแทนบริษัทฯ ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่องวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium – 137, Cs -137 ) สูญหายดังรูปภาพที่ 5
2.6 วันที่ 15 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ ปส. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอศรีมหาโพธิ ได้ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหาย โดยการเข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการรับซื้อเศษโลหะจังหวัดฉะเชิงเทราดังรูปภาพที่ 6
2.7 วันที่ 16 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ ปส.ดำเนินการตรวจสอบความเปรอะเปื้อนทางรังสีในพื้นที่และของบุคลากรของโรงงาน
3. การเฝ้าระวังด้านสุขภาพของประชาชน
3.1 วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย เป็นวัสดุกัมมันตรังสีที่มีเครื่องกำบังรังสีที่เป็นตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็กโดยวัสดุกัมมันตรังสีจะอยู่ในชั้นในสุด หากวัสดุกัมมันตรังสียังอยู่ในสภาพเดิมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
3.2 กรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหาย มีการถอดประกอบหรือชำแหละเครื่องกำบังที่ห่อหุ้มจนทำให้วัสดุกัมมันตรังสีมีลักษณะเปลือยเปล่า จะมีรัศมีการแผ่รังสีออกจากวัสดุกัมมันตรังสีประมาณไม่เกิน 1-2 เมตร
3.3 หากมีการสัมผัสวัสดุกัมมันตรังสีโดยตรง จะทำให้ผู้สัมผัสเกิดผื่นแดง หรือเป็นแผลไหม้บริเวณที่สัมผัสวัสดุกัมมันตรังสี
3.4 จากการประเมินสถานการณ์ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายได้หลุดออกจากเครื่องกำบัง ดังนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
4. การเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการ/บริษัทฯ ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการรับมือกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหาย ดังนี้
4.1 ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี ดำเนินการยกระดับภัย จากภัยระดับ 1 เป็นระดับ 2 ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ 2564 – 2570 โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 จังหวัดปราจีนบุรีเพื่อเป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าว
4.2 ขอรับการสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วม จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ตามแผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2564-2570
4.3 ให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปราจีนบุรีจัดเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของพนักงานในโรงงาน ที่อาจได้รับอันตรายจากวัสดุกัมมันตรังสี ดูแลการจ้างงานในกรณีมีการหยุดการทำงาน ตลอดจนสิทธิสวัสดิการของพนักงานในระหว่างที่หยุดการทำงาน ในระหว่างตรวจหาและแก้ไขปัญหาวัสดุกัมมันตรังสีสูญหาย
4.4 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี ประสานโรงพยาบาล เตรียมความในการบำบัดรักษาผู้ป่วย ที่อาจได้รับผลกระทบจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สูญหาย
4.5 ให้อำเภอศรีมหาโพธิ ตรวจค้นหาวัตถุดังกล่าว ในสถานประกอบการร้านค้าของเก่า และประเภทอื่น ๆในพื้นที่
4.6 ให้มีการประสานกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อให้ข้อมูลการเฝ้าระวัง การปฏิบัติตัวหากมีการพบวัสดุกัมมันตรังสีแก่สถานประกอบการ ผู้ประกอบกิจการค้าเศษโลหะ ของเก่า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ หากท่านใดพบเห็นวัตถุดังกล่าว โปรดแจ้งกลับมาที่คุณอารีย์ จักษ์ตรีมงคล หมายเลขโทรศัพท์ 085-8350190 (ตลอด 24 ชั่วโมง) สำหรับผู้ที่ชี้เบาะแสจนสามารถนำวัสดุกัมมันตรังสีที่สูญหายกลับมาได้ จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท