หลักเกณฑ์การตรวจ ATK
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หลักเกณฑ์ในการตรวจ ATK แต่ละสถานประกอบการ ขอให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ดังนี้
1) ตลาด ต้องเป็นตลาดค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ ที่มีการแพร่ระบาด และมีความเสี่ยงสูง ให้สุ่มตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงสูง 10 เปอร์เซ็นต์ ผู้มีประวัติพบผู้ติดเชื้อ ผู้ใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วย และผู้ที่มีลักษณะการพักอาศัยที่มีจำนวนคนมาก พักรวมกัน หรือมีความเสี่ยง ซึ่งหน่วยบริการสามารถปรับจำนวนได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์
2) ร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านที่ซื้อวัตถุดิบจากตลาดที่มีประวัติพบผู้ติดเชื้อ ร้านที่พบผู้ติดเชื้อ และ/หรือ ร้านที่พนักงานยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19
3) แผงลอย เน้นที่มีการซื้อวัตถุดิบจากตลาดที่มีประวัติพบผู้ติดเชื้อหรือมีการสุ่มตรวจ ATK มีการจำหน่ายอาหารในบริเวณเขตพื้นที่ได้รับอนุญาตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือมีปัจจัยเสี่ยงบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นโควิด-19 หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 และ
4) เดลิเวอรี่ ต้องเป็นพนักงานที่ปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน มีปัจจัยเสี่ยงบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคโควิด-19 และอยู่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19
หลักปฏิบัติ 10 ข้อสำคัญ
“ทั้งนี้ ขอให้สถานประกอบกิจการด้านอาหาร คุมเข้มในการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ควบคู่กันไป เพื่อป้องกันการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 ด้วยหลักปฏิบัติ 10 ข้อสำคัญ ดังนี้
1) ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
2) เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ทุกสถานที่
3) สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลา ทั้งนอกบ้านและในบ้านและเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น
4) ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์
5) หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากาก ใบหน้า ตา ปาก จมูก
6) ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังให้เลี่ยงออกนอกบ้าน
7) ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบนพื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ๆ
8) แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
9) งดกินข้าวร่วมกันและเลือกกินอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ และ
10) หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรตรวจด้วย ATK หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด