สปสช. เผย “บริการจัดส่งยาผู้ป่วยทางไปรษณีย์ กองทุนบัตรทอง” ร่วมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงผู้ป่วยรับเชื้อ ผลดำเนินโครงการ 9 เดือน มี รพ. ร่วมจัดส่งยาให้ผู้ป่วย 217 แห่ง จำนวนบริการ 1.77 แสนครั้ง
- โครงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นโครงการที่ริเริ่มเมื่อเดือนเมษายน 2563 ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19
- เป็นข้อเสนอจากโรงเรียนแพทย์และกรมการแพทย์ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยในการรอรับยา การเดินทาง และยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing)
- เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) โรงเรียนแพทย์ หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยบริการในระบบบัตรทอง
- ไปรษณีย์ไทยคิดราคาเหมาจ่ายทั้งระยะทางและน้ำหนักพัสดุในอัตรา 50 บาท/พัสดุ
- เดิมที กำหนดระยะเวลาดำเนินการเพียง 3 เดือนเท่านั้น แต่ด้วยได้รับการตอบรับบริการด้วยดี และขณะเดียวกันสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในประเทศและรอบประเทศยังคงมีการแพร่ระบาดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ติดตามผลการดำเนินการโครงการในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2563 ถึง 9 มกราคม 2564 ดังนี้
- มีโรงพยาบาลร่วมโครงการจำนวน 217 แห่ง
- ผู้ป่วยรับบริการ 147,270 คน
- บริการรับยาทางไปรษณีย์จำนวน 176,924 ครั้ง
- รวมการเบิกจ่ายค่าบริการจำนวน 8,845 ล้านบาท
- 5 อันดับโรคที่ผู้ป่วยรับบริการมากที่สุด
อันดับ 1 เป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำนวน 41,999 ครั้ง
อันดับ 2 เป็นผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 21,854 ครั้ง
อันดับ 3 ผู้ป่วยเอชไอวี 5,693 ครั้ง
อันดับ 4 ผู้ป่วยหอบหืด 5,365 ครั้ง
อันดับ 5 ผู้ป่วยหลอดลมอุดกั้น 3,876ครั้ง
บริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์นี้เป็นโครงการหนึ่งเพื่อร่วมสนับสนุนในการลดการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงโรคระบาดอื่นๆ ได้ โดยได้รับความร่วมมือด้วยดีทั้งจากไปรษณีย์ไทย และหน่วยบริการที่เข้าร่วม ซึ่งกองทุนบัตรทองจะให้การสนับสนุนบริการนี้ต่อไป และจากโครงการนี้ยังนำไปสู่การสนับสนุนการให้บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) ในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยที่รับบริการนี้ โดยในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับยาต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาลด้วยตนเอง