กทม.เตรียมเปิด 17 ศูนย์พักคอยกทม. คาดรับผู้ป่วยโควิด-19 รอส่งเข้าระบบการรักษาได้กว่า 2,560 เตียง
(5 ก.ค.64) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) : พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์พักคอยกรุงเทพมหานคร เพื่อรอการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 โดยขณะนี้ทั้ง 6 กลุ่มเขตได้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ฯ กระจายครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มเขต รวม 17 ศูนย์ฯ รองรับผู้ป่วยได้ 2,560 เตียง
กลุ่ม 1 เขตกรุงเทพเหนือ
- เขตบางเขน ใช้พื้นที่ศูนย์กีฬารามอินทรา รองรับได้ 150 เตียง
- เขตจตุจักร ใช้พื้นที่ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ รองรับได้ 190 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร รองรับได้ 120 เตียง
- เขตดอนเมือง ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยดอนเมือง รองรับได้ 150 เตียง
- ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรพ.กลาง
กลุ่ม 2 เขตกรุงเทพกลาง
- เขตพระนคร ใช้พื้นที่อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหาร รองรับได้ 170 เตียง
- เขตดินแดง ใช้พื้นที่สนามกีฬาเวสน์ 2 รองรับได้ 150 เตียง
- ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรพ.เจริญกรุงประชารักษ์
กลุ่ม 3 เขตกรุงเทพใต้
- เขตคลองเตย ใช้พื้นที่วัดสะพาน (ดำเนินการแล้วตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา) รองรับได้ 250 เตียง
- เขตสวนหลวง ใช้พื้นที่วัดปากบ่อ รองรับได้ 170 เตียง
- ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรพ.สิรินธร
กลุ่ม 4 เขตกรุงเทพตะวันออก
- เขตหนองจอก ใช้พื้นที่ค่ายลูกเสือกรุงเทพวันวาน รองรับได้ 200 เตียง
- เขตลาดกระบัง ใช้พื้นที่ร้านBOOM BOOM รองรับได้ 120 เตียง
- เขตสะพานสูง ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยสะพานสูง รองรับได้ 150 เตียง
- เขตบางกะปิ ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางกะปิ รองรับได้ 150 เตียง
- ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรพ.เวชการุณรัศมิ์
กลุ่ม 5 เขตกรุงธนเหนือ
- เขตบางกอกน้อย ใช้พื้นที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร รองรับได้ 90 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของรพ.ราชพิพัฒน์
- เขตทวีวัฒนา ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยทวีวัฒนา รองรับได้ 100 เตียง
- ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรพ.ตากสิน
กลุ่ม 6 เขตกรุงธนใต้
- เขตบางแค ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค(เรืองสอน) รองรับได้ 150 เตียง
- เขตบางขุนเทียน ใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางขุนเทียน รองรับได้ 100 เตียง
- เขตภาษีเจริญ ใช้พื้นที่วัดนิมมานรดี รับได้ 150 เตียง
- ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ
ทั้งนี้ศูนย์ฯที่มีความพร้อมสามารถเปิดได้ทันทีมีจำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่
- อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหาร เขตพระนคร รับได้ 170 เตียง
- วัดสะพาน เขตคลองเตย รับได้ 250 เตียง
- ค่ายลูกเสือกรุงเทพวันวาน เขตหนองจอก รับได้ 200 เตียง
- วัดศรีสุดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย รับได้ 90 เตียง
- ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแคเรืองสอน เขตบางแค รับได้ 150 เตียง
รวมจำนวนผู้ป่วยที่สามารถรับได้ทั้งสิ้น 860 เตียง จากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการศูนย์ที่เหลือภายในวันที่ 9 ก.ค.64 สำหรับศูนย์ฯ อาคารกีฬาเวสน์ 2 เขตดินแดงจะสามารถเปิดได้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมกำชับให้ทุกเขตเร่งปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมและมีองค์ประกอบครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบสื่อสารภายในกับผู้ป่วย และการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยตั้งเป้าจะจัดตั้งให้ครบ 20 ศูนย์ฯ รับผู้ป่วยได้ 3,000 เตียงให้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยตกค้างและไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ในครอบครัว
ศูนย์พักคอยคืออะไร
"ศูนย์พักคอย” หรือ Community Isolation เป้าหมายคือ แยกผู้ป่วยสีเขียวออกจากครอบครัว ระหว่างรอการส่งต่อ รพ. และดูแลกลุ่มที่ต้องการการดูแล เช่น เด็กที่พ่อแม่ติดเชื้อและไม่มีคนในครอบครัวดูแล
ภายในศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่และ อสม. คอยดูแลประเมินอาการ มีอุปกรณ์ ยา และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็น คือ
- เครื่องวัดค่าออกซิเจนจากปลายนิ้ว ใช้ประเมินอาการจากออกซิเจนในเลือด หากค่าต่ำกว่า 95% จะต้องรีบส่ง รพ.
- เครื่องออกซิเจน ใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยที่มีออกซิเจนต่ำกว่า 95% ระหว่างรอส่ง รพ.
เนื่องจาก ผู้ป่วยสีเขียว หากมีอาการขึ้นมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้เร็วมาก
ขณะนี้มีศูนย์พักคอยแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ที่วัดสะพาน เขตคลองเตย และ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตบางแค โดยมีเป้าหมายจะตั้งให้ครบ 6 กลุ่มเขต และพยายามจะตั้งให้มากที่สุดทุกเขต
ส่วน ผู้ป่วยสีเขียว ที่สมัครใจกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation จะต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ และจะมี จนท.สาธารณสุข และ อสม. คอยดูแล