พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นการ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา กำหนดชื่อเรียกใน มาตรา 1 ว่า พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567” และ มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
นั่นคือมีผลตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2568
สาระสำคัญ
สาระสำคัญในการแก้ไข ของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม คือเปลี่ยนแปลงการระบุสภาพเพื่อการสมรส จาก "ชายหญิง" เป็น "บุคคลสองคน" ตามระบุในมาตรา 15 ไว้ว่า
มาตรา 15 ให้ยกเลิก ความในมาตรา 1458 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลสองคนยินยอมเป็นคู่สมรสกันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย"
[ความเดิม มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย]
และการเปลี่ยนจาก "สามีภริยา" ไปเป็น "คู่สมรส" ตามในมาตรา 18 ว่า
มาตรา 18 ให้ยกเลิกความในมาตรา 1461 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
"มาตรา 1461 คู่สมรสต้องอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส
คู่สมรสต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน"
[ความเดิม มาตรา 1461 สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน]
และการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายมาตราอื่นๆ ที่ต่อเนื่องไปจากการเปลี่ยนสิทธินี้ อาทิ
- คู่สมรส กรณีไม่สามารถอยู่กินกันต่อไปได้ตามปกติ ด้วยเหตุอันตรายแก่กายใจหรือทำลายความผาสุก คู่สมรสอาจร้องต่อศาลได้
- คู่สมรส เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ได้ ตามศาลสั่ง
- มีสิทธิในทรัพย์สิน สัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สิน สินสมรส การจัดการสินสมรสร่วมกัน สิทธิฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ดำเนินคดี อำนาจทำพินัยกรรม อำนาจจัดการทรัพย์สิน และ ฯลฯ
นอกจากนี้ปรับอายุขั้นต่ำ การหมั้น สมรส จาก 17 ปี เป็น 18 ปี และคนไทยจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทยได้ รวมทั้งรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ เรียกค่าทดแทนและเหตุฟ้องหย่า [ThaiPBS]
อ่าน
พ.ร.บ. ฉบับเต็ม
ชาติที่ 3 ในเอเซีย
ผลจากการประกาศใช้กฏหมายฉบับนี้ ทำให้ประเทศไทยเป็นไทยประเทศที่ 3 ในเอเซีย ต่อจากไต้หวัน และเนปาล และเป็นประเทศแรกในอาเซีย ที่ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม
นับถึงปี 2024 มีทั้งหมด 36
ประเทศที่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียม (ยังไม่นับรวมเนปาล) โดยปี 2025 จะมี 2 ประเทศที่กฏหมายมีผลบังคับใช้ คือ ลิคเท่นสไตน์ เริ่ม 1 มกราคม 2025 และ ประเทศไทย เริ่ม 22 มกราคม 2025
ในกรณีของประเทศเนปาล อยู่ในขั้นรอคำตัดสินขั้นสุดท้ายจากศาลฎีกา แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลท้องถิ่นทั้งหมดได้รับคำสั่งให้จดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันเป็นการชั่วคราวในบันทึกแยกต่างหาก ในเดือนเมษายน 2024 กรมบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนราษฎร์ได้ออกหนังสือเวียนถึงรัฐบาลท้องถิ่นทั้งหมดว่าต้องจดทะเบียนสมรสดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิตามกฎหมายในการสมรส และคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนแล้วจะไม่สามารถรับมรดกทรัพย์สิน รับเงินอุดหนุนภาษี ตัดสินใจทางการแพทย์ของคู่สมรส รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ ได้ [
wikipedia]
see also