4 มิ.ย.64 กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ประชุมทางไกลร่วมกับผู้บริหารโรงพยาบาลทั้ง 126 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจเรื่องการให้บริการวัคซีนเป็นแนวทางเดียวกัน โดยมี พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เป็นเจ้าภาพดำเนินการประชุม
ทั้งนี้ ตั้งแต่ 7 มิ.ย. 64 เป็นต้นไปโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคที่ได้แจ้งความประสงค์รับวัคซีนโดยลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม จำนวน 463,861 ราย พร้อมทั้งฉีดเข็มที่ 2 ให้กลุ่มดังกล่าวซึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วอีก 520,000 ราย จึงขอให้ผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้ไปตามวัน เวลา และโรงพยาบาลที่กำหนด ซึ่งทุกคนที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมจะได้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา
สำหรับคำแนะนำในการเตรียมความก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19
- ให้ปฏิบัติตัวตามปกติ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดออกกำลังกายหนัก หรือยกของหนัก ในช่วง 1-2 วัน
- หากป่วย หรือไม่สบาย ท้องร่วง ท้องเสีย ควรเลื่อนนัดการฉีดวัคซีน เพื่อรักษาตัวให้หายดี
- ดื่มน้ำเปล่าให้มาก อย่างน้อย 500 – 1000 ซีซี (3-4 แก้ว)
- งดชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์
- เลือกฉีดวัคซีนกับแขนข้างที่ไม่ถนัด
- หากมีโรคประจำตัว มียาประจำตัวที่ต้องทานเป็นประจำ มีประวัติแพ้ยา แพ้วัคซีน ควรแจ้งและปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน
- อย่าลืมเตรียมบัตรประชาชนเมื่อถึงวันเวลานัดหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจจะเกิดผลข้างเคียงที่เป็นปฏิกิริยาเฉพาะที่ เช่น อาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งจะมีการจัดพื้นที่สำหรับสังเกตอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ในสถานที่ฉีดวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของผู้รับวัคซีนทุกคน
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์
5 มิ.ย. 64