สืบเนื่องจาก กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ว่ามีการลักลอบขายยากลุ่มรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ผ่านสื่อออนไลน์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งยาในกลุ่มนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับจาก อย. และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการใช้ยาดังกล่าวต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบกับสุขภาพของผู้ป่วย
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ทำการสืบสวน พบว่ามีการขายยาผ่านสื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ให้สายลับทำการสั่งซื้อยาดังกล่าวผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก,อินสตาแกรม,ฯลฯ) จำนวน 2 ร้าน เมื่อได้ผลิตภัณฑ์มาแล้วจึงได้ทำการตรวจสอบเพิ่มเติม ทราบว่าตัวยาจากทั้ง 2 ร้าน ได้ถูกจัดส่งจากสถานที่เดียวกัน เป็นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่เขตวังทองหลาง ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นสถานที่จัดเก็บและกระจายสินค้า
เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อ ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญา เข้าตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าวในซอยลาดพร้าว 80/3 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ดังนี้
1. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ Mylan จำนวน 1351 กล่อง
2. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ Azista จำนวน 200 กล่อง
3. ยา Monulpiravir ขนาด 200 มก. ยี่ห้อ XENON จำนวน 300 กล่อง
4. ยา Favipiravir ขนาด 400 มก. ยี่ห้อ XENOn จำนวน 270 กล่อง
รวมของกลางมูลค่าประมาณ 9,500,000 บาท โดยมีนางสาวฉลวยรัตน์ (สงวนนามสกุล) รับว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาข้างต้นมีไว้เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้า จึงได้เชิญตัวไปพบพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 และยึดผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวไว้เป็นของกลาง
ต่อมาได้ทำการสืบสวนขยายผลจนทราบแหล่งที่มาและสถานที่จัดเก็บและกระจายยาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ต่อมาในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. พร้อมเจ้าหน้าที่จาก อย. ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาตลิ่งชันจำนวน 2 หมาย เข้าตรวจค้นบ้านพักในพื้นที่ซอยราชพฤกษ์ 9 แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์ยากลุ่มยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 และยาอื่น ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวน 8 รายการ ประกอบด้วย
ยา FAVIKAST ขนาด 400 มก. จำนวน 20 กล่อง
ยา MOLAZ ขนาดบรรจุ 40 เม็ด จำนวน 30 กล่อง
ยา REDEMSIVIR 100 mg/vial จำนวน 7 กล่อง
FABIS SPRAY จำนวน 75 กล่อง
ยา MOLNATRIS ขนาด 200 มก. จำนวน 82 กล่อง
ยา MOLUZEN ขนาด 200 มก. จำนวน 33 กล่อง
MOLCOVIR ขนาด 200 มก. จำนวน 3 กล่อง
FERAVIR ขนาด 200 มก. จำนวน 10 กล่อง
รวมมูลค่าของกลางประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งขณะตรวจค้น พบนายประเสริฐ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1514/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 แสดงตนเป็นเจ้าบ้านและเจ้าของยาดังกล่าว จึงได้จับกุมตัวนายประเสริฐ ตามหมายจับและตรวจยึดยาข้างต้นเป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. โดยผู้ต้องหาให้การว่ายาดังกล่าวสั่งซื้อมาจากประเทศอินเดียผ่านตัวแทนขายโดยกลุ่มผู้นำเข้าไม่เคยมีความรู้หรือใบประกอบวิชาชีพทางเภสัชกรรมแต่อย่างใด
ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2565 ได้ขยายผลจับกุมผู้ค้ารายย่อยในขบวนการดังกล่าวได้อีก 1 ราย คือนางสาว ขนิษฐา (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 1516/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ.
กระทำของผู้ต้องหาทั้งสองรายดังกล่าวเป็นความผิดตาม
- พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 12 ฐาน “ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต” ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 72(4) “ขายยาที่ไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ