วัดไก่เตี้ย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของคลองบางกอกน้อย ในแขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ตามประวัติวัดของสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า วัดไก่เตี้ยสร้างขึ้นราว พ.ศ. 2320 ในปลายสมัยกรุงธนบุรี สภาพพื้นที่วัดเกือบล้อมรอบไปด้วยคลอง วัดไก่เตี้ยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแห่พระบรมสารีริกธาตุหรือประเพณีชักพระ
วัดไก่เตี้ยได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2511 โดยทางวัดมีการสร้างบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเสนาสนะในวัดครั้งใหญ่และได้จัดแบบแปลนของวัดใหม่ให้พัฒนาดียิ่งขึ้น มีการรื้ออุโบสถหลังเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากเป็นไม้และผุพังลง โดยได้ก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นคอนกรีต มีพิธียกช่อฟ้าเมื่อ พ.ศ.2512 โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2514
กิจกรรมที่จัดเป็นประจำ
วัดไก่เตี้ย จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทุกเย็นวันเสาร์ เวลา ๑๙.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ณ อุโบสถ วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
สิ่งสำคัญภายในวัดไก่เตี้ย
(ศรัณย์ ทองปาน 2549? : 90) ได้แก่
อุโบสถ สร้างขึ้นใหม่แทนที่อุโบสถหลังเดิมที่รื้อไปเมื่อ พ.ศ.2511 กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (หันหน้าสู่คลองบางกอกน้อย) หน้าบันทำเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางสมาธิ ด้านล่างมีรูปไก่อยู่ในวงกลม (คงสร้างขึ้นตามนามของวัด) แต่เดิมลวดลายหน้าบันเป็นลายกนกและพรรณพฤกษา (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)
ภายในประดิษฐานพระประธานที่อัญเชิญมาจากอุโบสถหลังเดิม เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เอกสารของวัดระบุว่าที่ฐานมีจารึกว่าหล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ.1989 สันนิษฐานว่าจะอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ตั้งแต่เมื่อแรกสร้างวัด โดยอาจอัญเชิญลงมาจากหัวเมืองเหนือในรัชกาลที่ 1 พร้อมกับพระพุทธรูปพันกว่าองค์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ตามพระอารามหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์
วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก (หันหน้าสู่คลองบางกอกน้อย) เชื่อกันว่าสร้างพร้อมอุโบสถหลังเดิมตั้งแต่แรกสร้างวัด หน้าบันของวิหารเป็นไม้จำหลัก หน้าบันของมุขด้านล่างเป็นลายเครือเถากนกออกปลายเป็นเทพนม ตรงกลางเป็นครุฑ ส่วนหน้าบันด้านบน ตรงกลางสลักเป็นรูปวิมานท่ามกลางลายกนก (ปัจจุบันใช้เป็นกุฏิเจ้าอาวาส)
พระพุทธฉาย ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถและวิหารภายในเขตกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ สร้างในสมัยหลวงพ่อนวลเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.2473 ก่อเป็นเหมือนกำแพง ทำเป็นซุ้มประดิษฐานภาพปูนปั้นนูน เป็นรูปพระพุทธปูนประทับยืนอุ้มบาตรอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยพระสาวกที่อยู่ในท่าทางอุ้มบาตรเช่นเดียวกัน
หอระฆัง ตั้งอยู่ด้านข้างศาลาการเปรียญ เป็นหอระฆังเก่า ก่ออิฐถือปูน สูง 2 ชั้น
หอพระไตรปิฎก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เชิงชายสลักไม้เป็นลายค้างคาวแบบจีน เดิมตั้งอยู่กับหมู่กุฏิด้านริมน้ำ ต่อมาเมื่อย้ายเขตสังฆาวาสมาไว้ด้านหลัง หอไตรหลังนี้จึงตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางลานวัด ในปี 2548 จึงมีการชะลอหาไตรขยับมาทางทิศตะวันตก ติดกับเขตสังฆาวาส
พระพุทธรูปสำคัญ พระประธานในอุโบสถและหลวงพ่อโต พระพุทธรุปปางสมาธิ ประดิษฐานในศาลาด้านหน้าวิหาร รวมถึงรูปหล่อหลวงพ่อนวลซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์องค์สำคัญ
มีตำนานเล่าว่าผู้สร้างชื่อกราน ในสมันต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อยังมีหวย ก.ข. หลวงพ่อโตองค์นี้ใบ้หวยถูกบ่อยจนขุนบาล (ยี่กอฮงเหม็ง) ให้คนมาควักพระเนตรออก แล้วเอาเหล็กมาตอกกลางหลังและซอกคอ ในหนังสือประวัติวัดไก่เตี้ย (2511) กล่าวว่า “เหล็กที่ตอกนี้ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้” น่าสังเกตว่าตำนานของหลวงพ่อโตวัดไก่เตี้ยนี้ใกล้เคียงกับตำนานหลวงพ่อตาแดงที่วัดเพลงกลางสวนมาก ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง (วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน 2555 : 152)
หลวงพ่อสัมฤทธิ์
ประวัติหลวงพ่อสัมฤทธิ์ (#พระพุทธสัมฤทธิ์ประสิทธโชค)เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย(สะดุ้งมาร) องค์พระลงรักปิดทองคำทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 73 นิ้ว ลืมพระเนตร
ในตำนานกล่าวไว้ว่าพระมหาธรรมราชาที่4 พระมหากษัตริย์ผู้ปกครองเมืองสุโขทัยเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อเป็นพุทธบูชาในยุคนั้น ราวปี พ.ศ.1979
ครั้นมื่อเกิดศึกสงครามได้ถูกนำล่องแพขนาบกับไม้ไผ่มาตามแม่น้ำยมลงมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อล่องแพมาถึงท้องคุ้งคลองบางกอกน้อยเพลาใกล้พลบค่ำเกิดความมหัศจรรย์ฟ้าร้องคำรามรอบทิศทาง ท้องฟ้าแผ่สว่างไปด้วยประกายสีทอง และแพก็หยุดนิ่งไม่เคลื่อนไปข้างหน้า แม่ทัพนายกองและสมุนไพล่พลต่างตกตะลึงทำอะไรกันไม่ถูก
ทุกคนจึงหยุดพักแรมที่ริมฝั่งคลองบางกอกน้อย เมื่อเดินขึ้นฝั่งเพื่อพักผ่อน จึงได้พบพระธุดงธ์ปักกรดอยู่ที่ป่าโคนไม้ แม่ทัพนายกองจึงได้สนทนาธรรมเกิดความศรัทธา จึงนำหลวงพ่อสัมฤทธิ์ขึ้นจากแพประดิษฐานที่ใต้ต้นไม้โดยห่างจากชายฝั่งคลอง 28 ก้าวเท้า
ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ ครั้งเมื่อเกิดสงครามเก้าทัพ ปี พ.ศ.2328 แม่ทัพนายกองมาทำพิธีบวงสรวงต่อหน้าหลวงพ่อสัมฤทธิ์และวางแผนขุมกำลังในการสู้รบครานั้น พม่ายกทัพมา 9 ทัพ 5 ทาง เป็นสงครามครั้งแรก ระหว่างราชวงศ์โก้นบองของพม่ากับอาณาจักรรัตนโกสินทร์แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าปดุงแห่งพม่ามีความทะเยอทะยานที่จะขยายพระราชอำนาจของพระองค์เข้ามาในสยาม แต่ก็ได้รับความปราชัยต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) หลังจากนั้นพระองค์จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยารัตนาพิพิธมาบูรณะวัดไก่เตี้ย ด้วยความศรัทธาในชัยชนะคราวนั้น
พระอาจารย์โชคดี วัดไก่เตี้ย ตลิ่งชัน
ไหว้พระราหู หลังจากสวดมนต์ เพื่อให้เกิดความสุขกายสุขใจ พุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 1 ทุ่มตรง ขอโชคลาภ รวย รวย
ประเพณีชักพระวัดไก่เตี้ย แรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี
ประเพณีชักพระวัดไก่เตี้ย
ประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่น และชาวบ้านแถบคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับวัดไก่เตี้ยคือ การแห่พระบรมสารีริกธาตุหรือประเพณีชักพระ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552) จัดเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และสืบทอดมาโดยตลอด ในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี (หลังวันลอยกระทง 2 วัน) จะมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกลงประดิษฐานยังบุษบกในเรือแล้วเริ่มต้นแห่งจากหน้าวัดนางชีไปทางคลองบางกอกน้อยจนถึงวัดไก่เตี้ยที่ตลิ่งชันก่อนเพล ส่วนขากลับแห่ไปทางปากคลองบางกอกน้อยเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านคลองบางกอกใหญ่แล้ววกเข้าคลองด่านกลับไปทางวัดนางชี
ประเพณีชักพระเป็นงานใหญ่ของผู้คนทุกเพศทุกวัยในย่านนี้ แม้จะออกไปทำงานไกลเพียงใดเมื่อถึงวันชักพระจะต้องมาร่วมงาน บางคนก็เฝ้ารอดูอยู่หน้าบ้านและกราบไหว้บูชาด้วยความศรัทธา สำหรับในบริเวณวัดช่วงเพล ชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มมาร่วมงานเพื่อเลี้ยงทุกๆ คนที่มางานชักพระ