ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

อนาคตหลังโรคระบาด การมีชีวิตร่วมกับโควิด-19 (สถาบัน IHRI) - อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

อนาคตหลังโรคระบาด การมีชีวิตร่วมกับโควิด-19 (สถาบัน IHRI) - อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ Thumb HealthServ.net
อนาคตหลังโรคระบาด การมีชีวิตร่วมกับโควิด-19 (สถาบัน IHRI) - อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ ThumbMobile HealthServ.net

คำถามสำคัญของคนจำนวนมากทั่วโลกคือชีวิตหลังจาก ค.ศ. 2021 แล้วจะเป็นอย่างไร? คำถามนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบอยู่

อนาคตหลังโรคระบาด: การมีชีวิตร่วมกับโควิด-19

กรกฎาคม 6, 2021
บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
 
หลายประเทศในยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มลดหย่อนมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนของประเทศก้าวหน้าไปมากพอสมควร แต่ในขณะเดียวกันไวรัสโคโรนาก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอและมีผลทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 บางชนิดที่มีใช้อยู่ลดลงไปบ้าง และการติดเชื้อไวรัสโคโรนายังคงปะทุเป็นระยะๆ ในบางพื้นที่ของหลายประเทศที่ประชาชนส่วนมากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม รวมถึงประเทศอิสราเอลที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากเกี่ยวกับการระดมฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนที่ครอบคลุมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ต้องแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยใหม่เมื่ออยู่ในห้องหรือสถานที่ปิดอีกรอบเพราะการติดเชื้อที่ปะทุขึ้นอีกครั้งโดยส่วนมาก (70%) เป็นเพราะไวรัสผันแปรเดลต้า[1]
 
คำถามสำคัญของคนจำนวนมากทั่วโลกคือชีวิตหลังจาก ค.ศ. 2021 แล้วจะเป็นอย่างไร? คำถามนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบอยู่ และความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากคือไวรัสโคโรนาจะคงอยู่กับมนุษย์ไปอีกนานและมนุษย์จะต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับไวรัสต่อไป

ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษเป็นประเทศหนึ่งที่ทำการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนของตนได้เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ระบุว่า 65.5% ของประชากรได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และ 47.2% ของประชากรได้รับฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม[2] แต่อังกฤษยังมีการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่เป็นระยะๆ เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาอังกฤษมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,633 รายต่อวันทำให้สภาล่างของอังกฤษตัดสินใจเลื่อนการยกเลิกมาตรการปิดเมืองออกไปก่อนทำให้นายกรัฐมนตรีของอังกฤษประกาศยืดการผ่อนคลายการปิดเมืองออกไปอีก 4 อาทิตย์[3]
 
เซอร์ แพททริค วาแลนซ์ (Sir Patrick Vallance) หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ของประเทศอังกฤษ เชื่อว่าไวรัสจะอยู่กับเราไปตลอดกาล และศาสตราจารย์ คริส วิธตี (Prof. Chris Whitty) หัวหน้าการแพทย์ของอังกฤษ เตือนว่าการเจ็บป่วยด้วยโควิด-19 และการตายจากโควิด-19 จะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต[4]
 
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฌอน กริฟฟิธส์ (Prof. Emeritus Siân Griffiths) ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสซาร์ส (SARS) จากมหาวิทยาลัยจีนของฮ่องกงคิดว่าในอนาคตเราคงไม่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดมาก แต่เราจะมีชีวิตอยู่อย่างระมัดระวังมากขึ้นเพราะจากการที่เราได้เรียนรู้ถึงความยากลำบากของโรคระบาดระดับโลกจะทำให้ผู้คนมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และกระบวนการวิทยาศาสตร์มากขึ้น การมีชีวิตร่วมกับไวรัสจะเป็นชีวิตที่ต้องหาสมดุลย์ระหว่างความตระหนักว่ามีไวรัสโคโรนาอยู่กับสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจัดการไวรัส และตระหนักถึงความจำเป็นว่ามนุษย์ต้องใช้ชีวิตต่อไปที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ไวรัสโคโรนาแต่เพียงอย่างเดียว
 
ศาสตราจารย์ คุณหญิง แอน จอห์นสัน (Prof. Dame Anne Johnson) ประธานสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ของอังกฤษ กล่าวว่าการคุกคามของโควิด-19 ในอนาคตจะเป็นเรื่องการปะทุระบาดเป็นระลอกๆ ที่ทำให้มีคนตายมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และเรารู้ว่าเราสามารถลดจำนวนคนตายให้น้อยที่สุดได้ด้วยการฉีดวัคซีน
 
ในการลดจำนวนการเสียชีวิตให้น้อยที่สุดนั้น ศ. กริฟฟิธส์ ยกตัวอย่างไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดในอังกฤษทุกปีและมีคนตายรวมแล้วหลายพันคน การรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เน้นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อไข้หวัดใหญ่ช่วยลดจำนวนคนตายให้น้อยที่สุดได้ รวมถึงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ผ่านเครือข่ายการเฝ้าระวังไข้หวัดระดับโลก และสำหรับโควิด-19 นั้นระบบการเฝ้าระวังระดับโลกจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
 
การรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนของประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการมีชีวิตกลับคืนไปสู่ปกติได้ แต่ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนมากของประเทศจะได้รับการฉีดวัคซีนครบทั้งสองเข็มแล้วก็ตาม แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นเพิ่มอีกเพราะภูมิต้านทานจากวัคซีนที่ลดลง หรือเพราะไวรัสผันแปรที่ระบาดในท้องถิ่นมีผลทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนลดลง
 
ส่วนศาสตราจารย์ เดวิด เฮย์แมนน์ (Prof. David Heymann) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ของวิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน กล่าวว่าสิ่งที่สำคัญมากคือรัฐบาลต้องโอนการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงให้แก่ประชาชนแทนที่รัฐบาลจะเป็นคนทำเองดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ศ.เฮย์แมนน์เน้นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ต้องเรียนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรไม่ให้ตัวเราเองติดเชื้อและไม่ทำให้ผู้อื่นติดเชื้อด้วย ซึ่งการถ่ายโอนความรับผิดชอบจากรัฐบาลไปสู่ประชาชนต้องทำตั้งแต่ต้น รัฐบาลจะต้องเตือนให้ประชาชนรู้ว่าสถานการณ์ใดบ้างที่อาจทำให้ติดเชื้อได้ เช่น การชุมนุมกันเป็นจำนวนมากในสถานที่ปิดและที่มีการสังสรรค์และดื่มสุรากัน ซึ่งประชาชนควรตระหนักว่าในสถานการณ์เช่นนั้นเขาอาจติดเชื้อได้และอาจทำให้คนในครอบครัวของเขาติดเชื้อด้วย ดังนั้นเขาควรระวังตัวและใช้วิธีป้องกันการติดเชื้อหากว่าจะไปร่วมกิจกรรมนั้น
 
ประสบการณ์ในอดีตแสดงว่าเมื่อรัฐบาลลดหย่อนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จะชะล่าใจและไม่ระมัดระวังตัวเท่าที่ควร เทศกาลต่างๆ ที่มีคนเป็นจำนวนมากมาชุมนุมกันเพื่อฉลองวาระพิเศษเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแพร่ระบาดปะทุเพิ่มขึ้นดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นการที่คนรักษาพฤติกรรมที่จะช่วยลดการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยและการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลเมื่ออยู่ในที่สาธารณะและกิจกรรมที่มีผู้คนมารวมตัวกันมากในสถานที่ภายใน/สถานที่ปิด และการรักษาความสะอาดของมือ จะเป็นพฤติกรรมที่จำเป็นต่อการป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป ซึ่งการสื่อสารกับประชาชนในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องควบคู่ไปกับการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศ เพราะว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ในสหรัฐอเมริกาผู้ที่ติดเชื้อหลังจากที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิผลสูงมากมีจำนวนมากพอสมควร (10,262 คนจากจำนวนคนที่ได้รับฉีดวัคซีนครบแล้วทั้งสองเข็มมากกว่า 130 ล้านคน)[5]
ตัวอย่างล่าสุดเกี่ยวกับการระบาดที่จะปะทุเพิ่มขึ้นเป็นระลอกเป็นการติดเชื้อในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่การติดเชื้อปะทุขึ้นอีกรอบโดยเฉพาะวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22 ราย รวมเป็นผู้ติดเชื้อของระลอกนี้ที่เริ่มจากบริเวณหาดบอนได (Bondi) 65 คนทำให้รัฐบาลท้องถิ่นของซิดนีย์ 4 แห่งต้องมีคำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน (stay-at-home order) เป็นเวลาอย่างน้อย 1 อาทิตย์ และอนุญาติให้ออกจากบ้านได้เฉพาะเพื่อซื้ออาหาร หรือเพื่อทำงานหรือเพื่อการศึกษาที่ไม่สามารถทำได้จากบ้าน หรือมีความจำเป็นต้องดูแลญาติที่ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือเพื่อออกกำลังกลางแจ้งที่มีคนไม่เกิน 10 คนต่อกลุ่มเท่านั้น[6]  กรณีของประเทศออสเตรเลียที่ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่สามารถควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดีทำให้สามารถเปิดประเทศได้ตามปกติเป็นสิ่งย้ำเตือนว่าการกำจัดการระบาดให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก

ความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์

ในเว็บไซต์ Greater Good Science Center ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มีบทความเกี่ยวกับผลของการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ 57 คนเกี่ยวกับชีวิตหรือโลกหลังจากโควิด-19 ผลของการสัมภาษณ์ถูกสรุปเป็น 2 กลุ่มคือ โอกาสหลังจากการระบาดของโควิด-19 และความเสี่ยงหลังการระบาดโควิด-19[7]
 
ผู้ให้สัมภาษณ์มีความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับโอกาสต่างๆภายหลังจากโควิด-19 ซึ่งการคาดการณ์เกี่ยวกับโอกาสที่ดีหลังจากการระบาดนั้นรวมถึง การดูแลผู้สูงอายุที่ดีขึ้น การคิดวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับข่าวลือและข้อมูลที่เป็นเท็จ คนให้ความสนใจและชื่นชมธรรมชาติมากขึ้น ความเชื่อมโยงทางสังคมของคนในชุมชน และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโครงสร้างทางสังคม
 
ประเด็นร่วมทางสังคม 3 ประเด็นที่ผู้ให้สัมภาษณ์จำนวนมากทำนาย ได้แก่
 
  1. ความสามัคคี (solidarity) ประสบการณ์ที่คล้ายกันและความยากลำบากที่คนจำนวนมากต้องเผชิญร่วมกันในช่วงการระบาดทำให้ผู้คนมีความรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้นและทำให้สามัคคีกันมากขึ้น พญ. เคธี แมคลัฟลิน (Dr. Katie McLaughlin) จิตแพทย์ทางคลินิกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่าโรคระบาดทำให้ผู้คนเกิดความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาระดับโลกจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อเกิดการร่วมมือกันในฐานะสมาชิกของชุมชนโลก เอกลักษณ์ทางสังคมต่างๆ เช่น สมาชิกของกลุ่ม ของประเทศ หรือที่ก่อตัวขึ้นเพื่อตอบสนองเหตุการณ์ที่สำคัญ เช่นภัยพิบัติธรรมชาติหรือโรคระบาดมีบทบาทสำคัญที่นำไปสู่ปฏิบัติการร่วม (collective action) ดังนั้นการระบาดของโควิด-19 อาจนำไปสู่เอกลักษณ์ร่วมที่ครอบคลุมกลุ่มคนต่างๆระดับโลกที่จะช่วยส่งเสริมความสามัคคีระดับนานาชาติได้
  2. การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโครงสร้าง การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความไม่เท่าเทียมและความไม่ยุติธรรมที่มีอยู่ในสังคมเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและ/หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและบริการด้านสังคม-เศรษฐกิจที่จะช่วยลดโอกาสและความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดร. วาเลอรี ทิเบริอุส (Dr. Valerie Tiberius) นักปรัชญาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา ชี้ให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความเปราะบางของคนและความพี่งพาอาศัยซึ่งกันและกันความตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมกันและความอยุติธรรมในสังคมจะกระตุ้นให้ผู้คนพยายามแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เสมอภาคและด้านสิทธิต่างๆ ดังเช่นการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระหว่างประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งความพยายามในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโครงสร้างนี้จะไม่เป็นเพียงความพยายามในท้องถิ่นเท่าน้ันแต่จะเป็นความพยายาม ความร่วมมือกันระดับโลก
  3. การรื้อฟื้นความเชื่อมโยงทางสังคมใหม่อีกครั้ง โรคระบาดระดับโลกเช่นโควิด-19 ทำให้คนไม่สามารถติดต่อ พบปะกันตามปกติได้ คนจำนวนมากไม่สามารถไปมาหาสู่ครอบครัวและเพื่อนๆ ได้ และเน้นให้เห็นว่าคนบางคนมีความเปราะบางต่อโรคระบาดมากกว่าคนอื่น ศาสตราจารย์ แด็กเกอร์ เคลท์เนอร์ (Prof. Dacher Keltner) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กล่าวว่าสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของความเชื่อมโยงทางสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลซึ่งก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 คนจำนวนมากอาจไม่รู้จักเพื่อนบ้านของตนซึ่งการระบาดทำให้คนจำนวนมากเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านของตนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าคนจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันในช่วงวิกฤต ดังนั้นภายหลังจากโควิด-19 คุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างกันและความสัมพันธ์ทางสังคมจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวที่แน่นแฟ้นขึ้น
     
ผู้ให้สัมภาษณ์มีความเห็นเกี่ยวกับผลต่อเนื่องทางลบของการระบาดที่หลากหลายเช่นกัน ผลกระทบทางลบที่ผู้ให้สัมภาษณ์คาดการณ์รวมถึง เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง ความไม่ไว้วางใจ ความขาดความเชื่อมั่นในสถาบันประชาธิปไตย และความเหลื่อมล้ำทางสังคม และผลกระทบทางลบสองประการที่มีผู้ให้สัมภาษณ์อย่างน้อยสิบคนคาดการณ์คือ ความไม่สงบทางการเมือง และความอคติและการเหยียดผิวหรือลัทธิเชื้อชาติที่เพิ่มมากขึ้น
 
  1. ความอคติและการเหยียดผิวที่เพิ่มมากขึ้น ศาสตราจารย์ ลิซ่า เฟลด์แมน (Prof. Lisa Feldman) สมาชิกของสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Arts and Sciences) คิดว่าการระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ผู้คนให้ความสำคัญต่อกลุ่มของตนมากขึ้นและไม่สนใจใยดีต่อคนอื่นที่เป็นคนภายนอกกลุ่มของตน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่างๆทั่วโลกทำให้คนจำนวนหนึ่งเกิดทัศนคติเหมารวม (stereotype) และมีอคติต่อคนกลุ่มอื่นของสังคมมากขึ้น ดังที่จะเห็นได้จากการทำร้ายคนเชื้อชาติจีนและเอเซียที่เกิดมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา หลังจากการระบาดแล้วความรู้สึกที่ฝังแน่นว่าคนนี้เป็นพวกเดียวกัน และคนนั้นเป็นคนนอกกลุ่มอาจมีเพิ่มมากขึ้น
  2. ความไม่สงบทางการเมือง ศาสตราจารย์ พอล บลูม (Prof. Paul Bloom) อดีตประธานของสมาคมปรัชญาและจิตวิทยา กังวลว่าการที่คนจะให้ความสนใจต่อกลุ่มของตนเองมากกว่าคนจากกลุ่มอื่นจะมีส่วนทำให้ความแบ่งแยกทางการเมืองที่มีอยู่แล้วเป็นมากยิ่งขึ้น ซึ่งความรู้สึกไม่สนใจใยดีกับคนกลุ่มอื่นมีความชัดเจนมากขึ้นทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ โดยที่หลายประเทศต่างกล่าวโทษประเทศอื่น และไม่ทำงานร่วมกันเพิ่มมากขึ้น และตัวอย่างที่ชัดเจนในอเมริกาคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาที่สังคมมีแนวโน้มที่จะมองผู้สมัครรับเลือกตั้งออกเป็นสองพวกคือพวกที่ชนะกับพวกที่แพ้การเลือกตั้ง ซึ่งความแตกแยกทางการเมืองแบบแบ่งขั้ว (political polarization) ที่สังเกตได้ในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต
     
การคาดการณ์ชีวิตหลังการระบาดสะท้อนความจริงว่ามีปัจจัยมากมายที่เกี่ยวพันกันซึ่งการเปลี่ยนแปลงบางอย่างอาจเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทหรือสภาพแวดล้อมของสังคมนั้น และมีความเป็นไปได้ว่าในสังคมหนึ่งจะประสบกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แต่ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างจะไม่เท่ากันภายในสังคมนั้นและการเปลี่ยนแปลงของแต่ละสังคมจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสังคม เช่น การทำงานอยู่ที่บ้านทางอินเตอร์เน็ต อาจทำให้ชีวิตมีความยืดหยุ่นขึ้นและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับจากบ้านและที่ทำงาน แต่คนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูงอาจยังจำเป็นต้องไปทำงานเช่นเดิมและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ดังน้ันการเปลี่ยนวิธีการทำงานมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคม-เศรษฐกิจชัดเจนและรุนแรงขึ้น นอกจากนั้นแล้วการทำงานที่บ้านอาจลดหรือบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของทีมงานได้ด้วย
 
การระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนมีทั้งความกังวลต่อปัญหาต่างๆที่จะตามมาภายหลังจากที่การระบาดบรรเทาแล้วและมีความหวังต่อสิ่งที่ดีที่อาจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และไม่ว่าชีวิตหลังโควิด-19 จะเป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญต่างๆคาดการณ์หรือไม่ก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าคนส่วนมากอาจจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เลย ทั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพราะว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่เป็นเพราะว่าผู้คนเกิดการปรับตัวและเกิดความคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงนั้นแล้วก็ได้ และการปรับตัวนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงทั่วโลกแต่จะมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ
 
 

[1] จาก Israel to reinstate indoor mask mandate next week as COVID-19 cases keep rising เมื่อ 24 มิถุนายน 2564 ใน timesofisrael.com

[2] จาก ourworldindata.org/

[3] จาก Vaccines are not magic bullets – we’ll still have to take precautions โดย Zania Stamataki เมื่อ 22 มิถุนายน 2564 ใน theguardian.com/mask-england-vaccines

[4] จาก How do we learn to live with Covid? โดย Ian Sample เมื่อ 17 มิถุนายน 2564 ใน theguardian.com/how-do-we-learn

[5] จาก Breakthrough infections after COVID vaccination are rare, CDC says โดย Akshay Syal เมื่อ 29 พฤษภาคม 2564 ใน nbcnews.com/health/

[6] จาก NSW Covid update: central and eastern Sydney plunged into lockdown after 22 cases recorded โดย Mostafa Rachwani เมื่อ 25 มิถุนายน 2564 ใน www.theguardian.com/australia-news

[7]จาก How Life Could Get Better (or Worse) After COVID โดย Igor Grossmann และ Oliver Towards เมื่อ 6 เมษายน 2564 ใน greatergood.berkeley.edu/article/

 IHRI เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ชื่อเดิม หน่วยพรีเวนชั่น ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย และหน่วยวิจัยเซิร์ช แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ได้รับการยอมรับในความเชี่ยวชาญ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติด้วยประสบการณ์เกือบสองทศวรรษในการทำงา นด้านการวิจัยเอชไอวี และโครงการด้านสุขภาพทางเพศ
 
IHRI พัฒนาการวิจัยทางคลินิกและการวิจัยเชิงปฏิบัติการด้านเอชไอวีและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมถึงการยกระดับศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน และผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ เราทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายสุขภาพ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพในภูมิภาค ที่มุ่งเน้นการขจัดปัญหาด้านสุขภาพทางเพศ นอกจากนี้เรายังเป็นศูนย์การเรียนรู้ (Learning hub) ที่ถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรมที่นำไปสู่การขับเคลื่อนโยบายเพื่อสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน

วิสัยทัศน์
IHRI มุ่งมั่นเป็นผู้นำระดับโลกด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีและสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราทำงานบนพื้นฐานของความเคารพ ความเสมอภาค ความหลากหลาย และคำนึงถึงความยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบริการสุขภาพในชุมชน ด้วยบริการที่หลากหลาย เป็นมิตร สะดวก และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เราคือผู้นำด้านบริการสุขภาพที่เป็นโมเดลให้กับหน่วยงานอื่นๆ และมุ่งขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสุขภาพที่ดีต่อประชาชน
 
ภารกิจ
  • ยกระดับขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่สุขภาพชุมชน และส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ
  • เสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนและส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสุขภาพอื่น ๆ
  • เป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา ค้นคว้า และการวิจัยเกี่ยวกับเอชไอวี
  • ส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายโดยอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์
 
สถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี
เลขที่ 319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 11 ยูนิต 1109 – 1116 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
  • communications@ihri.org
  • Phone 02-160-5371
  • Facebook IHRIofficial
  • Twitter @IHRIofficial

IHRI website

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด