แนวทางการดูแลรักษาผู้ที่ติดโรคโควิด-19 ในศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (Nursing Home)
ฉบับวันที่ 22 มิถุนายน 2564
ที่มาและความจำเป็น
เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้พบมีการระบาดเข้าไปในศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (Nursing Home) หลายแห่ง และยังมีโอกาสจะเกิดขึ้นซ้ำอีกแม้จะมีมาตรการและความพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อแล้วก็ตาม และ ผู้ที่ใช้บริการศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงมักจะเป็นผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงอย่างมากไม่ว่าทางกายหรือทางสมองซึ่งต้องการการดูแลใกล้ชิดเกือบตลอดเวลา เมื่อมีการติดเชื้อเข้าไปในสถานที่ดังกล่าวจึงเป็นการยากที่จะหาโรงพยาบาลรองรับผู้ติดเชื้อที่มีภาวะพึ่งพิงได้พร้อมๆ กันจำนวนมากด้วยข้อจำกัดของสถานที่และจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ จึงมีความจำเป็นต้องออกแบบระบบการดูแลผู้ที่ติดโรคโควิด-19 ในศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นกรณีพิเศษ ในกรณีที่เตียงในโรงพยาบาลเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยการใช้วิธีการแยกตัวในศูนย์ (organization isolation)
แนวทางพิจารณาความเหมาะสมในการใช้วิธี organization isolation
โดยการประเมินสถานการณ์ และ ความพร้อมของศูนย์ในประเด็นต่อไปนี้
- จำนวน และ ระดับอาการของผู้ติดเชื้อ (ทั้งผู้ที่ภาวะพึ่งพิง ผู้ดูแล และ เจ้าหน้าที่)
- จำนวน และ ระดับอาการของผู้ป่วยPUI (ทั้งผู้ที่ภาวะพึ่งพิง ผู้ดูแล และ เจ้าหน้าที่)
- จำนวนของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (ทั้งผู้ที่ภาวะพึ่งพิง ผู้ดูแล และ เจ้าหน้าที่)
- จำนวนผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงแยกระดับความพึ่งพิง (partially dependent vs. totally dependent)
- ที่ตั้ง
- สภาพแวดล้อมภายในศูนย์
เกณฑ์การพิจารณา
1. สามารถจัดแยกโซนดูแลออกเป็น
1) ผู้ติดเชื้อ
2) ผู้ป่วยPUI
3) ผู้พึ่งพิงอื่นๆที่นอกเหนือจากข้อ 1) และ 2)
2. มีจำนวนผู้พึ่งพิงที่เป็นผู้ติดเชื้อ : จำนวนผู้ดูแลที่เป็นผู้ติดเชื้ออาการสีเขียว หรือ ผู้ที่เคยติดเชื้อและหายป่วยแล้ว หรือ ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนครบคอร์สแล้วอย่างน้อย 5:1
3. มีจำนวนผู้พึ่งพิงที่เป็นผู้ป่วยPUI : จำนวนผู้ดูแลที่เป็นผู้ที่ไม่ติดเชื้อและไม่มีอาการ อย่างน้อย 5:1
4. มีจำนวนผู้พึ่งพิงอื่นๆที่ยังไม่ติดเชื้อหรือเป็น PUI : จำนวนผู้ดูแลที่เป็นผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อและไม่มีอาการ ที่นอกเหนือจากที่ดูแลผู้ที่เป็นผู้ป่วย PUIอย่างน้อย 5:1
5. มีการระบายและหมุนเวียนอากาศ และ ระบบสุขาภิบาลที่เหมาะสม
6. สามารถจัดการระบบป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐานการควบคุมโรคได้
7. มีระบบและอุปกรณ์ที่สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงอาการ(อุณหภูมิกาย, ความดันโลหิต, O2 sat.) ของผู้ติดเชื้อ และ PUI ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
8. สามารถประสานนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหากผู้ป่วยมีอาการแย่ลง
9. สามารถปิดกั้นแยกบริเวณออกจากชุมชนได้
พิจารณาทำ organization isolationในกรณีที่เตียงในโรงพยาบาลเหลือน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ และ สามารถทำตามเกณฑ์การพิจารณาได้ทุกข้อ หากไม่สามารถทำได้ให้ปิดศูนย์ในโซนที่มีการติดเชื้อและ ดำเนินการจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อและ PUIและเฝ้าระวังผู้สัมผัสโรคตามระบบปกติ
แนวทางการดูแลผู้ที่อยู่ใน organization isolation
- แยกโซนดูแล ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย PUI และ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ยังไม่มีอาการ ออกจากกัน
- ผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ติดเชื้อให้ดูแลโดยผู้ดูแลที่ติดเชื้อแต่อาการยังเป็นสีเขียว (หากไม่สามารถหาได้หรือมีไม่เพียงพอ สามารถใช้ผู้ที่เคยติดเชื้อและหายป่วยแล้ว หรือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบคอร์สแล้วแทนได้โดยใส่PPE ที่เหมาะสม)ส่วนผู้มีภาวะพึ่งพิงที่เป็นผู้ป่วยPUI หรือ สัมผัสเสี่ยงสูงที่ยังไม่มีอาการให้ดูแลโดยผู้ที่ไม่ติดเชื้อโดยใส่ PPE ที่เหมาะสม
- ให้การดูแลทั่วไปตามปกติ
- มีการวัดอุณหภูมิกาย, ความดันโลหิต, อัตราการหายใจ, O2 sat. ของผู้ติดเชื้อ และ PUIอย่างน้อยทุก 8 ชั่วโมง หรือถี่กว่านั้นตามความเหมาะสม
- มีการติดตามอาการโดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกวัน
- รายงานแพทย์หรือพยาบาลทันทีเมื่อ ความดันโลหิตต่ำกว่า 100/60 mmHg, อัตราการหายใจ >26 ครั้ง/นาทีหรือ O2 sat. =< 96%
- พิจารณาทำ swab เคส PUI และ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตามความเหมาะสม
- พิจารณาให้ยา Favipiravir หรือยาตามอาการอื่นๆเมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการตามความเหมาะสม
ผู้รับผิดชอบดำเนินการและหน้าที่
ผู้รับผิดชอบ |
หน้าที่ |
• เขตที่รับผิดชอบ (ในกรณีของ กทม.)
• จังหวัด(ในกรณีนอก กทม.) |
• ประเมินและตัดสินใจใช้วิธี organization isolation
• กำกับติดตามการทำ organization isolationให้เป็นไป ตามมาตการด้านสาธารณสุขสุขาภิบาล และสิ่งแวดล้อม |
ศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง (Nursing Home) |
• ให้การดูแลทั่วไป
• วัดอุณหภูมิกาย, ความดันโลหิต, อัตราการหายใจ, O2 sat. ของผู้ติดเชื้อ และ PUI แก่ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงและเจ้าหน้าที่ที่ติด เชื้อภายใน organization isolation |
• ศูนย์บริการสาธารณสุข/รพ.สังกัด สำนักการแพทย์ (ในกรณีของ กทม.)
• รพ.สต/รพช. (ในกรณีนอก กทม.) |
• ติดตามอาการของผู้ติดเชื้อ และ PUI ทุกวัน
• พิจารณา refer case ออกจาก ศูนย์ดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงและ ประสาน refer
• ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุขและการควบคุมโรคแก่ศูนย์ดูแล ผู้มีภาวะพึ่งพิง
• ทำ swab เคส PUI และ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตามความเหมาะสม
• สนับสนุนอุปกรณ์ส่วนขาดในการติดตามการเปลี่ยนแปลง อาการของผู้ติดเชื้อ และ PUI
• สนับสนุนอุปกรณ์ส่วนขาดในจัดการระบบป้องกันการติดเชื้อ
• พิจารณาการให้และจัดหายา Favipiravir ให้กับผู้ติดเชื้อที่มี อาการ |
• โรงพยาบาลรับ refer |
• รับ refer เคสสีเหลืองหรือแดง (เป็นไปตามระบบ refer 6 โซน สำหรับกรณีใน กทม.)
• ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ส่วนขาดในการติดตามการเปลี่ยนแปลง อาการของผู้ติดเชื้อ และ PUI
• ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์ส่วนขาดในจัดการระบบป้องกันการติด เชื้อ
• ร่วมจัดหายา Favipiravir ให้กับผู้ติดเชื้อที่มีอาการ |
ลิงค์
เอกสารกรมการแพทย์