ซานดิเอโก--2 สิงหาคม 2565--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
ผลวิจัยต่าง ๆ ที่นำเสนอในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ประจำปี 2565 หรือ Alzheimer’s Association International Conference® (AAIC®) 2022 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซานดิเอโกและออนไลน์ เผยให้เห็นข้อมูลเจาะลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับปัจจัยที่อาจช่วยคาดการณ์ เพิ่มโอกาส หรือป้องกันผลกระทบที่โรคโควิด-19 และการระบาดใหญ่มีต่อความจำและทักษะการคิด
ข้อค้นพบสำคัญที่รายงานในการประชุม AAIC 2022 มีทั้ง
- การวิจัยจากอาร์เจนตินาพบว่า การสูญเสียการรับกลิ่นเป็นเวลานานอาจเป็นสิ่งที่บ่งชี้ปัญหาด้านการรู้คิดและการทำกิจวัตรได้ดีกว่าความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในระยะเบื้องต้น
- การเข้ารับการรักษาในหน่วยดูแลผู้ป่วยหนักอาจทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการศึกษาของศูนย์โรคอัลไซเมอร์รัช (Rush Alzheimer’s Disease Center) ที่ชิคาโก
- ในระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาด เพศหญิง ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน และสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่น้อยกว่า มีโอกาสที่จะพบอาการทางการรู้คิดมากกว่า ในการวิจัยกลุ่มใหญ่จากประเทศแถบลาตินอเมริกา 9 ประเทศ
- ผลการศึกษาอาสาสมัครกลุ่มเดียวกันในลาตินอเมริกาพบว่า ประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตในทางที่ดีขณะเกิดโรคระบาด (เช่น ได้ใช้เวลาดี ๆ กับเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น หรือใช้เวลากับธรรมชาติมากขึ้น) ช่วยลดผลเสียที่การแพร่ระบาดมีต่อความจำและทักษะการคิด
"โควิด-19 ทำให้คนนับล้านทั่วโลกป่วยและเสียชีวิต และสำหรับบางคนแล้ว ผลการวิจัยใหม่บ่งชี้ว่า โรคนี้มีผลกระทบระยะยาวต่อความจำและการคิดด้วยเช่นกัน" ดร.เฮเธอร์ เอ็ม สไนเดอร์ (Heather M. Snyder) รองประธานฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สัมพันธ์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว "ไวรัสนี้น่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน การหาปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันอาการทางการรู้คิดจะช่วยรักษาและป้องกันไม่ให้อาการลองโควิด (long COVID) ลุกลามต่อไปได้"
การสูญเสียการรับกลิ่นเป็นเวลานานบ่งชี้ปัญหาด้านการรู้คิดได้ดีกว่าความรุนแรงของโรคโควิด-19
นักวิจัยในอาร์เจนตินาที่ทำงานร่วมกับกลุ่มพันธมิตรว่าด้วยผลกระทบทางด้านประสาทจิตเวชเรื้อรังจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Association Consortium on Chronic Neuropsychiatric Sequelae of SARS-CoV-2 Infection) ได้ติดตามอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่อายุ 55-95 ปีที่มีโอกาสสัมผัสกับโรคโควิด-19 จำนวน 766 คนเป็นเวลา 1 ปี และได้ดำเนินการทดสอบทางกายภาพ การรู้คิด และประสาทจิตเวชหลายครั้ง โดยในการวิจัยกลุ่มนี้ มีอาสาสมัครที่ติดเชื้อเป็นสัดส่วน 88.4% ขณะที่อีก 11.6% อยู่ในกลุ่มควบคุม
ผลการประเมินทางคลินิกได้แสดงให้เห็นความบกพร่องด้านความจำในอาสาสมัครที่ติดเชื้อเป็นสัดส่วนสองในสาม ซึ่งครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง ขณะที่การทดสอบการรู้คิดในอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งแบ่งผู้ที่มีสมรรถนะลดลงได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- 11.7% มีความบกพร่องด้านความจำเพียงอย่างเดียว
- 8.3% มีความบกพร่องเรื่องสมาธิและการบริหารจัดการตนเอง
- 11.6% พบความบกพร่องหลายส่วน (ทั้งความจำ การเรียนรู้ สมาธิ และการบริหารจัดการตนเอง)
ผลการวิเคราะห์ทางสถิติพบว่า การสูญเสียการรับกลิ่นเป็นเวลานานเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ปัญหาด้านการรู้คิดได้ ขณะที่ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ในระยะเบื้องต้นทำไม่ได้
ดร.กาเบรียลลา กอนซาเลซ-เอลแมน (Gabriela Gonzalez-Aleman), LCP ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งอาร์เจนตินา (Pontificia Universidad Catolica Argentina) กรุงบัวโนสไอเรส กล่าวว่า "ยิ่งเรามีข้อมูลบอกสาเหตุหรืออย่างน้อยก็คาดการณ์ได้ว่าใครจะมีปัญหาด้านการรู้คิดระยะยาวจากการติดเชื้อโควิด-19 มากเท่าใด เราก็จะติดตามและเริ่มพัฒนาวิธีป้องกันได้ดีเท่านั้น"
การเข้ารับการรักษาในหน่วยดูแลผู้ป่วยหนักอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้น
นักวิจัยจากศูนย์โรคอัลไซเมอร์รัช (RADC) ในเครือระบบสุขภาพมหาวิทยาลัยรัช (Rush University System for Health) เมืองชิคาโก ได้ใช้ข้อมูลจากการวิจัยผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นโรคสมองเสื่อมรวม 5 โครงการ (n=3,822) เพื่อสังเกตอาการขณะรักษาในหน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU) ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะรู้คิดบกพร่องในผู้สูงอายุ แต่มีการวิจัยไม่มากนักที่ประเมินว่าทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นหรือไม่
นักวิจัยได้ดูบันทึกข้อเรียกร้องในระบบเมดิแคร์ตั้งแต่ปี 2534 ถึงปี 2561 (ก่อนเกิดการระบาดใหญ่) และได้ตรวจเช็คดูอาการโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมทุกประเภททุกปี โดยใช้แบบประเมินการรู้คิดตามมาตรฐาน โดยจากการติดตามผลเฉลี่ย 7.8 ปีพบว่า อาสาสมัคร 1,991 คน (52%) เข้ารับการรักษาใน ICU อย่างน้อย 1 ครั้ง, 1,031 คน (27%) เคยเข้ารับการรักษาใน ICU ก่อนร่วมการวิจัย และ 961 คน (25%) เข้ารับการรักษาใน ICU ขณะร่วมการวิจัย
นักวิจัยพบว่า เมื่อประเมินตามอายุ เพศ การศึกษา และเชื้อชาติแล้ว การเข้ารับการรักษาใน ICU มีความสัมพันธ์กับการที่มีโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 63% และมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมทุกประเภทเพิ่มขึ้น 71% ส่วนในแบบจำลองที่ประเมินตามปัจจัยสุขภาพอื่น ๆ เช่น ปัจจัยเสี่ยงและโรคด้านหลอดเลือด อาการทางการแพทย์เรื้อรังอื่น ๆ และความผิดปกติในการทำกิจวัตรแล้ว ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ยิ่งสูงขึ้น โดยการเข้ารับการรักษาใน ICU มีความสัมพันธ์กับการที่มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 110% และมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมทุกประเภทเพิ่มขึ้น 120%
"เราพบว่า การเข้ารับการรักษาใน ICU ทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นเท่าตัว" ดร.ไบรอัน ดี เจมส์ (Bryan D. James) นักระบาดวิทยาประจำศูนย์ RADC กล่าว "ข้อค้นพบเหล่านี้อาจมีนัยสำคัญเมื่อประเมินจากการที่ผู้สูงอายุมีอัตราเข้ารับการรักษาใน ICU สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการที่มีผู้เข้ารับการรักษาใน ICU เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงโควิด-19 ระบาด การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการเข้ารับการรักษาใน ICU กับการก่อตัวของโรคสมองเสื่อมได้เข้ามามีความสำคัญมากยิ่งกว่าที่เคย"
ดร.เจมส์ เสริมว่า "จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อค้นพบเหล่านี้และขยายความปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม ยกตัวอย่างเช่น ภาวะเจ็บป่วยวิกฤตเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ หรือขั้นตอนที่ปรับเปลี่ยนได้ขณะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากขึ้นหรือไม่"
ประสบการณ์ดี ๆ ในชีวิตเพียงครั้งเดียวในช่วงการแพร่ระบาด อาจเป็นเครื่องป้องกันอาการทางการรู้คิดได้
นักวิจัยจากประเทศต่าง ๆ ทั่วอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และในสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันประเมินว่า ปัจจัยทางสังคมประชากรและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิตที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการระบาดใหญ่ มีความสัมพันธ์กับอาการด้านการรู้คิดหรือไม่ รวมถึงปัญหาเรื่องความจำ สมาธิ และทักษะการคิดอื่น ๆ ในการระบาดใหญ่ช่วงแรก ๆ
ในการวิจัยที่รายงานในการประชุม AAIC นั้น อาสาสมัครวัยผู้ใหญ่อายุ 55-95 ปีที่พูดภาษาสเปน จำนวน 2,382 คน (อายุเฉลี่ย 65.3 ปี ขณะที่ 62.3% เป็นเพศหญิง) จาก 9 ประเทศในลาตินอเมริกา ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์และโทรศัพท์ เข้ารับการทดสอบการรู้คิดผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกรอกแบบฟอร์มประเมินผลกระทบทางบวกและทางลบจากการระบาดใหญ่เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2563 ซึ่งเมื่อนับรวมอาสาสมัครทั้งหมดแล้ว มี 145 คน (6.09%) ที่แสดงอาการของโรคโควิด-19
ผู้ร่วมการวิจัยมาจากอุรุกวัย (1,423 คน, 59.7%), เม็กซิโก (311 คน, 13.1%), เปรู (153 คน, 6.4%), ชิลี (152 คน, 6.4%), สาธารณรัฐโดมินิกัน (117 คน, 4.9%), อาร์เจนตินา (106 คน, 4.5%), โคลอมเบีย (50 คน, 2.1%), เอกวาดอร์ (39 คน, 1.6%), เปอร์โตริโก (19 คน, 0.8%) และอื่น ๆ (12 คน, 0.5%)
ข้อค้นพบสำคัญ
- เพศหญิง ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน และผู้ที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจน้อยกว่า มีความสัมพันธ์กับการที่มีอาการทางการรู้คิดมากกว่าในการระบาดใหญ่ช่วงแรก
- การเปลี่ยนแปลงทางลบในชีวิตระหว่างการระบาดใหญ่ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ และไม่ค่อยได้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม มีความสัมพันธ์อย่างเห็นได้ชัดกับการที่มีอาการทางการรู้คิดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ดังกล่าวแผ่วลงในกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีในชีวิตอย่างน้อย 1 ครั้งระหว่างการระบาดใหญ่ เช่น การได้ใช้เวลาดี ๆ กับเพื่อน ๆ และครอบครัวมากขึ้น หรือใช้เวลากับธรรมชาติมากขึ้น
"การหาปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันอาการทางการรู้คิดในช่วงระบาดใหญ่เป็นความก้าวหน้าสำคัญในการพัฒนาแนวทางป้องกัน" ดร.มาเรีย มาร์กินี (María Marquine) รองศาสตราจารย์แผนกเวชกรรมและจิตเวชศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยความแตกต่าง แผนกเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ชราภาพวิทยา และการดูแลบรรเทาอาการ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าว "ประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงที่ดีในชีวิตระหว่างการระบาดใหญ่ อาจช่วยบรรเทาผลกระทบที่ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดีในชีวิตมีต่ออาการทางการรู้คิดได้"
ดร.มาร์กินี เสริมว่า "การวิจัยดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการรวมพลังของนักวิจัยจากหลาย ๆ ประเทศในลาตินอเมริกาและสหรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก ซึ่งหลาย ๆ คนไม่เคยได้ทำงานร่วมกันมาก่อนและมีทรัพยากรจำกัด แต่มีเป้าหมายเดียวกันในการยกระดับความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ และผลลัพธ์สำคัญที่ความร่วมมือข้ามวัฒนธรรมมอบให้ได้"
รหัสการนำเสนอ: 66868
หัวข้อ: ภาวะการรับกลิ่นผิดปกติ ไม่ใช่ความรุนแรงของโควิด-19 เป็นตัวบ่งชี้ความรุนแรงของผลกระทบทางด้านการรู้จำหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในผู้สูงอายุกลุ่มอเมรินเดียน
ความเป็นมา: โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 380 ล้านคน เมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการในระยะยาว รวมถึงอาการทางประสาทจิตเวช โดยในผู้สูงอายุนั้น อาการจากโควิด-19 ดูเหมือนกับโรคอัลไซเมอร์ระยะแรก ๆ และอาจมีปัจจัยเสี่ยงและตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในเลือดเหมือนกัน กลุ่มพันธมิตรว่าด้วยผลกระทบทางด้านประสาทจิตเวชเรื้อรังจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (CNS SC2) จึงได้กำหนดนิยาม วิธีการค้นหา และเกณฑ์ประเมินเอาไว้ใช้ด้วยกัน เพื่อประเมินและติดตามอาการของผู้สูงอายุกลุ่มต่าง ๆ ที่สัมผัสกับโควิด-19 โดยนำเสนอข้อมูลระยะเวลา 1 ปีจากการศึกษาไปข้างหน้าในกลุ่มอาสาสมัครที่อาร์เจนตินา
กลวิธี: ผู้เข้าร่วม (n=766) เป็นผู้สูงอายุ (มากกว่าหรือเท่ากับ 60 ปี) ที่ได้รับคัดเลือกจากทะเบียนสาธารณสุขจังหวัดที่มีข้อมูลการทดสอบ SARS-CoV-2 ทั้งหมด เราสุ่มเชิญผู้สูงอายุที่แบ่งชั้นตามสถานะการทดสอบโควิด-19 แบบ PCR โดยไม่คำนึงถึงความรุนแรงของอาการ เป็นเวลา 3 ถึง 6 เดือนหลังฟื้นตัว การประเมินรวมถึงการสัมภาษณ์ตามมาตรฐานการประเมินทางคลินิกด้านประสาทวิทยา (SCAN) และการประเมินภาวะสมองเสื่อมทางคลินิก (CDR) การประเมินทางระบบประสาท ระดับปฏิกิริยาทางอารมณ์ และการประเมินระบบประสาทรวมทั้งการทดสอบสมรรถภาพการดมกลิ่นแบบกึ่งปริมาณ การทำงานของระบบสั่งการ การประสานงาน และการเดิน
ผลลัพธ์: เราประเมินอาสาสมัครที่ติดเชื้อ 88.4% และกลุ่มควบคุม 11.6 % โดยมีการศึกษา 10.36 บวกลบ 5.6 ปี และอายุ 66.9 บวกลบ 6.14 ปี ระดับการดูแลในช่วงโควิด-19 อธิบายไว้ในรูปที่ 1 คะแนนมาตรฐานแบ่งอาสาสมัครกลุ่มนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมีสมรรถภาพลดลงเมื่อเทียบกับการรู้คิดปกติ แบ่งเป็น ภาวะความจำบกพร่องอย่างเดียว (โดเมนเดียว, 11.7%); ภาวะบกพร่องด้านสมาธิและการบริหารจัดการตนเอง โดยที่ไม่มีภาวะความจำบกพร่อง (สองโดเมน, 8.3%) ความบกพร่องในหลายโดเมน (หลายโดเมน, 11.6%) ส่วนการถดถอยโลจิสติกแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงของการสูญเสียประสาทรับกลิ่น แต่ไม่ใช่สถานะทางคลินิก คาดการณ์ความบกพร่องทางการรู้คิดได้อย่างมีนัยสำคัญ ไม่พบความผิดปกติของการดมกลิ่นในกลุ่มควบคุม ความบกพร่องทางการรู้คิดปรากฏให้เห็นตามคะแนนมาตรฐานด้านล่าง (- 2) (ตารางที่ 1) การประเมินทางคลินิกด้วย SCAN เผยให้เห็นความบกพร่องทางความจำในการทำกิจวัตรกับสองในสามของผู้ป่วยที่ติดเชื้อ (CDR มากกว่าหรือเท่ากับ 1) ซึ่งในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งมีอาการรุนแรง การติดตามผลทางโทรศัพท์ใน 1 ปีเผยให้เห็นความต่อเนื่องสม่ำเสมอในระดับสูง (ผู้เข้าร่วม 4 คนปฏิเสธ) โดยมีผู้เสียชีวิตไป 5 เมื่อติดตามอาการ อัตราการติดเชื้อซ้ำ (ระหว่าง 10 ถึง 23%) ไม่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีน (ตารางที่ 2)
ข้อสรุป: กลุ่มที่ศึกษาระยะยาวมีความต่อเนื่องสม่ำเสมอสูงมาก ความบกพร่องระยะยาวทางการรู้คิดและการทำกิจวัตรหลังจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 นั้นคาดการณ์ได้จากภาวะเสียการรู้กลิ่นเป็นเวลานาน แต่ไม่ใช่จากความรุนแรงของโรคโควิด-19
นักวิจัยที่นำเสนอ
ดร.กาเบรียลลา กอนซาเลซ-เอลแมน, LCP (gabigoa@gmail.com)
มหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งอาร์เจนตินา บัวโนสไอเรส
รหัสการนำเสนอ : 61678
หัวข้อ: อาการทางการรู้คิดในกลุ่มอาสาสมัครวัยกลางคนและสูงวัยในลาตินอเมริการะหว่างการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19: ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกัน
ความเป็นมา: การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 กระทบชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพทางปัญญา อาการทางการรู้คิดที่รายงานด้วยตัวผู้ให้ข้อมูลเองนั้นมีความสัมพันธ์กับการก่อตัวของโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมที่เกี่ยวข้อง (ADRD) การหาปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยป้องกันอาการทางการรู้คิดระหว่างเกิดการระบาดใหญ่จึงเป็นก้าวสำคัญสู่การหาแนวทางป้องกันอาการกลุ่ม ADRD เรามีเป้าหมายเพื่อดูความสัมพันธ์ของอาการทางการรู้คิดในกลุ่มอาสาสมัครวัยกลางคนและสูงวัยในลาตินอเมริกา ก่อนที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงปัจจัยทางสังคมประชากรและการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
กลวิธี: อาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ที่พูดภาษาสเปนอายุ 55-95 ปี (N=2,382 ตารางที่ 1) ที่อาศัยอยู่ในลาตินอเมริกา ได้ทำแบบสำรวจออนไลน์ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม 2563 โดยประเมินอาการทางการรู้คิดผ่านแบบสอบถาม 12 ข้อของ Everyday Cognition (ECOg) ซึ่งได้วัดการเปลี่ยนแปลงด้านลบ (เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจ กิจกรรมทางสังคมที่ถูกจำกัด) และด้านบวก (เช่น เวลาที่มีคุณภาพมากขึ้นกับคนใกล้ชิด เวลาที่เพิ่มขึ้นกับธรรมชาติ/ภายนอก) อันเป็นผลจากการแพร่ระบาด โดยใช้เกณฑ์ Epidemic-Pandemic Impacts Inventory ส่วนปัจจัยทางสังคมประชากร ได้แก่ อายุ จำนวนปีที่ได้รับการศึกษา เพศ อาชีพ และสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม (SES) ขณะที่ตัวแปรร่วมคือช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 (ช่วงเวลาที่คาดว่าเริ่มมีการระบาดใหญ่ในลาตินอเมริกา) ประเทศที่ทำการสำรวจเสร็จสิ้น และมีอาการของโควิด-19 โดยใช้โมเดลการถดถอยเชิงเส้นแบบหลายตัวแปรตามคะแนนรวมของ ECOg ซึ่งรวมถึงตัวแปรร่วมและปัจจัยทางสังคมประชากร (แบบจำลองที่ 1) จากนั้นจึงเพิ่มเงื่อนไขเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงลบและเชิงบวกในชีวิตและปฏิสัมพันธ์ (แบบจำลองที่ 2)
ผลลัพธ์: แบบจำลองที่ 1 แสดงให้เห็นว่า เพศหญิง (p=.04) ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน (p=.02) และผู้ที่มีสถานะ SES ต่ำกว่า (p<.001) มีความเกี่ยวข้องกับอาการทางการรู้คิดที่มากขึ้น แบบจำลองที่ 2 แสดงปฏิสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญระหว่างการเปลี่ยนแปลงด้านลบและด้านบวกในชีวิต (p<.001) ซึ่งบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงลบในชีวิตมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอาการทางการรู้คิดที่มากขึ้น แต่ความสัมพันธ์นี้แผ่วลงในกลุ่มอาสาสมัครที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงการระบาดใหญ่ (รูปที่ 1)
ข้อสรุป: อาการทางการรู้คิดอาจพบได้บ่อยกว่าในกลุ่มประชากรลาตินอเมริกาบางกลุ่ม รวมถึงผู้หญิง ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน และมี SES ต่ำ ประสบการณ์ของการเปลี่ยนแปลงชีวิตในเชิงบวกระหว่างการระบาดใหญ่ อาจช่วยบรรเทาผลกระทบที่เป็นอันตรายที่การเปลี่ยนแปลงเชิงลบมีต่ออาการทางการรู้คิด ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันเหล่านี้อาจได้รับการพิจารณาในความพยายามในการป้องกัน ADRD
นักวิจัยที่นำเสนอ
ดร.มาเรีย มาร์กินี mmarquine@health.ucsd.edu
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ลาโฮลยา แคลิฟอร์เนีย
รหัสการนำเสนอ : 67719
หัวข้อ: การเข้ารับการรักษาใน ICU และภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มอาสาสมัครวัยสูงอายุ
ความเป็นมา: ภาวะเจ็บป่วยวิกฤตและการรักษาพยาบาลในหน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก (ICU) ของกลุ่มผู้สูงวัย ปรากฏให้เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดภาวะการรู้คิดบกพร่องในระยะยาว อย่างไรก็ดี ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากผู้ป่วยที่คัดเลือกมาจาก ICU ที่ไม่มีกลุ่มควบคุมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการรู้คิดก่อนเข้า ICU เราไม่ทราบเรื่องกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะเป็นชุมชนที่ทำให้ตรวจสอบได้ว่าการเข้ารับการรักษาใน ICU เปลี่ยนความเสี่ยงในการเป็นภาวะสมองเสื่อมได้อย่างไรบ้าง
กลวิธี: เราใช้ข้อมูลจากกลุ่มโรคทางระบาดวิทยารวม 5 กลุ่มที่ศูนย์โรคอัลไซเมอร์รัช (RADC) ที่เชื่อมต่อกับข้อมูลข้อเรียกร้องในระบบเมดิแคร์ตั้งแต่ปี 2534 ไปจนถึง 2561 เพื่อสังเกตอาการเมื่อเข้ารับการรักษาใน ICU (ทั้งก่อนเข้าร่วมโครงการที่ RADC และระหว่างการติดตามผลที่ RADC) ในผู้สูงอายุที่ไม่มีประวัติเป็นภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมทุกประเภทได้รับการประเมินโดยใช้การประเมินความรู้ความเข้าใจประจำปีตามมาตรฐาน ความสัมพันธ์ระหว่างการรักษาตัวใน ICU กับภาวะสมองเสื่อมนั้นได้รับการทดสอบในรูปแบบ Cox ที่เปลี่ยนแปลงตามเวลา ทำให้อัตราความเป็นอันตรายเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาที่เข้ารับการรักษาใน ICU ระหว่างการติดตามผล โมเดลทั้งหมดได้รับการปรับตามอายุ เพศ การศึกษา และเชื้อชาติ ส่วนแบบจำลองที่ปรับอย่างสมบูรณ์แล้วยังรวมถึงข้อกำหนดสำหรับการวัดพื้นฐานเกี่ยวกับความดันโลหิตสูง เบาหวาน ดัชนีมวลกาย ปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือด ภาระโรคหลอดเลือด ภาวะทางการแพทย์เรื้อรังอื่น ๆ ความผิดปกติในการทำกิจวัตร ความซึมเศร้า และกิจกรรมทางกาย
ผลลัพธ์: ผู้เข้าร่วม (n=3,822; อายุเฉลี่ย=77.3, SD=7.5) ถูกติดตามผลโดยเฉลี่ย 7.8 ปี (SD=5.5) นับตั้งแต่ที่เข้าร่วมการวิจัย โดยพบการเข้ารับการรักษาใน ICU กับผู้เข้าร่วม 1,992 คน (52.1%); 1031 คน (27.0%) ก่อนร่วมการวิจัยที่ RADC และ 961 คน (25.1%) ระหว่างการติดตามอาการ ส่วนในแบบจำลองที่ปรับตามข้อมูลประชากรนั้น การเข้ารับการรักษาใน ICU มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ (HR=1.63, 95% CI = 1.41, 1.88) และภาวะสมองเสื่อมทุกประเภท (HR=1.71, 95% CI = 1.48, 1.97) สำหรับในแบบจำลองที่ปรับอย่างสมบูรณ์แล้ว ความสัมพันธ์ในกลุ่ม ICU เด่นชัดกว่า ซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ (HR=2.10, 95% CI = 1.66, 2.65) และภาวะสมองเสื่อมทุกประเภท (HR=2.20, 95% CI = 1.75, 2.77)
ข้อสรุป: เราพบว่า การเข้ารับการรักษาใน ICU มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในการเป็นภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุในลักษณะชุมชน เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาใน ICU โดยใช้แบบประเมินการรู้คิดตามมาตรฐาน ข้อค้นพบเหล่านี้อาจมีนัยสำคัญจากการที่ผู้สูงอายุมีอัตราเข้ารับการรักษาใน ICU สูง ขณะที่การเข้ารับการรักษาใน ICU ก็เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดใหญ่
นักวิจัยที่นำเสนอ
ดร.ไบรอัน เจมส์ Bryan_James@rush.edu
ศูนย์โรคอัลไซเมอร์รัช ชิคาโก อิลลินอยส์