ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

กรม สบส.ชี้ผู้ป่วยโควิด 19 ยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้าม รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษา

กรม สบส.ชี้ผู้ป่วยโควิด 19 ยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้าม รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษา Thumb HealthServ.net
กรม สบส.ชี้ผู้ป่วยโควิด 19 ยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้าม รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษา ThumbMobile HealthServ.net

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ชี้การปรับให้ผู้ป่วยโรคโควิด 19 เข้าระบบการรักษาตามสิทธิปกติ ยังไม่มีประกาศบังคับใช้ ให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง เคร่งครัดปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเดิม ห้ามปฏิเสธการรักษาหรือเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโรคโควิด 19 หรือญาติ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงประกาศ สธ.


 
          นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมการปรับให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (COVID 19) ให้ได้รับสิทธิการรักษาตามระบบปกติ เนื่องจากความรุนแรงของโรคโควิด 19 ลดลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าพักที่สถานพยาบาล ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจากโรคโควิด 19 หรือโรคอื่นๆ  เป็นไปอย่างเหมาะสม

          คาดว่าจะมีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อรองรับสิทธิการรักษาของผู้ป่วยโรคโควิด 19 ในช่วงเดือนมีนาคม 2565

          แต่ในขณะนี้ กลับพบว่ามีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทำการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโรคโควิด 19 หรือญาติ

          กรม สบส. ต้องขอชี้แจงว่า ในขณะนี้ ยังไม่มีเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 แต่อย่างใด

          ดังนั้น หากสถานพยาบาลเอกชนมีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยโควิด 19 หรือญาติ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกประกาศฉบับเดิม ก็จะถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งผู้ประกอบกิจการและผู้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
 
          นพ.ธเรศฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการเปลี่ยนแปลง หรือออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่นั้น จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกับ กองทุนสุขภาพทั้ง 4 กองทุน ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เสียก่อนเพื่อเตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลตามสิทธิผู้ป่วย และสถานพยาบาลภาครัฐ ในการรองรับผู้ป่วยตามสิทธิ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาไร้สิทธิหรือสถานะได้อย่างเต็มศักยภาพ

          ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการจัดทำ UCEP Plus ขึ้น เพื่อรองรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นข้อกำหนดให้กับผู้ป่วยระดับ ต่างๆ ดังนี้

          1) ผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤติเข้าข่ายสีเหลือง หรือสีแดง อาทิ ผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจซึ่งต้องใช้ออกซิเจน หรือผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลทุกแห่ง

          2) ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ หรือสีเขียว ก็จะมีการสนับสนุนให้รักษาแบบกักตัวอยู่ ณ ที่พัก (Home Isolation) กักตัวในชุมชน (Community Isolation) หรือสถานที่กักตัวในโรงแรม (Hotel Isolation) ต่อไป

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด