ข่าวสุขภาพ
ค้นหา รพ.-คลินิก-ร้านยาทั่วไทย ร้านยาคุณภาพ รวมโปรแกรมสุขภาพ บริการสุขภาพ คลินิกเอกชน งาน รพ.
บริการวัคซีนโควิดบริการตรวจโควิด
ตำแหน่งงาน
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สิทธิสุขภาพชาวไทย สาระความรู้สุขภาพ ท่องเที่ยวสุขภาพ กิจกรรม ESG CSR กิจกรรม Event Health Economy ข่าวธุรกิจสุขภาพรอบโลก บริจาค
น่าสนใจไทยแลนด์
English
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ข่าวเกี่ยวข้องกับข้อกำหนด การเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

ข่าวเกี่ยวข้องกับข้อกำหนด การเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

 
2562 (2019)


ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
December 17, 2019

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ
 
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
 
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
เป็นการกำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กำหนดมาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง และกำหนดค่าธรรมเนียมของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ตามลำดับ เพื่อให้สามารถควบคุมดูแลและกำกับดูแลการประกอบกิจการดังกล่าว เป็นไปตามมาตรฐานและมีคุณภาพ อันเป็นการคุ้มครองผู้มารับบริการตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ดังนี้
 
1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….. มีสาระสำคัญคือ
 
 
 
1.1 กำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
 
 
 
1.2 กำหนดให้สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
 
1.3 กำหนดนิยาม “กิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง” หมายถึง บริการที่เกี่ยวกับการดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ หรือการประคับประคองผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงที่มีปัญหาด้านสุขภาพโดยวิธีการจัดกิจกรรมในระหว่างวัน หรือการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต หรือการจัดสถานที่เพื่อพำนักอาศัยหรือสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมถึงการจดแจ้งการจัดบริการของหน่วยงานภาครัฐตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด และกำหนดยกเว้นในกรณีที่เป็นการดำเนินการในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล
 
1.4 กำหนดลักษณะกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ (1) สถานที่ดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงระหว่างวัน หมายถึง สถานที่ที่จัดกิจกรรม การดูแลส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุและ ผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยไม่มีการพักค้างคืน (2) สถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หมายถึง สถานที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์ในการดูแล ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพ (3) สถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง หมายถึง สถานที่ที่จัดกิจกรรมการดูแล ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ และประคับประคอง ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยมีการพักค้างคืน
 
 
 
1.5 กำหนดบทเฉพาะกาลให้แก่ผู้ซึ่งประกอบกิจการสถานประกอบการที่ให้บริการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ดังกล่าวอยู่ในวันก่อนที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการต่อผู้อนุญาตภายใน 180 วันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และเมื่อได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือขึ้นทะเบียนแล้วให้ประกอบกิจการหรือให้บริการต่อไปได้จนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตหรือไม่รับขึ้นทะเบียนจากผู้อนุญาต
 
2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญคือ
 
2.1 กำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ (1) กำหนดลักษณะทั่วไปฯ ได้แก่ การกำหนดทำเลที่ตั้ง สภาพแวดล้อม การประสานงานแจ้งเหตุเตือนภัย กำหนดลักษณะของห้องน้ำการเดินสายไฟ รวมทั้งกำหนดลักษณะของเครื่องเรือนต้องมีความปลอดภัยในการใช้สอย (2) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่ให้บริการต้องมีความกว้างทางเดินหากใช้รถเข็นนั่ง ไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ที่พักอาศัยของผู้รับบริการต้องปลอดจากเหตุรำคาญ ซึ่งอาจรบกวนความเป็นอยู่ที่สุขสบาย รวมทั้งการจัดหน่วยบริการในการประสานงานแจ้งเหตุเตือนภัยตลอด 24 ชั่วโมง (3) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ กำหนดให้พื้นที่ที่ให้บริการต้องมีความกว้างระหว่างเตียงไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ความกว้างทางเดินหากใช้รถเข็นนั่งไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ที่พักอาศัยของผู้รับบริการต้องปลอดจากเหตุรำคาญ ซึ่งอาจรบกวนความเป็นอยู่ที่สุขสบาย รวมทั้งการจัดให้มีหน่วยบริการในการประสานงาน แจ้งเหตุเตือนภัยตลอด 24 ชั่วโมง
 
 
 
2.2 กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย (1) กำหนดลักษณะโดยทั่วไปด้านความปลอดภัยของกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ การจัดให้มีชุดปฐมพยาบาลระบบป้องกันและควบคุมการติดเชื้อที่เหมาะสม มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และติดตั้งเครื่องดับเพลิง การฝึกอบรมผู้ดำเนินการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย บุคลากรต้องได้รับการอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardio pulmonary resuscitation, CPR) และมีการฝึกซ้อมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีมาตรการตรวจสอบระบบความปลอดภัยในการให้บริการปีละ 1 ครั้ง (2) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ มีอุปกรณ์ช่วยฟื้นคืนชีพ เช่น ถุงลมช่วยหายใจ (Ambu bag) อุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจ (Mouth gag) ไม้กดลิ้น และสัญญาณเรียกฉุกเฉิน มีเครื่องกระตุกหัวใจ (AED) อย่างน้อย 1 เครื่อง วางในจุดที่มองเห็นได้ชัดเจน
 
2.3 กำหนดมาตรฐานด้านการให้บริการ (1) กำหนดลักษณะโดยทั่วไปด้านการให้บริการของกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ การจัดทำทะเบียนประวัติของผู้รับบริการ การประเมินความต้องการการดูแลและความสามารถในการสื่อสารของผู้รับบริการเมื่อแรกรับ การกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการส่งเสริมสุขภาพ รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ การให้บริการดูแลกิจวัตรประจำวัน (ADL) และกิจวัตรประจำวันต่อเนื่อง (IADL) การจัดให้มีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม การบันทึก ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาวะของผู้รับบริการ การทำสัญญาหรือข้อตกลงการให้บริการระหว่างผู้ประกอบการกับญาติสายตรงหรือผู้แทนโดยชอบธรรม หรือผู้ที่ผู้รับบริการได้มอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน การคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการจัดให้มีกิจกรรมสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการตามความเหมาะสม (2) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่พำนักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ การประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพในการให้การดูแลด้านการส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูแก่ผู้สูงอายุตามชุดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ การมีระบบการส่งต่อในกรณีผู้รับบริการเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (3) กำหนดลักษณะเฉพาะกรณีเป็นสถานที่บริบาลดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ได้แก่ การประสานงานกับทีมสหสาขาวิชาชีพในการให้การดูแลด้านการส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟู และ การประคับประคองแก่ผู้สูงอายุตามชุดสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุและตามแผนการรักษาของผู้ประกอบวิชาชีพ การมีระบบการส่งต่อในกรณีผู้รับบริการเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งมีสัดส่วนของผู้ให้บริการ 1 คน ดูแลผู้รับบริการไม่เกิน 5 คน
 
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม การชำระค่าธรรมเนียม และการยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญคือ
 
3.1 กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทกิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยคิดค่าธรรมเนียมตามลักษณะและขนาดพื้นที่การให้บริการ
 
3.2 กำหนดให้การคำนวณพื้นที่การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพให้คำนวณตามแบบแปลนแผนผังแสดงพื้นที่การให้บริการของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ได้ยื่นไว้ พร้อมกับคำขอรับใบอนุญาตหรือคำขอต่ออายุใบอนุญาต แล้วแต่กรณี
 
3.3 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีในปีแรกพร้อมกับการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและให้ถือว่าวันที่ชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นวันครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีในปีต่อ ๆ ไปตลอดระยะเวลาที่ยังประกอบกิจการอยู่
 
3.4 กำหนดให้ผู้รับอนุญาตต้องแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปีไว้ในที่เปิดเผยและมองเห็นได้ชัดเจน ณ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
 
3.5 กำหนดสถานที่การยื่นคำขอชำระค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงนี้
 
3.6 กำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการประกอบกิจการการดูแลผู้สูงอายุและ ผู้มีภาวะพึ่งพิง สำหรับกรณีที่เป็นการดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิองค์กรระหว่างประเทศ
 
ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ธันวาคม 2562



 
  
2562

ออกกฎหมายคุมเนิร์สซิ่งโฮม สธ.ต้อน7พันแห่งขึ้นทะเบียน
วันที่ 17 สิงหาคม 2561
ขณะนี้จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจำนวนผู้ประกอบการศูนย์ผู้รับเลี้ยงดูผู้สูงอายุทั่วประเทศเบื้องต้นพบว่า ปัจจุบันมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 6-7 พันแห่ง ซึ่งมีทั้งที่ได้ยื่นจดทะเบียบตั้งบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์และไม่ได้จดทะเบียน โดยจังหวัดที่มีเนิร์สซิ่งโฮมมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ รองลงไปเป็นนนทบุรี ปทุมธานี นครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น
 
จากการตรวจสอบจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กรกฎาคม) มีผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งบริษัทเนิร์สซิ่งโฮมเพิ่มกว่า 45 แห่ง จากปี 2560 ทั้งปีที่มียอดจดทะเบียนเพียง 61 แห่ง ทั้งนี้ หลัก ๆ เปิดในกรุงเทพฯ 17 แห่ง รองลงไปเป็นนนทบุรี 5 แห่ง และปทุมธานี 3 แห่ง ส่วนนครสวรรค์, สุพรรณบุรี, นครปฐม, ระยอง, เชียงใหม่, ชลบุรี, ลพบุรี จังหวัดละ 1-2 แห่ง
 
สบส.เร่งออกกฎหมายคุม
 
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลเนิร์สซิ่งโฮมโดยเฉพาะ ที่ผ่านมา สบส.ได้ร่างกฎหมายกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …โดยอาศัยอำนาจตามความใน (3) มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เพื่อนำมาใช้ควบคุมดูแลธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮม และอีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค
 
ร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีการกำหนดมาตรฐานและควบคุมในเรื่องของสถานที่ ความปลอดภัย และการให้บริการตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559


ชงใช้สัญญามาตรฐาน
 
นายแพทย์ฆนัทแสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การออกกฎหมายดังกล่าวที่ผ่านมาสมาคมและ สบส.ได้มีการทำงานร่วมกันและประสานงานกันมาโดยตลอด การมีกฎหมายควบคุมดูแลเนิร์สซิ่งโฮมโดยเฉพาะ นอกจากเป็นหลักประกันให้กับผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นการยกระดับมาตรฐาน-คุณภาพการให้บริการของผู้ประกอบการให้ดีขึ้น
 
นอกจากนี้ สมาคมอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เนื่องจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา จะมีการทำเป็นสัญญามาตรฐาน…ที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องใช้

-----




แห่เปิดธุรกิจศูนย์ดูแลสูงวัย เร่งดันกฎกระทรวงคุมมาตรฐาน
วันที่ 17 มีนาคม 2562
ด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า หลักการของกฎกระทรวงฉบับนี้ ก็คือ เนื่องจากปัจจุบันกิจการการดูแลผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิง มีเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจก่อนหน้านี้คาดว่าทั่วประเทศมีมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่งผลให้การบริการและการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ไม่ได้คุณภาพ จึงกำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 โดยมองว่าข้อกำหนดต่าง ๆ จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนธุรกิจการดูแลผู้สูงวัยที่ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

-----


10 Jul 2017
 
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห้ามธุรกิจบริการผู้สูงอายุ อาทิ สถานดูแลผู้สูงอายุ หรือเนอสซิ่งโฮม ที่มิได้ขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมายห้ามให้บริการรักษาพยาบาล หรือทำหัตถการทางการแพทย์ ทั้งให้น้ำเกลือ ฉีดยา ชี้ผิดกฎหมายเข้าข่ายสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อน หากตรวจพบมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ
 
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่มีประชากรอายุ 60 ปี มากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ 1.การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์หรือการเกิดน้อยลง 2.การลดภาวการณ์ตายทำให้อายุคนไทยยืนยาวขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2507 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด ของเพศชายอยู่ที่ประมาณ 55 ปี และเพศหญิงประมาณ 62 ปี แต่ในปี พ.ศ.2558 อายุคาดเฉลี่ยฯเพิ่มสูงขึ้นโดยเพศชายอยู่ที่ประมาณ 72 ปี เพศหญิง ประมาณ 79 ปี และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 อายุคาดเฉลี่ยฯ ของเพศชายจะอยู่ที่ประมาณ 76 ปี และเพศหญิงประมาณ 83 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ธุรกิจบริการสำหรับผู้สูงอายุขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือเนอสซิ่งโฮม ที่ให้บริการดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน การจัดกิจกรรมสร้างสังคมระหว่างผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มักจะเป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ และบางแห่งอาจจะมีการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุประกอบด้วย
 
“อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมใดๆ ทางการแพทย์ต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติจากสภาวิชาชีพดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเปิดทำการ กรม สบส.จึงขอเน้นย้ำว่าหากสถานบริการสำหรับผู้สูงอายุแห่งใดต้องการจัดให้มีบริการด้านการแพทย์ ทั้งการให้น้ำเกลือ ฉีดยา หรือทำหัตถการทางการแพทย์ ต้องขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจากกรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ มิเช่นนั้น ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 ข้อหาเปิดสถานพยาบาลเถื่อน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้ง หากผู้ให้บริการมิใช่แพทย์ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ข้อหาเป็นหมอเถื่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” นายแพทย์ธงชัย กล่าว
 
ทั้งนี้ กรม สบส. อยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายลูก ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เพื่อส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุ ซึ่งมีการให้บริการด้านสุขภาพ ที่ไม่ใช่การบำบัดรักษาโรค หรือบริการทางการแพทย์ เพื่อให้การบริการดังกล่าวมาตรฐาน และเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนผู้รับบริการ
 
ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด