ภาพของโรงงานที่ตั้งอยู่ชานเมืองของกรุงเทพในฉากเปิดของรายงานข่าวเชิงสืบสวนของ CNN กับคำโปรยสุดเจ็บปวด "นี่คือฮับการค้า ที่ทำให้ใครบางคนร่ำรวย บนความเสี่ยงของคนหลายล้าน" ข่าวนี้ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสายตานานาชาติ
25 ตุลาคม 2564 CNN เผยแพร่รายงานเชิงสืบสวน เรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ถุงมือยางไร้คุณภาพส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบพบว่า มีการนำเข้าถุงมือยางปลอม ถุงมือใช้แล้ว จำนวนหลายล้านชิ้น จากไทยไปยังสหรัฐ และทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน นับตั้งแต่ปี 2020 เรื่อยมา
ขณะนี้ทางการไทยกำลังทำการสืบสวนสอบสวนร่วมมือกับอย.ไทย
ผู้เชี่ยวชาญฝั่งสหรัฐระบุว่า นี่น่าจะเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น
"สินค้าแย่ๆ เหล่านี้ไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก มีทั้งของปลอม ของใช้แล้ว ทางการน่าจะต้องมาตรวจสอบว่ามันมีจำนวนเท่าไหร่"
แน่นอนว่าสินค้าไร้คุณภาพเหล่านี้ จะเป็นอันตรายกับผู้ใช้ ที่เป็นกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ แต่กระนั้นทางการสหรัฐดูจะไม่ง่ายที่จะจัดการกับสินค้าผิดกฎหมายเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่คำสั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของทางการยังคงมีผลอยู่ เนื่องมาจากความต้องการที่ยังมีอยู่มาก
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมปีนี้ บริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐแจ้งไปยัง ศุลกากร (CBS) และ FDA ว่าได้รับสินค้าคุณภาพต่ำมาตรฐานและมีสิ่งปนเปื้อน มาจากบริษัทในประเทศไทย
กระนั้นบริษัทแห่งนี้ ก็ยังจัดส่งสินค้าอีกว่าสิบล้านชิ้นเข้ามายังสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ล็อตล่าสุดเมื่อเดือนกรกฏาคมนี้เอง
ทาง FDA แจ้งต่อ CNN ว่าไม่สามารถให้ความเห็นรายกรณีเช่นนี้ได้ แต่ระบุว่า "ได้ดำเนินการหลายขั้น ที่จะค้นหาและหยุดการการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการรับรองเหล่านี้ โดยยกระดับการสอบสวน ตรวจสอบ ทั้งที่ด่านชายแดนและที่จำหน่ายภายในประเทศ"
ความต้องการที่พุ่งทะยาน โอกาสของมิจฉาชีพ
ตั้งแต่ต้นปี 2020 ชุด PPE (personal protective equipment) ที่เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นที่ต้องการใช้งานอย่างมากสำหรับกลุ่มบุคคลกรทางการแพทย์ ตามภาวะการณ์การระบาดโควิดรุนแรงทั่วโลก ราคาถุงมือยางเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่ FDA สหรัฐสั่งห้ามการใช้ถุงมือลาเท็กซ์ชนิดมีแป้ง ส่วนถุงมือชนิดไวนิลจำกัดให้ใช้ในอุตสาหกรรมและอาหารเท่านั้น ไม่ใช่สำหรับด้านการแพทย์
ผู้ผลิตถุงมือยางส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การผลิตขึ้นล้วนมีข้อจำกัด ที่ต้องขึ้นกับวัตถุดิบที่มีตามฤดูกาล กอปรกับโรงงานต้องมีเครื่องมือเฉพาะและอาศัยความชำนาญจากผู้เชี่ยวชาญ การจะเพิ่มกำลังการผลิตทำไม่ได้ง่ายๆ แบรนด์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมมานานจึงมีความน่าเชื่อถือ
ด้วยภาวะขาดแคลนและความต้องการที่พุ่งสูง รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขต่างประสบปัญหาในการจัดหาถุงมือยางมาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน นี่จึงเป็นช่องให้มิจฉาชีพฉกฉวยโอกาส
ประสบการณ์การถูกหลอกลวง
ปีที่แล้ว ทาเร็ก เคิร์ชเชิ่น นักธุรกิจในไมอามี่ สหรัฐอเมริกาได้ทำการสั่งซื้อถุงมือยางประมาณ 2 ล้านชิ้นจากบริษัทที่มีที่ตั้งในประเทศไทย ชื่อบริษัท แพดดี้ เดอะ รูม เพื่อจำหน่ายต่อให้กับตัวแทนในสหรัฐ
"เราเริ่มมีลูกค้าโทรมาต่อว่า บางคนด่าทอ บางคนประณามเขาว่า หลอกลวงพวกเขา" ทาเร็ก เล่าให้ CNN เขาเลยตัดสินใจไปไมอามี่เพื่อเช็คสินค้าล็อตที่สองที่ส่งเข้ามาด้วยตัวเอง
"มันเป็นของใช้แล้ว! เอามาล้าง เอามารีไซเคิล บางอันสกปรก บางอันยังมีคราบเลือดติด บางกล่องใช้ปากกามาร์คเกอร์เขียนวันที่ย้อนหลังไปปีกว่า ไม่น่าเชื่อ" เขาเล่าต่อ
ผลที่ตามมา เขาต้องคืนเงินให้ลูกค้า เอาถุงมือทั้งหมดไปทิ้ง และแจ้งไปยัง PDA เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021
ทาเร็ก ระบุว่า สินค้าที่ส่งมาทั้งหมด ไม่มีการนำเอาไปใช้งานในหน่วยงานการแพทย์ใดๆ แต่ CNN ได้ทำการตรวจสอบการนำเข้าจาก บริษัท แพดดี้ เดอะ รูม พบว่ามีการนำเข้าถุงจากบ.แห่งนี้ ราว 200 ล้านชิ้นในช่วงการระบาด
ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับถุงมือเหล่านี้เมื่อเข้ามาในสหรัฐแล้ว
โดนกันหลายบริษัท
CNN พยายามติดต่อผู้นำเข้าเหล่านั้น แต่มีเพียง 2 รายเท่านั้นที่ให้ข้อมูล โดยระบุว่า สินค้าที่นำเข้ามาต่ำกว่ามาตรฐาน และไม่ได้เป็นถุงมือไนไตร ด้วยซ้ำ (ถุงมือไนไตร - ทำจากยางสังเคราะห์ไนไตรบิวทาไดอีน ที่ผ่านปฏิกิริยาเคมี จะมีความทนทานต่อสารเคมีต่างๆ คุณภาพสูง ใช้งานด้านการแพทย์) ส่วนบ. Uweport บอกกับ CNN ว่าไม่สามารถขายสินค้าให้กับบ.ด้านการแพทย์ต่อ ตามแผนได้เลย แต่กลับต้องเอาไปขายลดราคาให้กับโรงงานแปรรูปอาหาร โรงแรมหรือร้านอาหาร แทน
อีกบ.อย่าง US Liberty ก็เคยโดนกลโกงคล้ายๆ กันจากบ.ในเวียดนาม ที่ "ส่งถุงมือมีรูบ้าง มีคราบบ้าง ขาดบ้าง สีตกสีด่างบ้าง" ประธานบ.บอกกับ CNN
ดักลาส สไตน์ ผู้มีประสบการณ์นำเข้าชุด PPE จากเอเซียมายาวนานหลายสิบปี เริ่มตรวจสอบการฉ้อฉลหลอกลวงจากบ.ในอาเซียน ตั้งแต่เริ่มมีโรคระบาด เขาสรุปเลยว่า เป็นกระบวนการที่เลวร้ายมาก เขาเคยให้คำปรึกษากับผู้ซื้อผู้ขายหลายรายที่ตกเป็นเหยื่อ และพยายามชี้ให้พวกเขาเห็นว่า บางดีลก็ดีเกินไป เช่นให้ส่วนลดแบบไม่น่าเชื่อ เป็นต้น
บ.แอร์ควีน เป็นอีก บ.ที่ดีลกับแพดดี้ เดอะ รูม ผ่านบ.นายหน้าในเอเซีย และจ่ายค่าสินค้าล่วงหน้าไปแล้วเต็มจำนวน! คำบอกเล่าของหลุยส์ ซิสคิน เจ้าของบ. ซึ่งได้ร่วมกับ CNN ทำการตรวจสอบสินค้าในคลังใน LA โดยผู้ตรวจสอบอิสระ ได้ข้อสรุปว่า สินค้าท้ั้งหมด ไม่ใช่ถุงมือไนไตร แต่เป็นแค่ถุงมือยางหรือถุงมือไวนิล หลายชิ้นมีคราบดินเปื้อนเห็นชัด และเป็นของใช้แล้ว ซิสคินบอกว่าด้วยสามัญสำนึกแล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะส่งมอบของพวกนี้ไปที่โรงพยาบาล
"เรื่องช็อคก็คือ บ.พวกนี้ ทำไมไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ"
อาจเป็นเพราะบ.พวกนี้เป็นจอมตบตา แพดดี้ เดอะ รูม ส่งตัวอย่างสินค้าพร้อมรายงานการตรวจสอบสินค้ากำกับการนำเข้า ซึ่งเอกสารพวกนั้น ก็ปลอมเช่นกัน
ทางฝ่ายตรวจสอบของ CNN ก็ยืนยันเช่นกันว่าเอกสารเหล่านั้นถูกปลอมแปลงขึ้นมา
กรณีของเคิร์เชิ่น และซิสคิน เป็นการส่งสัญญาณถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง FDA และ CBP แต่กระนั้นก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร
การนำเข้าถุงมือต่ำมาตรฐานสู่อเมริกานั้น พบว่าทำได้ง่ายมาก หากทาง FDA แค่ระงับข้อกำหนดการนำเข้าชั่วคราว
"เป็นการเปิดช่องให้เกิดกระบวนการเลวร้ายเหล่านี้หลั่งไหลเข้ามา"
ความเคลื่อนไหวภาครัฐ
ในแถลงการณ์ของ FDA ถึง CNN ระบุว่า บ.นั้น ได้รับอนุญาตให้นำเข้าภายในเงื่อนไขผ่อนปรน "ตราบเท่าที่ถุงมือนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานและตามที่อ้างบนฉลาก และถุงมือนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเกินกว่าที่ควร"
แต่ความจริงก็คือมีการตรวจสอบถุงมือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และกว่าจะพบว่าสินค้านั้นเป็นของปลอมหรือมีการปนเปื้อนก็ต่อเมื่อส่งมาถึงปลายทางแล้วเท่านั้น
สิงหาคม FDA ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังทุกท่าเรือให้กักกันสินค้าที่ส่งจากบ.แพดดี้ เดอะ รูม โดยมิให้ทำการตรวจสอบใดๆ
กระบวนการนี้เกิดขึ้น 5 เดือนให้หลังจากที่ทั้ง เคิร์เชิ่น และซิสคิน ได้ทำหนังสือถึง FDA
FDA ไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อการสืบสวน ขณะที่กระทรวงมาตุภูมิ (DHS - Department of Homeland Security) ยืนยันว่าการสืบสวนกำลังดำเนินต่อไป
CBP (Customs and Border Protection) ให้ข้อมูลกับ CNN ว่าทำการยึดหน้ากากอนามัยปลอม 40 ล้านชิ้นและชุด PPE นับร้อย รวมถึงถุงมือยางด้วย แต่ไม่ระบุจำนวน
CNN ได้สอบถามไปยัง DHS ว่าทำไมถึงไม่สามารถระบุได้ว่ามีถุงมือใช้แล้วที่ถูกยึดไว้จำนวนเท่าใด ซึ่งคำตอบที่ได้จาก DHS กล่าวในทำนอง "ไม่สำคัญที่จำนวนจะเป็นเท่าไหร่ สำคัญที่ว่า เราทุกคนล้วนไม่ต้องการให้มีสินค้าปลอมแปลงผิดกฏหมายที่จะก่อให้เกิดอันตราย เข้ามาในสหรัฐ และเรา (DHS) กำลังทำทุกสิ่งเพื่อให้เป็นไปตามนั้น"
ปีที่แล้ว DHS ออกปฏิบัติการ "Operation Stolen Promise" เพื่อปราบปรามชุด PPE ผิดกฏหมาย ยึดของกลางที่เกี่ยวกับโควิดและชุด PPE ได้กว่า 2,000 ชิ้น
"เราคิดว่า DHS เป็นต้นแบบให้กับที่อื่นๆทั่วโลก ในการประสานความพยายามกับหน่วยงานต่างๆ ในการหยุดยั้งการนำเข้า ส่งออก การทำการค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโควิดที่ผิดกฏหมาย" ไมค์ โรส เจ้าหน้าที่สืบสวนของ DHS กล่าวกับ CNN
CNN :
CNN Investigation: Tens of millions of filthy, used medical gloves imported into the US