รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยข้อมูลการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นรุนแรงเข้าไอซียู และไม่เสียชีวิต เพื่อหาคำตอบของคำถามที่ว่า ผู้รอดชีวิตจะกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างเดิมหรือไม่ จะมีอาการผิดปกติหรือผลต่อเนื่อง/ผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้างหรือไม่ โดยข้อมูลจากศึกษาในประเทศฝรั่งเศส จีน และประเทศไทย โดยศิริราช
"ใกล้เข้ามาแล้วในไม่อีกกี่วันนี้ ที่ยอดผู้ป่วยหายแล้วนับแต่เดือนเมษายนปีนี้จะขึ้นไปแตะหลักล้าน อาจเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ ซึ่งหากเลือกได้ประชาชนอย่างเราๆ คงไม่อยากใช้วิธีนี้เป็นแน่ ถ้าประมาณการว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและรักษาในไอซียูราว 5% ของผู้ป่วยหลักล้านนี้ โดยเสียชีวิตไปราว 1% นั่นหมายถึงว่าเราจะมีผู้รอดชีวิตจากโควิดวิกฤตแล้วอย่างน้อยสี่หมื่นคน น่าสนใจว่าพวกเขาจะกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิมไหม"
ข้อมูลจากฝรั่งเศส
ข้อมูลจากประเทศฝรั่งเศส (Journal of the American Medical Association 2021; 325:1525-1534) ที่ติดตามผู้ป่วยโควิด-19 หลังออกจากโรงพยาบาลได้นาน 4 เดือน จำนวน 177 คน โดย 97 คนเคยเข้าไอซียู ที่เหลือไม่ได้เข้าแต่ยังมีอาการผิดปกติบางอย่างเหลืออยู่
- ทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 57 ปี มีปัญหาความจำผิดปกติ 38% เฉพาะรายที่เข้าไอซียูยังคงมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าหลงเหลืออยู่ 23% และ 18% ตามลำดับ
- ในกลุ่มที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวน 51 คน ยังคงมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่ 38% พบพังผืดในปอดจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ 19.3% ซึ่ง 2 ใน 3 ของผู้ที่มีพังผืดนี้ปอดจะมีการซึมผ่านของก๊าซทีผิดปกติด้วย (น้อยกว่า 70% ของค่าคาดการณ์)
- ที่น่าสนใจคือมีผู้ป่วย 14 คน ที่มีอาการหอบเหนื่อยจากการหายใจที่ผิดปกติ โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติของปอดชัดเจน (dysfunctional breathing)
ข้อมูลจากจีน
ที่รวบรวมผู้ป่วยได้มากและติดตามไปได้นาน คงต้องมาจากดินแดนต้นตำรับโควิดคือประเทศจีน (Lancet 2021; 398:747-758) ในผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลในอู่ฮั่นจำนวน 1,276 คน อายุเฉลี่ย 59 ปี เมื่อตามไปครบ12 เดือนพบความผิดปกติที่หลงเหลือ ดังนี้
- มีอาการเหนื่อยเวลาออกแรง (30%) มีอาการวิตกกังวลหรือซึมเศร้า (23%)
- สำหรับการออกกำลังโดยให้เดินเร็วนาน 6 นาที ยังคงได้ระยะทางที่ไม่แตกต่างกับกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้ป่วยด้วยโควิด-19 ความผิดปกติทั้งหมดนี้พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเข้าไอซียูจำนวน 70 ราย เมื่อตรวจสมรรถภาพปอดพบมี 29% ที่ปอดขยายตัวได้จำกัด (ปริมาตรปอดน้อยกว่า 80% ของค่าคาดการณ์) และมีถึง 54% ที่ปอดมีการซึมผ่านของก๊าซผิดปกติ (น้อยกว่า 80% ของค่าคาดการณ์) โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะพบพังผืดในปอดจากการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ข้อมูลของไทย
สำหรับที่ศิริราชเองนั้น ได้ทำการนัดตรวจติดตามผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลหลังการระบาดระลอกแรก จำนวน 36 คน เป็นเวลานาน 9 เดือน อายุเฉลี่ย 46 ปี ต้องเข้าไอซียู 9 คน ทั้งหมดสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่เมื่อตรวจสมรรถภาพปอดพบว่ามี 17% ที่ปอดมีการซึมผ่านของก๊าซผิดปกติ (น้อยกว่า 70% ของค่าคาดการณ์) โดยจะพบบ่อยในรายที่ต้องเข้าไอซียู
ส่วนของระลอกใหม่นับแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ ในผู้ป่วยที่ต้องเข้าไอซียูโควิดแห่งที่ 1 ของศิริราชจำนวน 63 คน มีการเสียชีวิตไป 15 คน (24%) ในจำนวนผู้รอดชีวิตยังเหลืออีก 3 คนที่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ในโรงพยาบาล ส่วนอีก 45 คนที่ได้ออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว ส่วนใหญ่ที่ติดต่อสอบถามได้ทางโทรศัพท์ สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้แม้บางรายจะไม่เป็นปกติทั้งหมด โดยมี 1 คนต้องใช้ออกซิเจนเสริมเป็นครั้งคราวเวลาเหนื่อยหลังออกกำลัง มี 3 คนที่ยังอยู่ในสภาพติดเตียงต้องทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องที่บ้าน โดย 1 คนเป็นผลจากเกิดสมองขาดเลือดระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลทำให้เป็นอัมพาตครึ่งซีก
ผลพวงของมหันตภัยโควิด ที่ทิ้งร่องรอยทั้งทางร่างกายและทางจิตใจไว้ให้กับผู้ที่รอดชีวิต เป็นเรื่องที่ควรต้องมีการรวบรวมและติดตามอย่างเป็นระบบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลการประเมินการสูญเสียให้ครบถ้วนรอบด้าน สำหรับใช้ประกอบในการตัดสินใจเชิงนโนบายเพื่อควบคุมโรคต่อไปในอนาคต