การกินอาหารที่มาจากพืช ควรกินหลากหลายชนิด สลับหมุนเวียนกัน เพราะพืชแต่ละชนิดจะมีสารอาหารแตกต่างกัน การกินอาหารอย่างเดิมซ้ำๆ กัน นอกจากจะเกิดความจำเจเบื่อหน่ายแล้ว ยังอาจได้สารอาหารบางอย่างไม่ครบถ้วน ผักหลายสี ควรหาโอกาสกินให้ครบทุกสี เช่น
- ผักสีแดง มีสารต้านอนุมูลอิสระไลโคปีนที่ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอด เป็นต้น ผักสีแดงที่หาได้ง่าย ได้แก่ มะเขือเทศ
- ผักสีส้มและสีเหลือง มีส่วนประกอบที่เป็นวิตามินเอ และสารบีตาแคโรทีน เช่น ฟักทอง แครอต
- ผักสีขาว มีสารบีตาแคโรทีน เช่น ผักกาดขาว ดอกแค มะเขือขาวเปราะ กระเทียม
- ผักสีม่วง ประกอบด้วยสารแอนโธไซยานิน เช่น ดอกอัญชัน กระหล่ำสีม่วง ชมพู่ม่าเหมี่ยว มะเขือม่วง หัวหอม บีทรูท
- ผักสีเขียว ประกอบด้วยวิตามินเอ วิตามินซี เช่น ผักบุ้ง ตำลึง กวางตุ้ง คะน้า บรอกโครี มะระขี้นก ผักชะอม
ผลไม้ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่เซลล์ร่างกายต้องการ นอกจากนั้นผลไม้ยังประกอบด้วยเส้นใยจำนวนมาก ส่งผลให้ระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายทำงานได้ดี วิตามินเอ วิตามินซี และสารบีตาแคโรทีนในผลไม้ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
ธัญพืช ประกอบด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ ธัญพืชที่ขัดสีน้อยจะให้คุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าและมีเส้นใยอาหารมากกว่าธัญพืชที่ขัดสีอย่างเกลี้ยงเกลา เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ลูกเดือย งา
ข้อมูลและภาพ : นิตยสารหมอชาวบ้าน เดือนกันยายน 2557