ข้อสรุปจำนวน 95 มาตรา
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้สรุปเกี่ยวกับ 95 มาตราของร่าง พ.ร.บ. โดยระบุว่า ร่างกฏหมายฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ หลายประการ ดังนี้
1. การแยกส่วนที่เป็นยาเสพติด ออกจากส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติด
ส่วนที่เป็นยาเสพติด
กำหนดโดยสาร THC ที่เป็นสารเมา ที่หากเกินปริมาณที่ประมวลกฏหมายยาเสพติดกำหนดไว้ (0.2%) จะต้องดำเนินการไปตามประมวลกฏหมายยาเสพติด
แต่ถ้าสารสกัด THC ไม่สูงเกินค่าที่กำหนด ไม่จัดเป็นยาเสพติด
ส่วนตัวพืช กัญชา กัญชง "ไม่เป็นยาเสพติด"
2. การแยกแยะกัญชาและกัญชงออกจากกัน
โดยใช้เกณฑ์สาร THC จากที่ประกาศกำหนด หากมากกว่าที่กำหนด ให้ถือเป็นกัญชง หากน้อยกว่าถือว่าเป็นกัญชง
3. การควบคุมเกี่ยวกับพืชกัญชา กัญชง
โดยกับส่วนของช่อดอกกัญชา จะมีการควบคุมเป็นพิเศษ
ขณะที่ส่วนอื่นๆ เช่น ใบ ต้น ราก เมล็ด จะมีการคลายมาตรการควบคุมลงไป และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึง ในเชิงเศรษฐกิจ สุขภาพและการแพทย์ได้ง่ายขึ้น
4. กิจกรรมเกี่ยวข้องกับเรื่องใด ให้ใช้กฏหมายนั้น
กล่าวคือ
ผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นสมุนไพร จะต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ผลิตภัณฑ์ใดที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
ผลิตภัณฑ์ใดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอาง ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องสำอาง
รวมถึงประกาศอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องในการควบคุมด้วย
ซึ่งกฏหมายเหล่านั้น มีมาตรฐานในการควบคุมสารมึนเมาในระดับที่สูงอยู่แล้ว จึงเชื่อมั่นได้ว่ามีความปลอดภัยอย่างแน่นอน
ดังนั้น ในพ.ร.บ. กัญชา กัญชง จะไม่เกี่ยวข้องกับข้อกฏหมายที่มีอยู่แล้วเหล่านั้น
5. แยกกิจกรรมการจดแจ้ง กับการอนุญาต ออกจากกัน
การจดแจ้ง คือสำหรับครัวเรือน
หมายถึงประชาชนจะมีสิทธิปลูกได้ ไม่ว่าจะเป็นกัญชา หรือกัญชง เพื่อใช้ในครัวเรือน โดยไม่ขาย
กำหนดให้ปลูกได้ 15 ต้น ต่อครัวเรือน
ครัวเรือนที่จะปลูกต้องจดแจ้ง โดยไม่มีค่าธรรมเนียม
กำหนดให้การดำเนินการจดแจ้ง เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน
ส่วนการจดแจ้งเพิ่มเติมเพื่อการใช้อื่นๆ ของกัญชง เช่น จดแจ้งใช้ใยกัญชง รากกัญชง ลำต้นกัญชง สามารถขอจดแจ้งเพื่อปลูกได้ถึง 5 ไร่ ไม่ต้องขออนุญาต แต่ห้ามขาย
ที่พิเศษคือ การจดแจ้งของสถานพยาบาลทั้งหมด สามารถปลูกเพื่อปรุงยาเฉพาะสำหรับคนไข้ของตนเองได้ "จึงถือเป็นการเปิดเสรีทางการแพทย์อย่างแท้จริง"
สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์การผลิต ตั้งแต่ การปลูก ผลิต สกัด แปรรูป ขาย
จะต้องมีใบอนุญาตทั้งสิ้น
การขออนุญาต จะจำกัดเฉพาะคนไทย หรือนิติบุคคลไทยเท่านั้น ไม่อนุญาตให้กับต่างชาติ
เป็นการกำชับว่า กิจกรรมที่เกี่ยวกับกัญชา กัญชง จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สำหรับประชาชนไทยทุกคนเท่านั้น
สำหรับประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
คณะกรรมาธิการมีข้อสรุปว่า พื้นที่ใดที่ทำการเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ ไม่เกิน 5 ไร่ จะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียม
หากเกินจากนั้น จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมตามขนาดพื้นที่
โดยหวังว่าเงื่อนไขนี้ นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังลดการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ไม่ว่าเป็นกลุ่มทุนทางการแพทย์ หรือกลุ่มทุนบริษัทยาข้ามชาติ ก็ตาม
6. นำกฏหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มาบูรณาการใช้กับการควบคุมกัญชา
พ.ร.บ.กัญชา ฉบับนี้ มีการนำกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม เช่น พ.ร.บ. ควบคุมสุรา พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบ และ
พ.ร.บ. พืชกระท่อม มาบูรณาการ ประยุกต์ใช้ ในการควบคุมกับพืชกัญชา ในกลุ่มที่ต้องห้าม และสถานที่ที่ต้องห้าม
กลุ่มที่ต้องห้าม หมายถึงกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร มีข้อกำหนดโทษจำไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท
และหากมีการกระทำผิดอื่นๆ ผนวกกับการทำผิดต่อกลุ่มต้องห้าม จะมีโทษเพิ่ม 2 เท่า
โทษสูงสุดกำหนดไว้ในกรณีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และหากนำเข้ามาแล้ว จำหน่ายกับกลุ่มต้องห้าม ละเมิดต่อเยาวชน จะมีโทษเพิ่มเป็น 2 เท่า
พ.ร.บ.กัญชา ฉบับนี้ ได้มีการกำหนดวิธีการขาย สถานที่ขาย สถานที่สูบ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิเช่น
ไม่ให้ขายช่อดอกกัญชา กัญชง ในเครื่องขายหยอดเหรียญ
ผลิตภัณฑ์ช่อดอกห้ามขายผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์
ผู้บริโภคจะต้องแสดงตนเมื่อซื้อ ผู้ขายต้องตรวจสอบผู้ซื้ออย่างรัดกุม