จากที่ทราบกันดีว่าภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยซึ่งมีเพิ่มขึ้น ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยพ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ปี 2559 ขึ้นตรงกับนายกฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบริหารจัดการ กับการแพร่ระบาดของโรคนี้ ที่จะต้องได้รับการบูรณาการจากทุกภาคส่วน เพื่อยับยั้งและควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อประเทศจะได้ปกติและเดินต่อไปได้ในเร็ววัน
สำหรับความร่วมมือการนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือกชิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ผสานความร่วมมือเพื่อให้การกระจายวัคซีน ในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงเป้า
โดยขณะนี้ วัคซีนชิโนฟาร์มที่ทางองค์กรอนามัยโลกได้ให้การรับรองแล้ว ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ประสานกับบ.ชิโนฟาร์ม เพื่อนำเข้า และในการนี้ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้มอบหมายให้ บ.ไบโอเจเนเทค ซึ่งเป็นบ.ลอจิสติก ที่สามารถนำเข้าและเก็บวัคซีน ซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้ว และได้เคยนำเข้าวัคซีนอื่นๆ จากชิโนฟาร์มมาแล้ว ให้เป็นผู้ดำเนินการยื่นเอกสารต่ออย. ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติวัคซีนได้รับอนุมัติแล้ว จะดำเนินการนำเข้าและประสานกับกระทรวงสาธารณสุข ในการกระจายไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
วัคซีนชิโนฟาร์มมีชื่อทางการค้าว่า CorV เป็นชนิดเชื้อตาย เช่นเดียวกับ ชิโนแวค และโควาซิน มีข้อบ่งชี้เบื้องต้น สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยไม่จำกัดอายุสูงสุดไว้ จึงใช้กับผู้สูงอายุได้
ภารกิจการจัดหาวัคซีนทางเลือกนี้ อยู่ภายใต้กฏหมาย พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ความร่วมมือนี้ เป็นการทำงานคู่ขนาน เพื่อให้กระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ
ศจ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
28 พค 64
ถามตอบ
ถาม - คาดว่านำเข้าจำนวนเท่าไหร่และเร็วที่สุดเดือนไหน
นพ.นิธิ - เท่าที่ติดต่อไว้กับปักกิ่ง สัญญาว่าจะได้ 1 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน
ถาม - จะมีการวิจัยตามหลังหรือไม่ แบบภูเก็ตโมเดล และของศิริราช
ในฐานะที่ราชวิทยาลัยฯ เป็นสถานศึกษา
นพ.นิธิ - ต้องมีการเก็บอยู่แล้ว ส่วนที่อยู่ราชวิทยาลัยฯ เก็บตลอด การตรวจภูมิคุ้มกันแค่ไหนอย่างไร แล้วภูมินั้นจะสามารถต้านเชื้อไวรัสที่มีอยู่ในชุมชนไทยได้มากน้อยแค่ไหน เราติดตามอยู่แล้วครับ ติดตามอย่างละเอียดด้วย ถึงจะเป็นตัวเลือกก็ต้องติดตามดู เพราะเป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน
ถาม - วัคซีนทางเลือกมีการกำหนดราคาหรือยัง ว่าราคาเท่าไร และมีการติดตามอาการหรือการเยียวยาผลข้างเคียงหรือป่าว
นพ.นิธิ - เรื่องราคา กำลังตกลงกันอยู่ เนื่องจากต้องการทราบปริมาณที่ชัดเจน ไม่ใช่เดือนมิถุนาแล้วจบ ต้องดูต่อๆไปด้วย ราคาที่ดูในตลาดวัคซีนทุกชนิดไม่ได้หนีกันเท่าไหร่
ถาม - ชิโนฟาร์ม ประชาชน มีโอกาสได้ฉีดฟรี เท่ากับวัคซีนตัวอื่นหรือไม่ หรือเป็นงบประมาณของราชวิทยาลัยฯ
นพ.นิธิ - ขอตอบแทนกระทรวงฯ อันนี้เป็นวัคซีนทางเลือก ราชวิทยาลัยฯ จัดหามาโดยใช้งบประมาณรายได้ของราชวิทยาลัยฯ เอง ส่วนใครจะมาร่วมหรือซื้อไป เป็นอีกเรื่อง จะไม่ปนกับที่ทางรัฐบาลจัดให้ฟรีกับประชาชน
ถาม - แผนการกระจายวัคซีน หลังจากนี้จะมีการจายอย่างไร
นพ.นิธิ - เมื่อรู้จำนวนแน่นอน ว่าจะมาถึงเมื่อไร ในเดือนมิถุนาและเดือนต่อๆไป จะถามไปในสาธารณว่ามีกลุ่มไหนต้องการนำไปใช้ และเพื่ออะไรก่อน จากที่เรียนไปแล้วว่าเป็นวัคซีนตัวเลือก ไม่ไปปนกับวัคซีนหลักที่รัฐบาลจัดหาให้ประชาชนไทย ฟรี วัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดที่ถ้ามีกลุ่มหรือหน่วยงาน หรือที่ไหนก็ตามที่อยากจะใช้ ก็ซื้อไปจากราชวิทยาลัยฯ ต้องชัดเจนอย่างนี้
ถาม - ตอนนี้มีเอกชนมาติดต่อเพื่อรับวัคซีนชิโนฟาร์ม และหากเกิดความเสียหายหรือผลข้างเคียง อันนี้ทาง สปสช.จะเป็นผู้จ่ายใช่ไหมคะ
นพ.นิธิ - ตอบคำถามหลังก่อนว่า วัคซีนชนิดนี้จะรวมค่าประกันในราคาที่ส่งขายออกไปแล้ว ส่วนเรื่องที่มาติดต่อ ตอนนี้มีสภาอุตสาหกรรม และปตท.มหาชน
ถาม - นอกจากวัคซีนชิโนฟาร์มแล้ว ทางราชวิทยาลัยฯ มีโอกาสจะนำวัคซีนอื่นเข้าด้วยหรือไม่คะ
นพ.นิธิ - เราเป็นสถาบันวิจัยเป็นหลัก ในส่วนนี้เราจะศึกษาหาข้อมูลว่าจะมีวัคซีนชนิดไหนที่จะเหมาะสมกับเชื้อที่ระบาดในอนาคตข้างหน้า เราก็จะพยายามดูแลและติดต่อมา ตรงกับท่านรองนายกพูดว่า เป็นการทำงานเสริมกัน ราชวิทยาลัยฯไม่ใช่องค์กรใหญ่และไม่ได้ทำงานใหญ่แบบกระทรวงสาธารณสุข แต่เราจะสามารถดูและติดต่อต่างประเทศได้ ดูข้อมูลวิจัยได้ว่าจะเป็นอย่างไร ถามว่าจะมีมั๊ยในอนาคต มีครับ คือที่สุดแล้วมันเหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ อยากให้คิดอย่างนี้ ประเทศจะต้องมีวัคซีนเกินปริมาณคนที่อยากจะได้ คนอยากจะฉีดตรงไหนต้องได้ฉีด ถึงจะทำให้เกิดความสะดวกสบายและการกระจายของวัคซีนทั้งประเทศได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง จะได้ไม่มีการระบาดที่มากมาย รุนแรงแบบนี้
ถาม - ในแง่ของเอกชนสามารถติดต่อซื้อได้ ในแง่ของภาครัฐหรือหน่วยงานจังหวัด การจัดซื้อต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงก่อนมั๊ยคะ ที่จะต้องมาขอทางราชวิทยาลัยฯ หรือสามารถดำเนินการจัดซื้อได้เหมือนเอกชนทั่วๆไป หรือจะมีการซ้ำซ้อนกับโควต้าวัคซีนจากทางกระทรวงไหมคะ
พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค - ในส่วนของหน่วยงานราชการ เช่นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีติดต่อมาเพื่อให้เราช่วยจัดซื้อในเบื้องต้น ที่ยังกระจายวัคซีนของรัฐบาลยังไม่ครอบคลุม ก็มีการคุยกันบ้างแล้ว ส่วนรายละเอียดจะคุยกันอีกรอบ ส่วนเอกชนที่ติดต่อมาก็มี แต่เราเพิ่งวางแผนเรื่องการการกระจาย หลังจากที่เราได้ทราบว่าผ่านอย.วันนี้ รายละเอียการกระจายวัคซีนต้องรออีกสักพักหนึ่ง
ถาม - ในเบื้องต้นมีการหารือกับผู้ผลิตไหมหรือผู้นำเข้าไหมคะ ว่ามีโควต้าให้กับไทยเท่าไหร่ หรือตลอดระยะเวลาทั้งหมดจะให้เราได้สูงสุดเท่าไหร่คะ
นพ.นิธิ - พวกผมจะเป็นคนที่จะบอกว่า จะต้องการเท่าไหร่ คนที่จะติดต่อในนามของราชวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ คือบริษัทที่ผมมอบหมายให้ไปทำเรื่องนี้ คือ ไบโอเจเนเทค จะไปติดต่อประสานงาน เมื่อถึงเวลานั้น ว่าต้องให้เท่าไหร่ มีเท่าไหร่ ก็จะไปต่อรองให้ครับ
ถาม - ถามต่อว่าแบบนั้นคือการคุย G2G แล้วไบโอเจเนเทค เป็นตัวแทนของราชวิทยาลัยฯ ใช่ไหมคะ หรือว่า Exclusive Agreement ที่ไบโอเจเนเทค จะเป็นตัวแทน แล้วราชวิทยาลัยฯ ไปติดต่อไบโอเจเนเทค ช่วยอธิบายให้ฟังนิดนึง
นพ.นิธิ - พอพูด G2G จะกลับเข้าไปรัฐบาล คือขณะนี้ผู้ผลิตที่เป็นรัฐบาล เค้าจะคุยกับหน่วยงานของรัฐ พอคุยกันเสร็จแล้ว ว่าเราเอามาใช้ในประเทศนี้แน่นอน ให้คนไทยแน่นอน เราก็จะมอบหมายให้คนที่เคยทำเรื่องนี้ เพราะการส่งต่อวัคซีนระหว่างกันมันต้องมีมาตรฐานสูงมาก ไม่ใช่หน่วยงานไหนก็ทำได้ ราชวิทยาลัยฯ ก็ทำไม่ได้ เราก็มอบอำนาจให้ไบโอเจเนเทคไปดำเนินการ เพราะต้องตรวจสอบกันว่าบริษัทนี้ สามารถจะขนส่งวัคซีนได้ไหม เก็บในที่ที่ถูกไหม เขาก็จะไปทำแทนราชวิทยาลัยฯ โดยใช้เงินจากรายได้ของราชวิทยาลัยฯ ไม่ใช่ G2G ในความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่ต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่ไปคุยกับเขา เขาถึงจะคุยด้วย
ถาม - ทำไมถึงต้องเลือกชิโนฟาร์มเป็นวัคซีนทางเลือกของราชวิทยาลัยฯ และเป้าหมายที่เราต้องการจำนวนเท่าไหร่คะ
นพ.นิธิ - ที่เลือกเพราะเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้ว แล้วก็เกิดความง่ายและสะดวกที่คณะกรรมการอาหารและยา จะพิจารณา ซึ่งต้องขอบคุณ ทางอย.ที่ช่วยอย่างมาก ทั้งอาจารย์ที่ช่วยกันอ่าน เพราะทุกคนอยากให้ประเทศมีวัคซีนมากใหขึ้น ให้ใช้ได้เร็วที่สุด สังคมจะได้ประโยชน์
ถาม - ใน 1 ล้านโดสแรก จะนำมาฉีดที่รพ.จุฬาภรณ์เป็นหลักหรืออย่างไร และความสามารถในการฉีดของรพ.ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นอกเหนือจากที่สอท. และปตท.สนใจในล้านโดสแรกนี้
นพ.นิธิ - ไม่จำเป็นต้องเป็นที่รพ.จุฬาภรณ์ครับ หน่วยงานที่จะซื้อไปต้องไปหาสถานที่ที่จะฉีด ซึ่งเราต้อง Certified (ตรวจสอบ) ด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เอาไปแล้วหลุดไปขาย อีกราคานึง อย่างที่ทราบว่าขณะนี้วัคซีนมีความต้องการสูง และเราต้องรายงานกลับไปที่บริษัทต้นสังกัดด้วย เพราะเขาไม่ยอมให้เกิดอย่างนั้น ใครที่จะมาซื้อต้องรู้ว่าจะไปฉีดที่ไหน ถ้าจะฉีดที่รพ.จุฬาภรณ์ ก็ต้องทำไปตามศักยภาพที่เรามี เพราะให้บริการประชาชนทั่วๆไปอยู่แล้ว ขณะนี้เรามีหลายจุด เฉลี่ยๆ ประมาณ 4-5,000 ได้ ตอนนี้ที่ไม่ได้ฉีดมากไปกว่านั้น ซึ่งคิดว่าทำได้เป็นเพราะว่า เราต้องค่อยๆ ดูว่า จะมีที่ไหนต้องการให้เราออกไปฉีดให้อีกบ้าง
ถาม - ถ้าประชาชนทั่วไปอยากฉีดวัคซีนชิโนฟาร์ม และสามารถจะเดินทางมาที่ราชวิทยาลัยฯ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดเป็นรายบุคคลใช่ไหมฮะ รวมถึงการขายต่อกับองค์กรเอกชน ได้มีการคาดราคาไว้มั๊ยครับ ว่าประมาณการวัคซีนราคาประมาณโดสละเท่าไหร่
นพ.นิธิ - ไม่คิดว่าคนจะเดินเข้ามาฉีดเองโดยเสียเงินได้นะครับ เพราะมันจะไปปนกับวัคซีนปกติ แต่ว่าถ้าอยู่กันคนละสถานที่นั้นอาจจะทำได้ ยังไม่ได้ดูลอจิสติกที่จะทำอย่างชัดเจน จะทำตรงไหน ส่วนที่ถามว่าราคา ต้องขึ้นกับท้ายสุดว่าเราจะซื้อมาราคาเท่าไหร่ มันจะมีราคาต้นทุนที่ซื้อ ต้นทุนลอจิสติกในการขนส่ง ราคาในการเก็บ ซึ่งโดยหลักการนั้นทางราชวิทยาลัยฯ ด้วยความที่เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และพระองค์ท่านทรงดูแลอยู่ คิดว่าเราคงไม่ได้เอากำไรในส่วนนั้น มาเท่าไหร่ รวมต้นทุน ก็ว่ากันไป ตรงไปตรงมา ส่วนใครจะไปคิดค่าฉีดกันเองเท่าไหร่ยังไง นั้นอีกเรื่องนึง แต่ไม่คิดว่าอยู่ๆจะเดินเข้ามาในสถานที่เดียวกัน อันนี้จะทำให้สับสน อย่างเช่นเดินเข้ามาในรพ.จุฬาภรณ์หรือจุดฉีดของรพ. คนนึงฉีดวัคซีนฟรีของรัฐ ซึ่งเราก็ทำอยู่ อีกคนนึงมาอยากขอเร็วหน่อย แล้วเสียตัง ผมคิดว่าลำบาก แต่อาจจะแยกจุดให้ อันนั้นค่อยดูสถานการณ์อีกทีนึงครับ
ถาม - เมื่อสักครู่ทางราชวิทยาลัยฯ ระบุว่าเป็นลักษณะการนำเงินรายได้ในการจัดซื้อ ลักษณะองค์กรกับองค์กร คราวนี้ขออนุญาตย้อนถามทาง กระทรวงสาธารณสุขว่า จริงๆแล้วก่อนหน้านี้ มีในส่วนของรพ.เอกชน มีความต้องการในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก จากเคสนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างให้สถานศึกษาหรือว่าโรงพยาบาลทำวัคซีนทางเลือกเข้ามาหรือไม่คะ
นพ.นิธิ - ขอย้อนกลับไปตั้งแต่ต้น บริษัทผู้ผลิตและรัฐบาลของบริษัทผู้ผลิต ขณะนี้เหมือนกันทั้งโลก เค้าจะคุยกับหน่วยงานของรัฐหรือตัวแทนของรัฐบาลประเทศที่จะซื้อเท่านั้น ผมพยายามทำอย่างนี้มานานแล้ว หลายที่ที่ไปติดต่อ เราไม่ใช่โรงพยาบาลเอกชน เราเป็นหน่วยงานของรัฐ มีพ.ร.บ.จัดตั้ง ชัดเจน ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของรัฐบาล ในการหาวัคซีนทางเลือก เราถึงไปคุยกับชิโนฟาร์มได้ ไม่อย่างนั้น เค้าไม่คุยด้วยครับ ผมยืนยัน ว่าในขณะนี้นะครับ สถานการณ์ขณะนี เขาไม่คุยด้วย ถ้าโรงพยาบาลเอกชนหรือหน่วยงานเอกชนจะไปคุยกับเขา เขาไม่คุย หรือ ไบโอเจเนเทคจะไปคุยเฉยๆ เค้าก็ไม่คุยด้วยนะครับ เค้าต้องได้รับมอบหมายหน้าที่จากเราก่อน ไม่คิดว่าเค้าจะยอมคุยด้วยในขณะนี้
ตอบแทนรัฐบาลเลยว่า รัฐบาลไม่ห้าม แต่เอกชนน่ะไปไม่ได้ ท้าให้ไปเลย ผมไปมาหลายที่แล้ว ยากมาก เค้าไม่คุยด้วย
อนุทิน - ย้ำว่านี่คือวัคซีนทางเลือก ถ้าทุกคนจำได้ เรามีคณะกรรมการ ที่ดูแลวัคซีนทางเลือกที่ท่านนายกได้ตั้งไว้ที่มี อจ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร เป็นประธาน นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเป็นวัคซีนทางเลือก ทางกระทรวงสาธารณสุข โดย อย.ก็ขึ้นทะเบียนให้กับผู้ผลิตวัคซีนทุกๆรายที่มาขอขึ้นทะเบียน ส่งเอกสารมา ถ้าเอกสารครบ ก็ขึ้นทะเบียนได้เร็ว ถ้าไม่ครบก็ขอกันไปจนกว่าจะทำให้ อย.มีความสบายใจ และพอใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ส่วนเรื่องการติดต่ออย่างไร ถ้าสามารถเชื่อมโยงกันได้ ติดต่อกันได้ ซื้อขายกันได้ ทางกระทรวงฯ ก็ไม่มีปัญหา เพราะได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนกับเรา
ถาม - อยากให้ลงรายละเอียดว่าวัคซีนชิโนฟาร์มของราชวิทยาลัยฯ คนกลุ่มไหนมีสิทธิ์ที่จะได้ฉีด เพราะว่าตอนนี้พอคนรู้ว่ามีวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่นที่จะได้ฉีด ก็มาลงทะเบียนอย่างที่เห็นว่าวันสองวันที่ผ่านมาระบบการจองมันก็เต็ม จนต้องประกาศปิดไม่ให้คนจอง กลุ่มไหนจะได้ฉีดก่อนและมีสิทธิ์ที่จะได้ลงทะเบียนฉีดชิโนฟาร์ม
นพ.นิธิ - อันนี้ไม่ใช่วัคซีนของพับบลิค (สาธารณะ/รัฐ) จะเป็นวัคซีนส่วนที่เราจะพิจารณาว่าจะไปช่วยสังคม ช่วยประเทศตรงจุดไหน อย่างที่เรียนตอนต้น มันมีอุตสาหกรรมบางอย่าง ธุรกิจบางอย่าง องค์กรบางอย่างของรัฐ ที่ไม่สามารถจะหยุดการดำเนินงานได้ ทางราชวิทยาลัยฯ ก็จะพิจารณาหน่วยงานเหล่านั้น ไปช่วยอุดช่องว่างตรงนั้น ให้ทางประเทศด้วย เพราะกระทรวงฯ มีภาระหนักให้กับประชาชนคนไทย ไม่สามารถจะไปจัดให้ที่ใดที่หนึ่งให้ครบ 100% ได้ อันนี้จะเป็นส่วนที่เราจะไปช่วยตรงนั้น ยกตัวอย่าง ถ้าไม่ใช่ธุรกิจ ก็อาจจะเป็นโรงเรียนที่จะเปิดอยู่แล้ว ครูอาจารย์ที่ต้องไปสอนนักเรียน เดี๋ยวจะไปแบ่งเป็นหมวดหมู่กันภายในราชวิทยาลัยฯ ว่า หน่วยไหน ลักษณะกิจกรรม กิจการแบบไหน ที่จะจัดลงไปให้ เราช่วยเสริมให้กระทรวงฯและให้ประเทศ ให้ธุรกิจ กิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินไปได้เป็นปกติ โดยเร็วนะครับ
ถาม - ประสิทธิภาพของวัคซีนทางเลือกตัวนี้เหมาะกับกลุ่มไหน และที่สำคัญคือวัคซีนแต่ละตัวที่ผ่านมามันจะมีข้อจำกัด ว่าอาจจะมีภาวะอะไรที่แทรกซ้อนขึ้นมา สำหรับวัคซีนตัวนี้
นพ.นิธิ - เรื่องนี้พูดยาว ไว้มาสัมภาษณ์นอกรอบ ถามว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหน แล้วคุณไปเทียบกันว่า 78-82% นี่ไร้สาระมาก วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดของโรคทั้งสิ้น อย่าไปฟังที่ว่า 78% 82% มันดีกว่ากัน มันไม่ใช่ วัคซีนนี้ถ้า WHO รับรอง อย.ของเรารับรอง มันสามารถป้องกันการระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัสได้ จบ สามารถป้องกันได้
ถาม - ถ้าใครต้องการวัคซีนชิโนฟาร์ม ในประเทศไทยต้องติดต่อกับราชวิทยาลัยฯ เท่านั้นใช่ไหมคะ ไม่สามาถติดต่อกับไบโอเจเนเทคเองได้ใช่ไหมคะ
นพ.นิธิ - ใช่ครับ (เค้าแอบไปขายมาบอกผมนะ ผมจะไปจับเค้า)
ถาม - ขอสอบถามความเกี่ยวข้องกับบ.แอสเคป แอสเซ็ท มีความเกี่ยวข้องกันไหม กับวัคซีน
นพ.นิธิ - ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น
ถาม - ขอคำยืนยันนิดนึงค่ะ ว่า วัคซีนชิโนฟาร์ม 1 ล้านโดส ไม่เกี่ยวข้องกับ 20 ล้านโดส ตามหนังสือที่ร่อนมาเมื่อคืนใช่ไหมคะ
นพ.นิธิ - ไม่เกี่ยว
พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค - จะพูดถึงเว็บไซต์ของรพ.จุฬาภรณ์ที่ทำไว้ตั้งแต่แรก ที่จองกันมา 5-6 แสน เป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นไม่เกี่ยวกับชิโนฟาร์มที่จะเกิดขึ้น ไม่เกี่ยวข้องกัน อันนั้นเราใช้โควต้าของกระทรวงมาช่วยฉีดให้กระทรวง และโควต้าที่เต็มมากตอนนี้ 6-7 แสน เพียงแต่ว่าเราได้รับวัคซีนมายังไม่เพียงพอที่จะให้กับทุกคน เท่านั้นเอง สำหรับชิโนฟาร์มที่เราจะทำขึ้น น่าจะเป็นอีกหมวดหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับที่จองในเว็บครับ
ถาม - สอบถามทางกระทรวงสาธารณสุข ที่อจ.นิธิกล่าวว่าราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นตัวแทนของรัฐไปเจรจาวัคซีนมา เป็นวัคซีนทางเลือก นอกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว มีหน่วยงานไหนที่เป็นตัวแทนที่รัฐแต่งตั้งไปแบบนี้อีกบ้าง
รมว.อนุทิน - ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ด้วยตัวเองเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้พ.ร.บ. มีความเป็นสถาบันทางการแพทย์ มีความเป็นราชวิทยาลัย ท่านสามารถที่จะติดต่อกับหน่วยงานใดก็ได้ หากคู่เจรจาประสงค์ที่จะติดต่อด้วย และมองว่านี่เป็นส่วนของภาครัฐตามนโยบายของเค้าก็ย่อมกระทำได้ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้แต่งตั้ง ไม่ได้แต่งตั้งใครเลยเป็นตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข เกรงจะเข้าใจผิดกัน กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่หาวัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีนหลัก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็ไปดูในวัคซีนทางเลือก อย่างน้อยก็ได้มาเพิ่ม 1 ล้านโดส
ถาม - ที่คุณหมอสันติพูดก่อนหน้านี้ว่า วัคซีนนี้ไม่เกี่ยวกับ 5-6 แสนคนที่จองเข้ามาในระบบของราชวิทยาลัยฯ ก่อนหน้านี้ นั่นคือตอนนี้คนที่จองมาและยังไม่ได้ฉีด ก็คือจะได้วัคซีนของรัฐ ชิโนแวคหรือแอสตร้าฯ ใช่ไหมคะ เข้าใจถูกใช่ไหมคะ
พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค - ใช่ครับ นั่นเป็นโควต้าที่เราได้จากกระทรวงสาธารณสุขและเราช่วยฉีด สำหรับชิโนฟาร์มก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งคนละอัน
ถาม - ก็คือไม่ใช่ล็อตที่ลงทะเบียน
พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค - ไม่ใช่ ล็อตที่ลงทะเบียนไม่ใช่ ถ้าใครอยากฉีดชิโนฟาร์มอาจจะต้องอีกแบบนึง อันน้ันเราใช้ของกระทรวงมาช่วยฉีด
ถาม - ที่คุณหมอนิธิได้โพสต์เฟซไว้ว่าการนำเข้าวัคซีนชิโนฟาร์ม จะทำจนกว่าไทยจะมีความสามารถในการผลิตและใช้ได้เพียงพอเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด คุณหมอประเมินว่า มันใช้เวลาประมาณซักกี่เดือนคะ
นพ.นิธิ - ไม่ทราบเลยครับ พอเมื่อไหร่ก็คือพอ อันนีงคือทำแล้วต้องนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก ถ้าของที่มีในประเทศใช้ได้ มีประสิทธิภาพดี มีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอ ทำไมจะต้องไปใช้ของต่างประเทศ อันนี้คือหลักการที่ผมคิดง่ายๆ เลย แต่จะพอเมื่อไหร่ ผมก็ไม่ทราบเพราะผมไม่ได้ไปรู้เรื่องของการผลิตวัคซีนที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ด้วยนะครับ พอเมื่อไหร่ ก็ถอยออก
ถาม - นอกจากองค์กรธุรกิจแล้วก็มีโรงเรียนบางแห่งที่กำลังจะเปิด ตรงนี้แสดงว่าสถานศึกษาสามารถที่จะติดต่อมาได้ใช่ไหมคะ สำหรับชิโนฟาร์มตัวนี้
นพ.นิธิ - ได้ครับ ยังมีหลายหน่วย หลายจุดเล็กอย่างนี้ ใครคิดได้คิดออกไปคิดมา แล้วก็ขอกันมา อันนั้น (โรงเรียน) คือตัวอย่าง หรือตลาด ที่จะทำให้กิจกรรมเค้าไปต่อได้
ถาม - สักครู่เห็นใน Approval list มีตัวอื่นๆที่ผ่านการอนุมัติจากอย.แล้ว คือ เจเจและโมเดอร์น่า ถ้าสมมติว่าในอนาคต ถ้าอย.จะอนุมัติสปุตนิค และบาแรค อ.นิธิจะนำเข้ามาเป็นทางเลือกในโครงการของอ.หรือไม่คะ
นพ.นิธิ - ก็แล้วแต่ครับ ผมไม่แน่ใจว่า ทางรัฐจะเอาสปุตนิคเป็นทางหลักหรือปล่าวผมไม่ทราบ อย่างที่ผมบอก ดูว่าเรามีเพียงพอมั๊ย หน่วยงานที่ต้องการจะใช้พอมั๊ย แล้ววัคซีนมีความแตกต่างกันมั๊ย แตกต่างในที่นี้คือกระบวนการผลิต อยากจะให้มีความหลากหลาย ให้ได้เลือกกัน อันที่สองคือต้องเผื่อไว้สำหรับอนาคตด้วย เป็นเรื่องสำคัญที่ ก็พยายามช่วยคิดช่วยติดตามให้อยู่ก่อน สำหรับราชวิทยาลัยฯ ที่เราตามเรื่องนี้อยู่แล้ว