ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

วิธีรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ล้างไตทางช่องท้อง - ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

วิธีรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ล้างไตทางช่องท้อง - ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม Thumb HealthServ.net
วิธีรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ล้างไตทางช่องท้อง - ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ThumbMobile HealthServ.net

การรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 3 วิธีด้วยกัน คือ
1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
2. การล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD)
3. การปลูกถ่ายไต
ทั่วโลกมีการศึกษาการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ระหว่างวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ปรากฎฏว่ามีคุณภาพการรักษาที่ไม่แตกต่างกัน แต่อาจจะแตกต่างกันในด้านการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานอาหาร

  

“ล้างไตทางช่องท้อง” ลดติดเชื้อในเลือด

รพ.ราชวิถี

 
อดีตนายกสมาคมโรคไตฯ เผยล้างไตช่องท้อง ช่วยผู้ป่วยโรคไตทั่วประเทศ แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ศูนย์บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มีจำกัด ยันคุณภาพรักษาไม่ต่างกัน อัตราการติดเชื้อลดลงอยู่ในเกณฑ์เดียวกับต่างประเทศ อันตรายน้อยกว่าผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดมากกว่า
 
พล.ต.พญ.อุษณา ลุวีระ อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และอดีตนายกสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินสิทธิประโยชน์ให้การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ส่งผลให้ผู้ป่วยที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพสามารถเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น

ซึ่งการรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมี 3 วิธีด้วยกัน คือ

1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)

2. การล้างไตผ่านช่องท้อง (CAPD) และ

3. การปลูกถ่ายไต


วิธีที่ 3 เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดที่มีผู้บริจาคไตน้อย ผู้ป่วยต้องได้รับการบริจาคไตจากญาติที่มีสายเลือดเดียวกัน สามีหรือภรรยา รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายซึ่งศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาดชาดไทยได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยสมองตาย ระหว่างรอการบริจาคไตผู้ป่วยจึงต้องทำการล้างไตด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก่อน
 

พล.ต.พญ.อุษณา กล่าวว่า ส่วนการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2525 ขณะนั้นยังเป็นการล้างไตโดยใช้น้ำยาล้างไตในบรรจุภัณฑ์แบบขวด ไม่ได้เป็นถุงน้ำยาล้างไตที่เป็นมาตรฐานอย่างในปัจจุบัน ทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก แต่หลังจากมีการนำน้ำยาล้างไตที่บรรจุภัณฑ์แบบถุงตามมาตรฐานสากลมาใช้ ประกอบกับมีการพัฒนาอุปกรณ์และเทคนิคการล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ทำให้การล้างไตผ่านช่องท้องได้ผลที่ดี
 
ส่วนที่ สปสช.มีการกำหนดนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (CAPD First Policy) มองว่าเป็นแนวทางที่ช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลในต่างจังหวัด ถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และศูนย์บริการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะที่การล้างไตผ่านช่องท้อง พยาบาล 1 คน สามารถดูแลผู้ป่วยได้ถึง 50 คน อีกทั้งการเปิดศูนย์ไตเทียมเพิ่มในพื้นที่ห่างไกลยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องมีการลงทุนที่สูงมากและขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญ
 
ขณะที่การล้างไตช่องท้องหลังจากที่สอนวิธีเพียง 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็สามารถทำเองที่บ้านได้ โดยนัดพบแพทย์เพียงแค่ 2-3 เดือนต่อครั้งเท่านั้น ไม่ต้องเดินทางมาฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่โรงพยาบาล 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และยังต้องใช้เวลาฟอกเลือดครั้งละ 4 ชั่วโมง ไม่รวมระยะเวลาเดินทาง ทำให้ผู้ป่วยเสียเวลาค่อนข้างมาก ผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหากหยุดฟอกเลือดไปเพียง 2-3 วัน จะมีอาการหอบเหนื่อยจากน้ำท่วมปอดได้ง่าย
 
“ทั่วโลกมีการศึกษาการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ระหว่างวิธีล้างไตผ่านช่องท้อง และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ปรากฎฏว่ามีคุณภาพการรักษาที่ไม่แตกต่างกัน โดยข้อดีของการล้างไตผ่านช่องท้องคือผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้หลากหลาย เนื่องจากมีการฟอกเลือดตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยสามารถกินผักและผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูงได้ ขณะที่ผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมซึ่งต้องเว้นระยะการฟอกเลือด 2-3 วัน ในระหว่างนั้น หากกินผักและผลไม้ที่มีโปแตสเซียมสูง จะเกิดภาวะโปแตสเซียมคั่งในร่างกายจนเกิดภาวะเป็นพิษ ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้” อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าว
 
พล.ต.พญ.อุษณา กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นการติดเชื้อในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง จากการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการติดเชื้อลดลง โดยปัจจุบันอัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 เดือนต่อครั้ง นับว่าดีกว่าเดิมมาก ทั้งยังเป็นอัตราเฉลี่ยเดียวกับสากล สำหรับผู้ป่วยที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้มากกว่าและเป็นอันตรายกว่า เนื่องจากในการฟอกเลือดผู้ป่วยต้องได้รับการแทงเข็มลงไปในเส้นเลือดดำโดยตรงและนำเลือดออกมาฟอกนอกร่างกาย 4-5 ชั่วโมง ทุก 2-3 วัน ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ อีกทั้งในผู้ป่วยบางรายไม่สามารถผ่าตัดเส้นเลือดได้ จึงต้องคาเส้นเทียมไว้ในเส้นเลือดดำ ยิ่งเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นอันตรายแล้ว ยังส่งผลต่อค่าใช้จ่ายรักษาที่เพิ่มมากขึ้น จึงมองว่าเป็นข้อดีของนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกหรือ CAPD First Policy
 
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 

 

การล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) จาก รามาชาแนล 

คลิปรายการไตวาไรตี้ วันนี้เป็นเรื่องของการล้างไตทางช่องท้อง รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาโรคไต สูตรการล้างไตต่างๆที่แชร์ในโลกออนไลน์สูตรดังกล่าวมีหน่วยงานทางแพทย์ของไทยออกมาเตือนว่าไม่ได้ผลนอกจากอันตรายแล้วยังเร่งให้ไตเสื่อมไวขึ้นด้วย  [source]
 

การล้างไตทางช่องท้อง (PD) คืออะไร?

การล้างไตทางช่องท้อง (PD) เป็นการทำความสะอาดเลือดและขจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกายโดยใช้ตัวกรองที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เยื่อบุผนังช่องท้องของร่างกายนั่นเอง เยื่อบุผนังช่องท้องเป็นเยื่อบางๆ ที่ห่อหุ้มช่องท้อง หรือเป็นเยื่อที่แบ่งช่องในท้อง ซึ่งบรรจุอวัยวะต่างๆ ทั้งกระเพาะอาหาร ม้าม ตับ และลำไส้ น้ำยาล้างไตจะถูกใส่เข้าไปในช่องท้อง เยื่อบุผนังช่องท้องจะทำหน้าที่กรองของเสียและของเหลวออกจากเลือดไปสู่น้ำยาล้างไต หลังจากนั้น 2-3 ชั่วโมง น้ำยาล้างไตที่มีของเสียอยู่จะถูกปล่อยออกจากช่องท้องและถูกแทนที่ด้วยน้ำยาใหม่ที่เติมเข้าไป  ทั้งหมดนี้เรียกว่า การเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตและการแลกเปลี่ยนของเสีย (Exchange) พยาบาลผู้มีประสบการณ์ในการล้างไตทางช่องท้องจะช่วยฝึกสอนให้คุณสามารถทำการล้างไตทางช่องท้องได้ด้วยตนเองที่หน่วยบริการล้างไตในฐานะผู้ป่วยนอกได้  ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถทำการล้างไตทางช่องท้องได้เองหลังจากได้รับการฝึกอบรมประมาณ  5-7 ครั้ง  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล  หากคุณมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาควรปรึกษาพยาบาลหรือแพทย์เจ้าของไข้  และคุณอาจต้องไปที่คลินิกอย่างน้อยเดือนละครั้ง


การล้างไตทางช่องท้อง (PD) ส่งผลต่อวิถีชีวิตของคุณอย่างไร

ผู้คนส่วนใหญ่พึงพอใจกับความยืดหยุ่นและความมีอิสระด้วยการล้างไตทางช่องท้อง  นักโภชนาการจะช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารของคุณ  และสำคัญอย่างยิ่งที่คุณควรปฏิบัติตามคำแนะนำของนักโภชนาการเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดสารอาหาร  เพราะการรับประทานอาหารไม่เพียงพออาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เหนื่อยล้า และคุณภาพชีวิตต่ำลง  ผู้ที่ใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้องสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  เพราะการล้างไตด้วยตนเอง  ทำให้คุณสามารถปรับตารางการล้างไตให้เหมาะสมกับการทำงาน การเรียน หรือแผนการเดินทางของตนเองได้
 

การล้างไตทางช่องท้อง (PD)

 
ข้อดี
  • ผู้ป่วยมีความยืดหยุ่นและความมีอิสระในชีวิต
  • ไปคลินิกเพียงเดือนละครั้ง
  • สามารถทำการล้างไตได้แม้ในขณะหลับ
  • เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้เข็มฉีดยา
  • เป็นวิธีบำบัดอย่างต่อเนื่องจึงคล้ายกับการทำงานของไต
  • ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังหน่วยบริการล้างไตเพื่อทำการล้างไต
  • เนื่องจากไม่ต้องใช้เข็มฉีดยาวิธีนี้จึงไม่มีเลือดออก  ซึ่งแตกต่างจากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis หรือ HD)
  • สามารถทำการล้างไตได้ง่ายแม้ขณะไปท่องเที่ยว
 
 
ข้อเสีย
  • จำเป็นต้องกำหนดตารางเวลาการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตให้เป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวันตลอดสัปดาห์
  • จำเป็นต้องมีสายท่อล้างไตแบบถาวรยื่นออกมานอกร่างกาย
  • มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • อาจทำให้มีน้ำหนักและรอบเอวที่เพิ่มขึ้น
  • ต้องการพื้นที่ในบ้านสำหรับจัดเก็บน้ำยา อุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างไต
  • ต้องการพื้นที่ในห้องนอนสำหรับวางเครื่องมือ  กรณีใช้วิธีการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติผู้ที่มีรูปร่างใหญ่มาก อาจต้องทำการล้างไตบ่อยขึ้น

 
ชนิดของการล้างไตทางช่องท้อง

การล้างไตทางช่องท้อง (PD) มีหลายประเภท คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตัวคุณ
 
 
การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD)

การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เป็นการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องควบคุมการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตแบบอัตโนมัติซึ่งจะทำในเวลากลางคืนขณะที่ผู้ป่วยนอนหลับ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค้างน้ำยาล้างไตไว้ในช่องท้อง หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตเพียงครั้งเดียวในระหว่างวัน  การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการอิสระจากการล้างไตตอนกลางวัน  APD ช่วยให้คุณไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตทุกๆ 4-6 ชั่วโมง  คุณจึงมีอิสระมากขึ้น  การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ บางครั้งเรียกว่า การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยเครื่อง (CCPD)
 
 
การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเอง (CAPD)

การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองเป็นการทำความสะอาดเลือดตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน  โดยที่ผู้ป่วยยังสามารถทำกิจวัตรเช่นเดินไปมาได้ตามปกติแม้ในขณะที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไต  เพราะการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองนี้  ใช้เพียงถุงน้ำยาล้างไตซึ่งแขวนบนเสาที่มีล้อในระหว่างการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง และสายที่เชื่อมต่อมายังสายท่อล้างไตของคุณ  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตวันละ 4 ครั้ง คือ เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ตอนกลางวัน ก่อนอาหารเย็นและก่อนนอน  ซึ่งการเปลี่ยนน้ำยาล้างไตในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 30 นาที  น้ำยาล้างไตจะค้างอยู่ในช่องท้องในช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนของเสียและในช่วงเวลากลางคืน  ในขณะที่มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เป็นข้อห้ามได้ เช่น ดูทีวี คุยโทรศัพท์ นั่งทำงานบนโต๊ะ หรืออ่านหนังสือ เป็นต้น  การเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตสามารถทำได้ในบริเวณที่สะอาด ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือแม้แต่เวลาไปท่องเที่ยว

  [Source:
 Baxter]
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด