เจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิผลสูงในการป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยได้ช่วยปกป้องชีวิตคนไทยจากโควิด-19 มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาด แอสตร้าเซนเนก้ายังคงมุ่งมั่นสนับสนุนให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 รวมถึงวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยให้สุขภาพของคนในชาติและเศรษฐกิจของประเทศฟื้นฟูได้เร็วที่สุด”
รายงานผลการวิเคราะห์ของ Airfinity ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2563 จนถึง 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งข้อมูลจากทั่วโลกระบุว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้ช่วยปกป้องชีวิตผู้คนกว่า 6.3 ล้านชีวิตจาก โควิด-192
นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้าและพันธมิตรทั่วโลกได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว กว่า 3 พันล้านโดสให้แก่ประเทศต่างๆ มากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก และประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนจำนวนดังกล่าวได้ถูกส่งมอบให้กับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดไวรัล เวคเตอร์ (Viral Vector) และวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA ต่างให้ประสิทธิผลในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (อยู่ที่ระหว่าง 91.3 - 92.5%) และการเสียชีวิต (อยู่ที่ระหว่าง 91.4 - 93.3%) ในระดับเดียวกัน โดยไม่มีความต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังจากได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 2 หรือวัคซีน mRNA 2 เข็ม ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยในทุกช่วงอายุ3
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า (ChAdOx1-S [Recombinant]) คิดค้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนดังกล่าวพัฒนาโดยการนำส่วนของสารพันธุกรรมที่ใช้ในการถอดรหัสการสร้างหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ใส่ในโครงของอะดีโนไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดทั่วไปในลิงชิมแปนซีที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงและไม่สามารถแบ่งตัวได้ โดยหลังจากฉีดวัคซีนเซลส์ในร่างกายมนุษย์จะตอบสนองโดยการสร้างโปรตีนที่มีลักษณะเดียวกันกับหนามโปรตีนผิวเซลล์ของไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ในกรณีที่ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในภายหลัง
วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินในกว่า 125 ประเทศ และจากการขึ้นทะเบียนสำหรับการใช้ในภาวะฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกในครั้งนี้จะช่วยเร่งให้มีการเข้าถึงวัคซีนใน 144 ประเทศผ่านกลไกการจัดซื้อและจัดสรรวัคซีนของโครงการโคแวกซ์ (COVAX)
ภายใต้ข้อสัญญาการอนุญาตให้ใช้สิทธิช่วง (sub-license agreement) กับแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ถูกผลิตและส่งมอบโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย โดยใช้ชื่อวัคซีนว่า COVISHIELD