ข่าวสุขภาพ
ข่าวสุขภาพทั่วไป ข่าวธุรกิจสุขภาพไทย ข่าว/กิจกรรม/สาระ รพ.ต่างๆ ข้อมูลบริการ รพ.ต่างๆ สาระความรู้สุขภาพ กิจกรรม ESG CSR Health Economy บริจาครพ.ต่างๆ
น่าสนใจไทยแลนด์
About us เผยแพร่เนื้อหา สถิติเว็บไซต์ สำรวจความเห็นสุขภาพ โฆษณา
healthserv.net@gmail.com

ลูกพูดช้าหรือเปล่า พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต

ลูกพูดช้าหรือเปล่า พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต Thumb HealthServ.net
ลูกพูดช้าหรือเปล่า พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต ThumbMobile HealthServ.net

เด็กตั้งแต่แรกเกิดสื่อสารกับโลกรอบตัวด้วยการเปล่งเสียงร้องไห้ พฤติกรรมนี้ทรงพลังมากมายเพราะเมื่อเปล่งเสียงร้องเมื่อไร ย่อมได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงที เป็นกลไกตามธรรมชาติที่ทารกคุ้นเคยมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อเริ่มเติบโตขึ้น กลไกการสื่อสารเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น ท่วงท่าอากัปกิริยามากมายเริ่มแสดงออก ตั้งแต่ การมอง ยิ้ม ท่าทาง การเปล่งเสียง หรือสื่อด้วยภาษา ที่ได้เริ่มเรียนรู้มาเรื่อยๆจากพ่อแม่และคนรอบข้าง การสื่อสารนี้สำคัญที่สุด ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า "เด็กได้ฟังเวลาพ่อแม่หรือคนเลี้ยงคุยกับเขา เชื่อมโยงสิ่งที่ได้ยินกับสิ่งที่เห็นจนเกิดเป็นการเรียนรู้เรื่องภาษาในเวลาต่อมา" อย่างไรก็ตาม เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการต่างกันไป พัฒนาการทางภาษาอาจไม่ได้เกิดขึ้นที่อายุเดียวกันได้ "บางคนพูดเร็ว เริ่มที่ 1 ขวบกว่าๆ บางคนก็เริ่มที่อายุใกล้ 2 ขวบ"

ลูกพูดช้าหรือเปล่า พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกต HealthServ
 

อย่างไรถึงจะเรียกว่า ผิดปกติ? 

คำถามที่ตามมาก็คือ "แล้วเมื่อไรถึงจะเรียกว่า ผิดปกติ?" เพื่อตอบคำถามนี้  พญ.สินดี ตันศิริ (จำเริญนุสิต) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม  ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลนวเวช  ได้ให้ข้อมูล เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ ไว้ใช้สำหรับการสังเกตพัฒนาการทางการพูดของลูก ตามช่วงอายุ ดังนี้ 
 

พัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติเป็นยังไง

 

● ช่วงแรกเกิด- 4 เดือน

 
ความเข้าใจภาษา
 
  • ตอบสนองเมื่อมีเสียงดัง เช่น ร้อง กระพริบตา
  • หยุดฟังเสียงหรือหยุดร้องไห้ เมื่อได้ยินเสียงคนเลี้ยง
 
การใช้ภาษา
 
  • ร้องด้วยเสียงที่ต่างกัน เมื่อหิว หรือเจ็บ ฯลฯ
  • ยิ้ม ส่งเสียง เมื่อเห็นคนเลี้ยง หรือมีคนมาเล่นด้วย
  • ระวัง! *ไม่ตอบสนองต่อเสียง เมื่อเด็กอยู่ในช่วงที่ตื่นดี

 
 

● ช่วงอายุ 5-7 เดือน

 
ความเข้าใจภาษา
 
  • เริ่มหันหาที่มาของเสียง
  • มีปฏิกิริยาที่ต่างกันต่อน้ำเสียงหรืออารมณ์ของผู้ใหญ่
  • หยุดฟัง มองหน้า เวลามีคนคุยด้วย
 
การใช้ภาษา
 
  • หัวเราะ เมื่อมีคนเล่นด้วย
  • เล่นเสียงได้หลากหลายขึ้น
  • ระวัง! *ลูกส่งเสียงน้อย ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ โต้ตอบกับคนเลี้ยง
 
 

● ช่วงอายุ 9-12 เดือน

 
ความเข้าใจภาษา
 
  •  เริ่มเข้าใจคำสั่งห้าม เช่น "ไม่" "หยุด"
  •  มองตามสิ่งที่ผู้ใหญ่ชี้ให้ดู
  • ทำตามสั่งง่ายๆ ได้ เช่น บายบาย
  •  จำชื่อคนในบ้านพอได้
 
การใช้ภาษา
 
  • ใช้เสียงคล้ายคำ เพื่อเรียกชื่อหรือสิ่งที่คุ้นเคย
  • ส่ายหน้า หรือพยักหน้า เพื่อตอบคำถาม
  •  เริ่มมีคำที่มีความหมาย เริ่มเรียก ปาปา มามา ได้
  • ระวัง! *ลูกไม่หันหาเสียง ไม่ทำเสียง เลียนเสียงพยัญชนะอื่นนอกจาก "อ"

 
 

● ช่วงอายุ 15 เดือน

 
ความเข้าใจภาษา
 
  •  ทำตามสั่งได้มากขึ้น เช่น "ไปเอารองเท้า"
  • หันมอง หรือชี้คนหรือสิ่งของเมื่อถูกถาม เช่น "ไหนแม่"
 
การใช้ภาษา
 
  •  พยายามร้องเพลงหรือพูดตามแบบ
  • ชี้ชวนให้คนอื่นดูสิ่งที่ตนสนใจ
  • พูดได้ 4-6 คำ
  •  ระวัง! *ลูกยังไม่พูดคำที่มีความหมายอย่างน้อย 1 คำ เช่น หม่ำ ไป เอา ฯลฯ

 
 

● ช่วงอายุ 18 เดือน

 
ความเข้าใจภาษา
 
  •  ชี้อวัยวะตามสั่งได้ 1-3 อย่าง
  •  ตอบสนองถูกต้องกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น "ไปอาบน้ำ" ฯลฯ
  •  ทำตามสั่งที่ไม่มีท่าทางประกอบได้
 
การใช้ภาษา
 
  •  มีการพูดโต้ตอบด้วยพยางค์เดียวได้
  • เล่นเสียงได้ เช่น เสียงรถ บรืนบรืน เสียงสัตว์ร้อง
  • ใช้ท่าทางร่วมกับคำพูดเพื่อถาม เช่น ชี้ "อะไร"
  •  บอกความต้องการง่ายๆ ได้ เช่น "เอา" "ไป"
  • ระวัง! *ลูกไม่เข้าใจ หรือไม่ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น เอาให้แม่ ไปหยิบของ ฯลฯ ไม่พูดคำที่มีความหมาย 3 คำ
 
 
 
●  ช่วงอายุ 2 ปี
 
ความเข้าใจภาษา
 
  • ชี้อวัยวะได้ 3-6 อย่าง
  • ทำตามสั่งได้ 2 ขั้นตอน ชี้รูปได้มากขึ้น
  • เข้าใจคำถามมากขึ้น เช่น "นี่อะไร" ฯลฯ
 
การใช้ภาษา
 
  • พูดเป็นคำที่มีความหมายได้มากขึ้น ประมาณ 50 คำ
  • เรียกชื่อของในบ้านได้มากขึ้น
  • พูดเป็นวลีสั้นๆ ได้ เช่น "ไปเที่ยว" "ไม่กิน" ฯลฯ
  • ถามคำถาม "อะไร"
  • ระวัง! *ลูกไม่พูดคำที่มีความหมายต่างกัน 2 คำต่อเนื่องเช่น เอานม ไปเที่ยว ฯลฯ พูดคำศัพท์น้อยกว่า 50 คำ

 

●      ช่วงอายุ 2 ปีครึ่ง

 
ความเข้าใจภาษา
 
  •  เริ่มทำตามสั่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้น
  •  ชี้ภาพในหนังสือได้ถูกต้องมากขึ้น
 
การใช้ภาษา
 
  •  บอกชื่อตัวเองได้
  •  บอกความต้องการได้ เล่าเรื่องที่สนใจแต่อาจจะยังไม่เชื่อมโยง
  •  ระวัง! *ลูกไม่พูดเป็นวลียาว 3-4 คำ ยังทำเสียงไม่เป็นภาษา
 
ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยมีพัฒนาการทางการพูดที่สงสัยว่าจะพูดช้า ควรปรึกษากุมารแพทย์ เพื่อประเมินและให้คำแนะนำต่อไป
 

คำแนะนำเบื้องต้นในการพัฒนาภาษาของลูก

1. มีเวลาพูดคุยหรือเล่นกับลูก งดการดูจอทุกชนิด ยกเว้นการ video call
 
2. ออกเสียงพูดให้ชัดเจน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก
 
3. ถ้าลูกพูดช้า คนเลี้ยงควรพูดในสิ่งที่เขาสนใจหรือกำลังทำ เพื่อให้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ร่วมกับฝึกให้เขาทำตามสั่ง ซึ่งเราอาจจะต้องจับมือทำไปด้วย เพื่อให้เขาเชื่อมโยงคำพูดกับการกระทำ รอและเปิดโอกาสให้ลูกได้เปล่งเสียงตามด้วย
 
4. มีการเล่น ชี้ชวนดูรูปภาพในหนังสือ หรือสิ่งของรอบตัว ร้องเพลง เล่นสมมติ เพื่อเพิ่มคำศัพท์
 
5. ฝึกให้ลูกพูดในสถานการณ์จริง โดยการ
  • ตั้งคำถาม เช่น "อะไร" "ที่ไหน"
  •  เป็นผู้ฟังที่ดี หยุดรอให้ลูกสบตา ขยับปากจะพูด อาจจะถามซ้ำถ้าไม่เข้าใจ หรือพูดแทนไปก่อน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้
  •  ขยายความคำตอบของลูก และชมเขา เมื่อเห็นว่าพยายามสื่อสาร
 
เพียงเท่านี้ พ่อแม่ก็สามารถพัฒนาทักษะทางภาษาของลูกเบื้องต้นได้
 
โรงพยาบาลนวเวช มุ่งมั่นให้บริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย พร้อมดูแลสุขภาพของผู้หญิง แม่ และเด็ก อย่างเข้าอกเข้าใจ ด้วยบริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมทุกช่วงวัย และทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลนวเวช โทร.02 483 9999 I www.navavej.com

ข่าว/บทความล่าสุด
เนื้อหาอ่านล่าสุด